องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2548 ในจำนวนการตายของประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 58 ล้านคน มีถึงร้อยละ 60 ที่ตายจากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
2 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน 3.5 ล้านคน แต่มีถึง 1.1 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองป่วย ที่น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงกว่าคนปกติถึง 2-4 เท่า และมากกว่าครึ่งมีความผิดปกติของระบบประสาท และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เท้า และไต
ในรายที่เป็นไม่มากผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ในรายที่เป็นมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล.) จะมีอาการให้สังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อยและมาก หิวและกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง บางคนปัสสาวะแล้วมีมดขึ้น อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าถึงขั้นน่าเป็นห่วง
ต่อมาก็เป็น โรคความดันโลหิตสูง ในช่วงปีเดียวกันนั้นมีคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้สูงมากถึง 10.8 ล้านคน โดย 5.4 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นอยู่
ความร้ายแรงแบบโดมิโนของโรคความดันโลหิตสูง อยู่ตรงที่คนที่เป็นโรคนี้มักมีคอเรสเตอรอลสูงกว่าคนปกติ 6-7 เท่า เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และร้อยละ 25 ตามลำดับ และมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 หลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตันร้อยละ 20-30 ไตวายร้อยละ 5-10 และมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า
คนเป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่ก็เป็น "เพชรฆาตเงียบ" ที่สร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อหลอดเลือดและอวัยวะอื่นๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต ทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก จนเกิดเป็นอัมพาต และอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายตามมา รวมทั้งเกิดโรคไตวายเรื้อรัง
สำหรับ โรคหัวใจ 2 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 50 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน และเจ็บป่วยนับเฉพาะที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในมีมากเฉลี่ยถึง 1,185 รายต่อวัน โรคหัวใจที่พบได้มากมีทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจวาย และอื่นๆ
และนับวันก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยล่าสุดพบว่า คนไทยมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงถึงร้อยละ 86 เพราะความนิยมบริโภคอาหารไขมันสูง ทำให้มีไขมันสะสมในเส้นเลือดแดง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตามมา จนมีคนไทยจำนวนมากที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอีกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีแนวโน้มการเกิดผู้ป่วยที่สูงขึ้นมาก
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน เฉพาะปี 2550 มีคนไทยอายุ 15-74 ปี ที่ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนคน คาดว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 150,000 ราย
ทุกวันนี้มีคนไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้อย่างไม่รู้ตัวอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ยิ่งเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-17 เท่าตัว เป็นโรคเบาหวานเสี่ยงเพิ่ม 2 เท่า ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูงเสี่ยงเพิ่ม 1.5 เท่า และหากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหนึ่งปัจจัย โอกาสเกิดโรคนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีก โดยเฉพาะ โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองเสื่อม โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง และมะเร็ง
โรคนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อายุ เชื้อชาติ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่-ดื่มสุรา
คนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป หากมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือฟังไม่เข้าใจ เดินเซ เวียนศีรษะเฉียบพลัน ตามองเห็นภาพซ้อน หรือมองมืดมัวข้างใดข้างหนึ่ง ต้องรีบไปพบแพทย์ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะนี่คือสัญญาณเตือนของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ด้านการรักษาปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลดี การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด ความเครียด งดสูบบุหรี่ และเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
โรคมะเร็ง สาเหตุการตายอันดับ 1 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 120,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปี
มะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และน่าสังเกตว่า ผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มพบมากในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบสูงสุดในกลุ่มอายุ 45 ปี เกือบร้อยละ 50 อยู่ในระยะที่มีการกระจายในต่อมน้ำเหลืองแล้ว
มะเร็งระยะแรกๆ มักไม่ปรากฏอาการ จนเมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการเฉพาะ ซึ่งขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็งที่เป็น แต่โดยรวมแล้วอาการที่พบทั่วไปในมะเร็งทุกชนิด ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจมีไข้เรื้อรัง ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซีด หน้ามืดเป็นลม ใจหวิว เป็นต้น
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด-หวานจัด อาหารปิ้งย่างเผาเกรียม สารเคมีในผัก-ผลไม้และสารที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารที่มีสารเจือปนผสมสีสังเคราะห์ สารอะฟาทอกซิน การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ การสัมผัสแสงแดดจัดเป็นประจำ การได้รับเชื้อไวรัส การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และอื่นๆ มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากความผิดปกติในร่างกายหรือพันธุกรรม
หันมาดูตัวเองแล้ว หากใครจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ควรหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง เพราะการตรวจพบระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดจะมีมากขึ้น
การรู้เท่าทันโรคภัยพร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่พฤติกรรมใหม่ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ จะเป็นวิถีทางสู่การ "ลดทุกข์ สุขเพิ่ม" เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว