วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ร้องสบท.เจ็บใจ แฟนไม่ได้คะแนนโหวต เพราะเจอปัญหา เอสเอ็มเอสดีเลย์

ร้องสบท.เจ็บใจ แฟนไม่ได้คะแนนโหวต เพราะเจอปัญหา เอสเอ็มเอสดีเลย์

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:23:11 น.





  จากกรณีที่รายการโทรทัศน์ในปัจจุบันได้จัดการแข่งขันการแสดง หรือการร้องเพลง โดยมีกติกาให้ผู้ชมร่วมโหวตให้คะแนนผ่านเอสเอ็มเอส  หากการแสดงของใครเป็นที่ชื่นชอบได้รับการโหวตจากผู้ชมมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะนั้น

 

 

นายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า สบท.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการร่วมโหวตในรายการประเภทดังกล่าว  กรณีแรกหลังจบรายการผู้ร้องรายหนึ่งตรวจสอบพบว่า ได้ส่งเอสเอ็มเอ็สจำนวนเกือบห้าร้อยครั้งเพื่อเชียร์คนที่ชื่นชอบในช่วงที่รายการออกอากาศสดอยู่ แต่ปรากฏว่าเอสเอ็มเอสที่ส่งไปไม่ได้ถึงทันที และมีการล่าช้า เช่น ส่งไปเกือบห้าร้อยข้อความอาจจะถึงทันในเวลาที่ออกอากาศสดเพียง 200 กว่าข้อความ ทำให้ผู้ร้องเสียหายเนื่องจากอุตส่าห์ลงทุนส่งเอสเอ็มเอสแล้ว  เงินก็เสีย แถมคนที่ชื่นชอบก็ไม่ได้คะแนนจากการโหวต ซึ่งเท่ากับเสียเงินฟรี
                 

 

"กรณีนี้ผู้ร้องแจ้งว่า ได้ส่งเอสเอ็มเอสเชียร์รายการสด Thailand's got talent ในช่วงเวลาสี่โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม แต่เมื่อตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ กลับพบว่าเป็นการส่งข้อความในช่วงสี่โมงเย็นถึงห้าทุ่ม ซึ่งแสดงว่า มีความล่าช้าในการส่ง หรือเกิดความหนาแน่นของการส่งข้อมูลทำให้ความล่าช้าเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ หากการส่งเอสเอ็มเอสดังกล่าว มีการแบ่งรายได้ระหว่างผู้ให้บริการกับเจ้าของรายการ ก็ถือว่า เป็นบริการเสริมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการโหวตให้คะแนน ดังนั้น ผู้ให้บริการก็มีหน้าที่ที่ต้องทำให้การโหวตสำเร็จ มิฉะนั้นจะคิดเงินไม่ได้" นายประวิทย์กล่าว
             

 

 

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า ยังมีผู้บริโภคอีกรายร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกเรียกเก็บค่าบริการส่งข้อความสั้น จากการร่วมโหวตในอีกรายการหนึ่งเป็นจำนวนเงินเกือบห้าหมื่นบาท  จากรายการเรียกเก็บที่บริษัทแสดงพบว่า ค่าบริการส่วนใหญ่เกิดจากการกดโหวตแบบพิเศษที่คิดราคาข้อความละ 80 บาท ซึ่งผู้ร้องเรียนยอมรับว่า มีการโหวตดังกล่าวจริง แต่ทำเพียงไม่กี่ครั้งเนื่องจากต้องการลุ้นรับ Iphone อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของ สบท. พบว่า ในใบแจ้งค่าบริการแสดงว่ามีการโหวตแบบครั้งละ 80 บาท เป็นจำนวนมากกว่า 500 ครั้ง ในระหว่างที่รายการออกอากาศ 2 สัปดาห์ นั่นหมายถึงเฉลี่ยแล้วมีการโหวตในทุกๆ  8 วินาที ซึ่งหากผู้ร้องเรียนทำจริงก็นับว่า เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ แต่หากไม่ใช่ก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเกิดความผิดพลาดได้อย่างไร 

 

 "การร่วมลุ้นในรายการเพื่อเชียร์คนที่ชื่นชอบเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่อาจต้องระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้งขณะนี้ได้มีการคิดวิธีการร่วมโหวตที่มีความเสี่ยงเรื่องค่าบริการ เช่นการโหวตแบบ Big Vote ซึ่งเป็นการกดเพื่อส่งข้อความสั้นเพียงครั้งเดียวเท่ากับคะแนนโหวต 20 คะแนนแต่เสียค่าโหวตครั้งละ 80 บาท ซึ่งต้องระมัดระวังในการกดส่งข้อความเพราะบางครั้งผู้บริโภคอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่กดผิด หรืออาจไม่เข้าใจวิธีการกดอย่างแท้จริง หรืออาจเกิดจากความผิดพลาดของบริษัทก็ได้ " ผอ.สบท. กล่าว
          

 

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้พิธีกรในรายการประเภทนี้ที่มักกระตุ้นให้ผู้ชมร่วมโหวตสดในเวลาออกอากาศ  เช่น ในช่วง 10 นาทีสุดท้ายก่อนการตัดสิน ซึ่งผู้บริโภคต้องระมัดระวังด้วย เพราะการส่งข้อความโหวตในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากความหนาแน่นของการส่งข้อมูลจะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ชมต้องเสียเงินทั้งที่คะแนนไม่ได้ถูกสะสมจริงให้แก่ผู้แข่งขัน  ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือที่นิยมการร่วมโหวตในรายการ จึงต้องเท่าทันกับรายการประเภทนี้ด้วย 


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306747446&grpid=01&catid=&subcatid=




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น