วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ดาวเคราะห์น้อย'YU55' มหันตภัยใกล้(ชน)โลกมนุษย์

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7467 ข่าวสดรายวัน


ดาวเคราะห์น้อย'YU55' มหันตภัยใกล้(ชน)โลกมนุษย์





ลือกันกระหึ่มโลกไซเบอร์ หลังจากสื่อบางสื่อของไทยแปลข่าวต่างประเทศผิด หรือตั้งใจนำเสนอหัวข่าวแบบ "บิดประเด็น" เพื่อสร้างกระแสหวือหวาก็ไม่ทราบได้ ว่า "ดาวเคราะห์น้อย YU55 จะพุ่งชนโลกปลายปีนี้!" 

ส่วนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์จะเป็นเช่นไร "ข่าวสดหลาก&หลาย" มีคำตอบ




จุดเริ่มต้นของกระแสข่าวผิดๆ ในเมืองไทยว่า ดาวเคราะห์น้อย "YU55" (วายยู 55) จะพุ่งชนโลกนั้นเกิดขึ้น หลังจากสื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวไปทั่วโลกในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ว่า

นายดอน ยีโอแมนส์ โฆษกสำนักงานอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ "นาซ่า" ในฐานะผู้จัดการโครงการติดตามวัตถุใกล้โลก ออกมาแถลงข่าว ว่า

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 นี้ ดาวเคราะห์น้อยชื่อ "YU55" จะโคจร เข้ามาใกล้โลกมากที่สุด ในระยะห่างกันประมาณ 325,000 กิโลเมตร 

ซึ่งแม้จะห่างกันเป็นแสนๆ กิโลฯ แต่ในทางดาราศาสตร์ถือว่า "YU55" เป็นวัตถุในอวกาศที่โคจรมาเฉียดใกล้โลกมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

และนับจากปัจจุบันไปจนถึงปี พ.ศ.2571 หรืออีก 17 ปีข้างหน้าก็จะยังไม่มีดาวเคราะห์น้อยดวงใดพุ่งมาใกล้โลกเท่านี้

ด้วยข้อมูลดังกล่าว จึงมีสื่อไทยบางสื่อเอาไปโหมกระพือว่า ดาว "YU55" จะพุ่งเข้าใกล้จนถึงขั้น "ชนโลก" ทั้งๆ ที่ในเนื้อแถลงการณ์ของนาซ่านั้น นายดอนย้ำชัดว่า "แรงดึงดูดของโลกเราที่จะกระทำต่อ YU55 นั้นน้อยเอามากๆ" 

หมายความว่าแรงดึงดูดโลกจะไม่ฉุดเอา YU55 เข้ามาชนโลกนั่นเอง

"YU55 โคจรผ่านมาทางดวงอาทิตย์ทุกๆ 14 ปี โดยครั้งนี้จะไม่ส่งผลคุกคามใดๆ และจะไม่พุ่งชนโลกไปอีกอย่างน้อยภายในรอบ 100 ปีข้างหน้า" นายดอน แถลงที่สำนักงานห้องปฏิบัติการเจพีแอลของนาซ่า ในเมืองพาซาดีน่า สหรัฐ




สําหรับข้อมูลทั่วไปของ "YU55" มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 400 เมตร จัดเป็นกลุ่มหินในอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดและโคจรมาใกล้โลก มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ



โดยผู้ค้นพบ "YU55" เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2005 หรือ พ.ศ.2548 คือ "โรเบิร์ต แม็กมิแลน" หัวหน้าโครงการสำรวจอวกาศประจำมหาวิทยาลัยรัฐอริโซนา สหรัฐ ซึ่งได้รับทุนสนับ สนุนจากนาซ่า

ต่อมาในเดือนเมษายน 2553 "ไมก์ โนแลน" และทีมผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ประจำหอสังเกตการณ์อวกาศ "เอเรซิโบ" ในเปอร์โตริโก สามารถบันทึกภาพแบบเบลอๆ ของ "YU55" เอาไว้ได้ขณะเดินทางล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศ ห่างจากโลกราว 2.3 ล้านกิโลเมตร

เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์จึงจัดไว้ในกลุ่ม "เป็นอันตรายต่อโลกมนุษย์" โดยคำนวณกันออกมาว่า

ถ้าอีกร้อยปีข้างหน้า "YU55" เกิดมีวงโคจรพุ่งเข้ามาชนโลกจริง 

อานุภาพทำลายล้างจะสูงพอๆ กับการที่โลกถูก "ระเบิดนิวเคลียร์" 65,000 ลูกถล่มใส่!

