วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"วัฒนธรรมไทย" สร้างขึ้นใหม่ๆ เพื่อคนชั้นนำ

"วัฒนธรรมไทย" สร้างขึ้นใหม่ๆ เพื่อคนชั้นนำ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.

Share




โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ที่มา คอลัมน์สยามประเทศไทย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2554)


"วัฒนธรรมไทย" กำลังถูกท้าทายหนักขึ้นตลอดมา ทั้งโดยคนที่ตั้งใจและคนที่ไม่ตั้งใจ

ข้อความยกมานี้ได้จากบทความเรื่อง เมื่อ "วัฒนธรรมไทย" ต้องเผชิญกับนม ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2554 หน้า 6)

มีสาระสำคัญเรื่อง "วัฒนธรรมไทย" ที่ผมไม่เคยรู้และไม่เคยคิดมาก่อน แล้วอยากให้ร่วมกันรู้คิดไว้ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งผู้มีลมหายใจเข้าออกเป็น "วัฒนธรรมไทย" สุดลิ่มทิ่มประตู เช่น ผู้บริหารทุกระดับของกระทรวงวัฒนธรรม

ผมขออนุญาตสรุปสั้นๆ จากบทความของอาจารย์นิธิมาเป็นข้อๆ ต่อไปนี้

1. "วัฒนธรรมไทย" เป็นสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีจริง แต่ปั้นแต่งให้ตรงตามอุดมคติ แล้วยัดเยียดให้คนทั่วไปเชื่อว่า "วัฒนธรรมไทย" มีอยู่จริง

หากมีปรากฏการณ์ใดที่ขัดต่อ "วัฒนธรรมไทย" ที่ถูกสร้างหรือถูกสมมุติขึ้นนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นความเบี่ยงเบน, ความเสื่อมโทรม, จนถึงเป็นอาชญากรรม

2. "วัฒนธรรมไทย" ตามอุดมคติ มีอำนาจแฝงอยู่ด้วย นับแต่อำนาจเชิงสังคม จนถึงอำนาจทางกฎหมายที่ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษได้

มาตรฐานนี้วางอยู่เหนือความเป็นมนุษย์

3. "วัฒนธรรมไทย" เป็นอุดมคติของคนชั้นนำ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคนชั้นระดับกลางขึ้นไป (อย่างจริงจัง หรือหน้าไหว้หลังหลอกก็ตาม)

คนกลุ่มนี้เป็นผู้ควบคุมสื่อและกลไกของกฎหมายไว้ในมือ จึงอาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนได้

4. "วัฒนธรรมไทย" มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การกล่อมเกลา ไปจนถึงบังคับบัญชาให้ยอมจำนนต่อความไม่เท่าเทียม, ยอมจำนนต่อโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่, รู้จักที่ต่ำที่สูง, รู้จักความวิเศษเลิศลอยเป็นนิรันดรของแบบแผนทางวัฒนธรรมชนชั้นสูง

การประกวดมารยาทของเด็กนักเรียนคือ การประกวดการใช้ภาษากาย เพื่อยอมรับความไม่เท่าเทียมระหว่าง "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย"

โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลก หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "จิตวิญญาณ" ความเป็นไทย

5. "วัฒนธรรมไทย" อ่อนแออย่างยิ่ง จึงสั่นสะเทือนไปแทบจะถึงรากเหง้า ด้วยแรงปะทะของความเปลี่ยนแปลงของโลก

เหตุเพราะ "วัฒนธรรมไทย" เป็นสมบัติของคนชั้นนำที่สร้างขึ้นใหม่ ใช้งานเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจของตนเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทย

ทั้งหมด 5 ข้อ สรุปย่อจากบทความของอาจารย์นิธิ ว่า "วัฒนธรรมไทย" เป็นสิ่งสร้างขึ้นใหม่ๆ เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจของคนชั้นนำ

ขณะเดียวกัน "วัฒนธรรมไทย" ก็เป็นเครื่องมือให้คนหน้าไหว้หลังหลอกเอาไปทำมาหากินส่วนตนและคณะ ด้วยวิธีเบียดเบียนข่มขู่คนอื่น

"ความเป็นไทย" ก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ๆ ด้วยเป้าหมายเดียวกับ "วัฒนธรรมไทย"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น