วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

'ซิม' ล้นเมือง แฟชั่น ค่านิยม ความฟุ่มเฟือย!!




Pic_171516

หลายคนคงได้ยินและได้เห็น ซิมหมวดใหม่ 090-xxxxxxx ผ่านตากันบ้างแล้ว สำหรับคนที่สงสัยว่าเลขหมายหมวดดังกล่าวมีความพิเศษอย่างไร ก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า... เลขหมายหมวดดังกล่าวไม่ได้มีความพิเศษ!!! มากกว่าเลขหมาย 08x-xxxxxxx ที่เห็นและใช้กันอยู่ทั่วไป แต่เป็นเลขหมายหมวดใหม่ที่ออกมารองรับความต้องการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเราๆ ท่านๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง...

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ให้รายละเอียดว่า เมื่อหลายเดือนก่อน คาดว่ามีซิมอยู่ในตลาด 68 ล้านเลขหมาย ขณะนี้อาจอยู่ที่ 70 ล้านเลขหมาย แต่มีซิมทั้งหมดประมาณ 100 ล้านเลขหมาย หมายความว่ามีซิมอีกกว่า 30 ล้านเลขหมาย อยู่ในมือโอเปอเรเตอร์ซึ่งเป็นซิมที่ไม่ได้ใช้งาน

นายประวิทย์ ยังบอกอีกว่า แม้ปัจจุบันผู้บริโภคจะสามารถซื้อหาซิมได้ง่าย แต่ปัญหาการใช้ซิมอยู่ที่การจดทะเบียน หากมีการจดทะเบียนก็จะเป็นการแสดงความครอบครองและไม่ถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือย ขณะเดียวกันยังลดปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การโทรไปข่มขู่ผู้อื่นหรือการใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อกระทำความผิดต่างๆ ซึ่งซิมเหล่านั้นมักถูกใช้แล้วทิ้ง ทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นคุณค่า ขณะที่โอเปอเรเตอร์ก็ขอเลขหมายเกินความจำเป็น หากมองเชิงเทคนิคอาจบอกว่าอีก 30 ล้านเลขหมายนั้น เป็นเลขหมายสำรอง โดยปกติเมื่อมีผู้ใช้ยกเลิกบริการ เลขหมายดังกล่าวก็จะถูกเก็บไว้ 6 เดือน ก่อนนำมาจำหน่ายให้ผู้ใช้รายใหม่ แต่ปัจจุบันพบว่าบางโอเปอเรเตอร์นำมาจำหน่ายทั้งที่ผู้ใช้รายเก่าเพิ่งยกเลิกบริการได้ไม่ถึงสัปดาห์


ผอ.สบท. ยอมรับว่า ยังไม่เห็นเลขหมายหมวดใหม่ 090-xxxxxxx วางจำหน่ายในท้องตลาด เรื่องดังกล่าวถือเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าอนุมัติให้ผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) รายใดและจำนวนเท่าไหร่ หากอนุมัติแล้วก็เป็นสิทธิ์ที่จะนำไปจำหน่ายได้ ความจำเป็นในการเปิดหมวดเลขหมายใหม่ 090-xxxxxxx นั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเลขหมายเก่าถูกจัดสรรหมดแล้ว โดยเฉพาะอนาคตเมื่อมีการให้บริการ 3จี

นอกจากนี้ นายประวิทย์ ยังกล่าวถึงการร้องเรียนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า เรื่องที่ได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคสูงสุดคือค่าบริการในระบบพรีเพด (เติมเงิน) ซึ่งมีการกำหนดวันหมดอายุหรือไม่คืนเงิน และเรื่องบริการเสริม อาทิ ข้อความ (เอสเอ็มเอส) ซึ่งบางครั้งไม่ได้สมัครใช้หรือไม่สามารถยกเลิกบริการได้ และการใช้ดาต้า ที่มีการเชื่อมต่อโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว บางกรณีผู้ใช้อาจรู้ตัวแต่คาดไม่ถึงว่าค่าบริการจะแพง ซึ่งกรณีเหล่านี้ สบท.ได้รับร้องเรียนจากผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่าย

"บริการโทรคมนาคมมีความจำเป็นอย่างมาก เชื่อว่าผู้บริโภคทุกคนต้องการบริการที่เป็นธรรม มีการให้ข้อมูลครบถ้วนและให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจเลือก แต่ที่พบในปัจจุบัน บางรายยังแจ้งข้อมูลไม่ชัดเจนโดยเฉพาะการใช้งานดาต้า ส่งผลให้ผู้ใช้บางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากจนถึงหลักแสนบาทเมื่อใช้งานขณะเดินทางไปต่างประเทศ นอกจากนี้ก็ควรดูแลเรื่องการจัดสรรใบอนุญาติทั้งคลื่น 3จี และคลื่นเดิม เพื่อลดช่องว่างในการใช้งานเพราะคลื่อนความถี่ถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่า ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องรอให้เกิดความโกลาหลเมื่อถึงวันหมดอายุสัญญาสัมปทาน" ผอ.สบท. กล่าว

อาจเพราะความสะดวกในการซื้อหา จึงทำให้ "ซิม" กลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย บางคนใช้ระบบเติมเงินเปิดใช้งาน 1-2 วัน ก็ทิ้งเปลี่ยนเบอร์ใหม่ ถ้าเป็นเบอร์ใหม่ค่ายใหม่ยังพอทำใจ แต่บางคนอยากเปลี่ยนแค่เบอร์ใหม่ค่ายเดิม อยากให้ไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ เพราะปัจจุบันก็มีบริการ "นัมเบอร์พอร์ต" ช่วยอำนวยความสะดวกให้ย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิมได้แล้ว หากตรึกตรองให้ดี ก็จะพบว่าทรัพยากรเล็กหรือใหญ่ แพงหรือถูก ก็ล้วนมีคุณค่า

"คิดก่อนใช้" ยังคงเป็นประโยคคลาสิกที่ใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ อย่าเถียงว่าเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ คงไม่ทำให้โลกร้อน (มากกว่าเดิม) เพราะหากหลายร้อย หลายหมื่น หรือหลายล้านคน คิดแบบเดียวกัน ก็คงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นเริ่มจากจุดเล็กๆ รวมกันหลายๆ คน ก็ทำให้โลกกลายเป็นสีเขียวในแบบ "กรีน ไอที" ได้ไม่ยาก...

 

ทีมข่าวไอทีออนไลน์

http://www.thairath.co.th/content/tech/171516


 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น