วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียนทิศทางสื่อไทย หลังเกิดเหตุรุนแรงผ่านไป 1 ปี

"ก่อเขต" เชื่อเหตุรุนแรงรอบใหม่ สื่อก็ยังใช้ "สัญชาตญาณ" ทำข่าวเช่นเดิม แนะเร่งฝึกอบรม-ออกคู่มือทำข่าวในภาวะเสี่ยง ด้านผู้แทน INSI  มองสื่อไทยตกอยู่กึ่งกลางคู่ขัดแย้ง พร้อมเตือนไม่ควรทำข่าวแบบ "เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย"

วันที่ 16 พฤษภาคม เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA)  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา เรื่อง ทิศทางสื่อไทยหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จะไปทางไหน ณ ห้องกมลมาศ โรงแรมสยามซิตี้ เพื่อเป็นการทบทวนบทบาทสื่อฯ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

"กายาทรี เวนกิทสวารัน" ผู้อำนวยการบริหาร SEAPA กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 สื่อในเมืองไทยได้พบกับความท้าทายอย่างมากมาย เริ่มจากสื่อใหม่ (News Media) ได้เข้ามามีบทบาท ขณะเดียวกันการคุกคามสื่อในแบบเก่าๆ  ก็ยังพบเห็นกันอยู่  รวมทั้ง คำถามที่ต้องถามไปยังสื่อขณะนี้ ว่า สื่อสามารถทำหน้าที่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้หรือไม่ สื่อยังสามารถให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนตามที่สาธารณชนสมควรได้รับหรือไม่ และสื่อมีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณเพียงพอหรือไม่ ที่จะให้กับสาธารณชน

ผู้อำนวยการบริหาร SEAPA  กล่าวว่า การคุกคามสื่อไม่ได้เกิดในเมืองไทยประเทศเดียว ซึ่งประเทศในเอเชียจะเห็นการคุกคามในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากรัฐบาล และไม่ใช่รัฐบาล เช่น ที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอีกหลายๆ ประเทศ ที่สื่อถูกเซ็นเซอร์ หรือเซ็นเซอร์ตัวเอง ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การสะท้อนปัญหาในหมู่สื่อด้วยกัน จะเป็นประโยชน์กับการทำข่าวการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา

ด้านนายเรด บาทาริโอ ผู้แทนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบัน   International News Safety Institute (INSI) กล่าวถึงสถานการณ์การทำงานของสื่อในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของการทำข่าวของสื่อนั้น ปัญหาแรกที่พบ  คือ การเซ็นเซอร์สื่อ ด้วยการใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ฯลฯ และการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่าง ในประเทศในฟิลิปปินส์ ที่ไม่มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารเหมือนอย่างประเทศไทย ขณะที่อินโดนีเซีย แม้จะมีกฎหมายอนุญาตให้สื่อใช้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่ก็มีกฎหมายตัวอื่นๆ อีก 16 ฉบับที่ขัดแย้งกับกฎหมายตัวนี้  หรือการฟ้องหมิ่นประมาท ที่ถือเป็นการคุกคามสื่อในมาเลเซีย  และฟิลิปปินส์ ไม่เว้นในพื้นที่มีความรุนแรงทางภาคใต้ของไทย ก็มีการใช้ความรุนแรงต่อสื่อ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตคนทำงานเช่นเดียวกัน

นายเรด กล่าวว่า  ในฟิลิปปินส์เหตุการณ์คุกคามสื่อรุนแรงมาก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1981-ปัจจุบัน  มีนักข่าวฟิลิปปินส์ที่เป็นเป้าโดยตรงของฝ่ายต่างๆ ถูกสังหารแล้ว 147 คน และมีสภาพการทำงาน ก็มีคุณภาพต่ำมาก  เช่น  การทำงานของสื่อจะพบกับระเบิดที่ถูกนำมาวางเอาไว้ตามท้องถนน เป็นต้น  ส่วนที่พม่านักข่าวชาวญี่ปุ่นก็ถูกยิงเสียชีวิตจากการทำข่าวม็อบ หรือที่อินโดนีเซียนักข่าวถูกลักพาตัวไปฆ่า และการทำงานของสื่อต้องเจอกับภัยธรรมชาติ ทั้งสึนามิ และแผ่นดินไหว

