วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผ่ากระบวนการสรรหา กสทช.(ตอน2)"ข้อมูลใหม่" โละทิ้ง 22 รายชื่อ เร่งฟ้องศาลปกครอง 24 พ.ค.

ผ่ากระบวนการสรรหา กสทช.(ตอน2)"ข้อมูลใหม่" โละทิ้ง 22 รายชื่อ เร่งฟ้องศาลปกครอง 24 พ.ค.

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 23:15:28 น.

Share




ก่อนหน้านี้ มติชนออนไลน์ ได้เปิดประเด็นความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา กสทช.  จำนวน 22 คน  ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

  

ปรากฏว่า ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง    ล่าสุดมีข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจ หลายประเด็น


    

ชั่วโมงนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ กระบวนการสรรหา 22  คน  มิใช่แค่ นายสุรนันท์  วงศ์วิทยกำจร    ที่กำลังต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตนเองเท่านั้น

   

แต่ยังมี ตัวแทนกลุ่มรักษ์ชาติ  ที่อ้างว่า ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็น จี โอและกลุ่มนายทุน   และพบเห็นสิ่งผิดปกติ !!!

    

เช่น กรรมการสรรหา กสทช. และ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกสทช.  บางคน มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และมียังข้อครหาที่มีกลิ่นตุๆ

    

ผ่ากระบวนการสรรหา กสทช. (ตอน 2) "มติชนออนไลน์" จะชี้ประเด็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการสรรหา อย่างเป็นระบบ โดยไม่พาดพิงตัวบุคคล    ดังนี้


   

เริ่มจาก พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553  กำหนดให้ เลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก


      

แต่ใน "ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553"   กลับไม่มีการกำหนดสิ่งที่เป็นวิธีการคัดเลือกเลยว่า วิธีการให้คะแนนเป็นอย่างไร ให้น้ำหนักกับเรื่องใด ?


  

การที่คณะกรรมการสรรหากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครไว้ในหนังสือเชิญแสดงวิสัยทัศน์  นอกเหนือไปจากที่เลขาธิการวุฒิสภากำหนด คณะกรรมการสรรหามีอำนาจหรือไม่ เพราะทั้งพระราชบัญญัติ  และระเบียบ  ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาเอาไว้แต่อย่างใด

  

นอกจากนี้   กรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย เป็นกรรมการที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน แต่กรรมการสรรหาเป็นกรรมการที่มาจากตำแหน่ง ไม่ใช่จากความชำนาญ ในการพิจารณาเอกสารและหลักฐานที่แสดงผลงานหรือความรู้ของผู้สมัครตามระเบียบ ฯ ข้อ 7 (3) คณะกรรมการสรรหามีวิธีการพิจารณาเอกสารต่างๆของผู้สมัครแต่ละรายอย่างไร?

 

 กรรมการสรรหาฯ  ใช้อำนาจตัดสิน เลือกผู้หนึ่งผู้ใดได้ หรือพิจารณาตัดสินได้เอง  โดยใช้ดุลยพินิจล้วนๆ   เพราะพวกเขา มิได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน

 


 

ประเด็นต่อมา   คณะกรรมการสรรหาได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมในการแสดงวิสัยทัศน์ ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ก็เท่ากับว่า การแสดงวิสัยทัศน์ไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญที่นำมาใช้ในการพิจารณาสรรหา


   

เพราะฉะนั้น การสรรหาจึงจำกัดอยู่ที่ ระเบียบฯ ข้อ 7 (3) คือต้องพิจารณาจากเอกสารและหลักฐานที่แสดงผลงานหรือความรู้ และความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมาย


   

ประกอบกับ ระเบียบ ฯ ไม่กำหนดถึงวิธีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ จึงทำให้ ระเบียบ ฯ ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน เพราะไม่มีใครทราบหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาเอกสารและหลักฐาน ทำให้กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกถึงตัวบุคคลที่ชัดเจน เช่น ในการพิจารณาผลงานของผู้สมัคร มีการอ่านอย่างไร ให้คะแนน

 ประเด็นก็คือ  กรรมการสรรหาที่ไม่มีความรู้ในด้านดังกล่าวจะทำอย่างไร   เพราะโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่ควรเอาคนไม่มีความรู้มาประเมินคนมีความรู้ได้


จริง ๆ แล้ว   การสรรหากรรมการระดับชาติที่มีความสำคัญเช่นนี้ควรทำด้วยความละเอียดรอบคอบ โปร่งใสในทุกขั้นตอนเปิดเผยหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้สมัครทราบ ควรมีกระบวนการในการให้คะแนนผู้สมัครที่ชัดเจนว่า ให้คะแนนจากเอกสารหรือหลักฐานใดที่ผู้สมัครส่งมา


 ตามหลักการแล้ว   กรรมการสรรหาไม่มีดุลพินิจที่จะเลือกผู้สมัครจากเหตุผลอื่นนอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของกรรมการกสทช. ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดเอาไว้คือเป็น "ผู้ที่มีผลงาน หรือ มีความรู้ หรือ มีความเชี่ยวชาญ หรือ มีประสบการณ์"

   

เพราะฉะนั้น คณะกรรมการสรรหาจึงต้องตอบให้ได้ว่าผู้ที่คณะกรรมการสรรหาเลือกมีคุณสมบัติใน 4 ประการที่กฏหมายกำหนดเหนือกว่าผู้ที่คณะกรรมการสรรหาไม่ได้คัดเลือกอย่างไร


   

เนื่องเพราะ "ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553" ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสรรหาที่เป็นระบบ มีความโปร่งใสและเป็นธรรมเอาไว้


  

การสรรหาจึงเกิดจากการใช้ดุลพินิจของกรรมการสรรหาซึ่งพระราชบัญญัติไม่ได้ให้อำนาจดังกล่าวกับคณะกรรมการสรรหาเอาไว้ ผลของการสรรหาจึง
เป็นที่สงสัยของหลายๆ ฝ่าย

   

ผู้มีส่วนได้เสียจึงควรฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนระเบียบดังกล่าวเนื่องจากระเบียบไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสรรหาเอาไว้

    
   

ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติกำหนดให้ต้องกำหนด ประกอบกับการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสาธารณะควรมีวิธีการสรรหาที่เป็นระบบ มีความโปร่งใสและเป็นธรรมอันเป็นสิ่งที่ต้องพึงมีในการสรรหากรรมการระดับชาติ ในเมื่อระเบียบฯ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย จึงทำให้กระบวนการสรรหาทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฏหมายไปด้วย


 
ประเด็นข้อกฎหมาย ที่น่าสนใจคือ       หากพบว่าเลขาธิการวุฒิสภาหรือคณะกรรมการสรรหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจโดยมิชอบในการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งพวกพ้องหรือผู้ที่ตนสนับสนุน   ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติด้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการสรรหา  

ผู้ที่ไม่ได้รับการสรรหาอาจฟ้องทางอาญาตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญากับเลขาธิการวุฒิสภา และดำเนินการตามมาตรา 123/1  แห่งกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่กับคณะกรรมการสรรหาได้อีกด้วย

   

หากพบว่ามีการกระทำผิด กฏหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่กำหนด โทษจำคุกสูงสุด   สำหรับกรณีที่คณะกรรมการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ


 ฉะนั้นแล้ว   หากจะฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศ 22 รายชื่อ จะต้องทำภายใน 1 เดือนนับจากวันประกาศรายชื่อ นั่นคือ 24 พ.ค. ศกนี้  .


                            http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1305433059&grpid=01&catid=02

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น