"ในมาเลเซีย มีองค์กรสื่อบางองค์กรถูกปิดไป สำหรับในประเทศไทย นักข่าวตกอยู่ในกึ่งกลางระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมือง แม้การถูกคุกคามอาจไม่ชัดเจน รู้สึกไม่ได้ในทันทีเหมือนฆ่ากันแบบฟิลิปปินส์ แต่ก็เป็นการคุกคามสื่ออีกรูปแบบหนึ่ง"

และจากเหตุการณ์จลาจลในกรุงเทพฯ ช่วงปีที่ผ่านมา ผู้แทนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบัน INSI กล่าวว่า นักข่าวไทยไม่ได้มีการเตรียมตัวเผชิญหน้าเหตุการณ์ความรุนแรงที่ดีพอ ไม่มีทั้งการฝึกอบรมในการดูแลตัวเองด้านความปลอดภัย หรือมีขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย ไม่มีการวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น  ดังนั้นทางออกของการทำงานของสื่อ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ สร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทของสื่อในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยนั้นสำคัญอย่างไร และต้องได้รับการคุ้มครองจากประชาชนด้วย

นายเรด กล่าวอีกว่า  ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงการทำงานของสื่อต้องได้รับการฝึกอบรมทำข่าวให้ปลอดภัย และควรมีการแจ้งเตือนซึ่งกันและกันในกลุ่มสื่อที่ทำข่าวในสถานการณ์รุนแรง (Alert Systems) แบบในฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งสำนักงานแจ้งเตือนทางด้านความปลอดภัยให้กับนักข่าว รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านความปลอดภัยของนักข่าว โดยจะมีการสร้างแผนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยขึ้นมาในแต่ละประเทศในภูมิภาค เพื่อให้นักข่าวรู้ว่า ไปตรงนี้ปลอดภัยหรือไม่

"การทำหน้าที่ของสื่ออย่างดีที่สุด ถือเป็นวิธีการคุ้มครองตัวเองของสื่ออย่างดีที่สุด" นายเรด กล่าว และว่า องค์กรสื่อ ก็มีหน้าที่ให้การดูแลนักข่าวในเรื่องนี้ด้วย รวมทั้ง นักข่าวก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะว่า ไม่มีข่าวไหนคุ้มค่ากับการเสี่ยงตาย

ขณะที่นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการข่าว ทีวีไทย กล่าวว่า  1 ปี แห่งความขัดแย้งรุนแรง เชื่อว่า หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คนทำงานสื่อในสนาม ก็ยังคงมีแค่เสื้อเกราะ หมวกกันกระสุน เช่นเดิม

"สังคมไทย นักข่าวไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องความขัดแย้งรุนแรงมาก่อน ผู้สื่อข่าวหลายคนไม่เคยมีประสบการณ์การทำข่าวบนความเสี่ยงแบบนี้เลย ไม่เคยมีการเตรียมพร้อม ทุกคนใช้คำว่า สัญชาตญาณ โดยไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีการฝึกอบรม " บรรณาธิการข่าว ทีวีไทย กล่าว และว่า ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ สร้างความตระหนักรู้ให้คนทำงาน เรื่องความเสี่ยงภัย ต้องมีการฝึกอบรม โดยไม่ใช่อาศัยแค่สัญชาตญาณ ในการทำข่าวอย่างเดียว

นายก่อเขต กล่าวด้วยว่า สำหรับเนื้อหาการรายงานข่าว ในสถานการณ์ที่คู่ขัดแย้งยังมีความโกรธแค้น  หน้าที่ของสื่อ คือ รายงานข่าวอย่างไรถึงจะลดความพลุ่งพล่านในอารมณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือมีหัวหน้าทีมดูแลการทำงานของสื่อในภาคสนามด้วย ซึ่งก็เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สำหรับคนต่างองค์กรสื่อ  ที่มาจากต่างสำนัก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น