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการค้นพบ "YU55" รวมถึงรู้เส้นทางโคจรของมันแล้ว ก็ช่วยให้การ "วางแผนรับมือ" ทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยระหว่างที่ "YU55" โคจรมาใกล้โลกในเดือน พ.ย.2554 

ทางนาซ่า และนักดาราศาสตร์ทั่วโลกจะใช้หอสังเกตการณ์อวกาศ และหอดูดาวต่างๆ ติดตามความเคลื่อนไหวและเก็บข้อ มูลลักษณะของดาวเคราะห์น้อยอันตรายดวงนี้เอาไว้ให้ได้มากที่สุด

"เมื่อ YU55 ผ่านโลกปลายปีนี้ เราวางแผนจะจับภาพที่ความละเอียด ระดับใกล้กับพื้นผิวราว 4 เมตร และด้วยประสิทธิภาพของเครือข่ายสำรวจอวกาศที่โกลด์สโตน รัฐ แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเพิ่งได้รับการปรับปรุงอุปกรณ์หลายชิ้น ทำให้เราเชื่อมั่นว่าเรดาร์ที่โกลด์สโตนจะจับภาพรายละเอียดของดาวไว้ได้" แลนซ์ เบนเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์สำรวจอวกาศของห้องปฏิบัติการเจพีแอล กล่าว

ทั้งนี้ วิธีการทำงานของระบบ "เรดาร์สำรวจอวกาศ" ทำโดยการยิงสัญญาณคลื่นไมโครเวฟกำลังสูงออกไปจาก "เสาส่งสัญญาณ" ขนาดใหญ่ที่มีหน้าตาคล้ายจานรับส่งสัญญาณดาวเทียม 

และความแรงของคลื่นไมโครเวฟที่ยิงออกไปนั้น มีรัศมีไกลครอบคลุมไปถึงดวงจันทร์บริวารของ "ดาวเสาร์" กันเลยทีเดียว



จากนั้นเมื่อคลื่นไปกระทบกับวัตถุเป้าหมายก็จะสะท้อนสัญญาณกลับมายัง "สถานีภาคพื้นดิน" เพื่อแปลค่าออกมาเป็นภาพเรดาร์ 3 มิติของวัตถุเป้าหมาย



ส่วนวิธีการ "ทำลาย" หรือ "สกัด" ดาวเคราะห์น้อยไม่ให้พุ่งเข้ามาชนโลกจนเกิดหายนะ เบื้องต้นในวงการวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐาน-ทฤษฎีกันหลายรูปแบบ

แต่ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดมี 3 วิธีดังนี้ ประกอบด้วย

1.ใช้อาวุธนิวเคลียร์ยิงใส่เพื่อเปลี่ยนวิถีโคจร แต่มีข้อกังวลว่าระเบิดนิวเคลียร์จะกลับกลายเป็นว่าทำให้ดาวเคราะห์น้อยแตกตัวกลายเป็นชิ้นเล็กลง แล้วพุ่งชนพื้นโลกตรงจุดอื่นๆ แทนหรือไม่

2.ส่งฝูงยานอวกาศออกไปนอกโลก แต่ละลำติดตั้งกระจกสะท้อนแสงอาทิตย์ปรับมุมองศาให้สะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์ไปยังพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย เพื่อให้ก๊าซที่ผุดออกจากพื้นผิวเปลี่ยนวงโคจร

3.ส่งยานอวกาศพุ่งชนเพื่อเปลี่ยนวิถีโคจร ซึ่งวิธีนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย แต่ความสำเร็จยังไม่เป็นที่แน่ชัด


ข้อมูล : นาซ่า, เดลี่มิเรอร์, เดลี่เมล์, ซินหัว, สเปซดอตคอม



ไขข้อเท็จจริง

ลือ'YU55'ชนโลก


สมาคมดาราศาสตร์ไทย โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด ตอบคำถาม-ข้อสงสัยเกี่ยวกับข่าวลือกระหึ่มโลก กรณีดาวเคราะห์น้อย 'YU55' จะพุ่งชนโลกในวันอังคารที่ 8 พ.ย. 2554 ดังนี้ 

ถาม : 2005 YU55 คืออะไร

ตอบ
 : 2005 YU55 (2005 วายยู 55) หรือบางคนอาจเรียกสั้นๆ ว่า YU55 (วายยู 55) เป็นชื่อวัตถุดวงหนึ่งที่ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2005) จัดเป็นดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่ดาวเคราะห์ ปัจจุบันระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์ 8 ดวงเท่านั้น

ถาม : มีขนาดใหญ่แค่ไหน

ตอบ
 : คาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร

ถาม : 2005 YU55 จะพุ่งชนโลกในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 จริงหรือไม่

ตอบ
 : ไม่จริง เพราะแค่ผ่านใกล้โลกโดยใกล้ที่สุดที่ระยะห่างประมาณ 325,100 กิโลเมตร และผ่านใกล้ดวงจันทร์ที่ระยะห่างประมาณ 239,700 กิโลเมตร (ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร) ขณะใกล้โลกที่สุด ตรงกับวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2554 เวลา 06.28 น. ตามเวลาประเทศไทย

ถาม : การเข้าใกล้โลกของ YU55 จะทำให้โลกเกิดภัยพิบัติหรือไม่

ตอบ
 : ไม่ มวลของวัตถุนี้ที่ระยะขนาดนี้มีแรงไม่มากพอที่จะส่งอิทธิพลต่อแผ่นดินไหว หรือแม้แต่น้ำขึ้น-ลง

ถาม : ขณะผ่านใกล้โลก เราจะเห็นด้วยตาเปล่าหรือไม่

ตอบ
 : ไม่ มันสว่างน้อยเกินกว่าที่ตาเปล่าของเราจะมองเห็น จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดู โดยเห็นเป็นจุดคล้ายดาวทั่วไป แต่เคลื่อนที่ไปท่ามกลางดาวฤกษ์ฉากหลัง ขณะใกล้โลกที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2554 มันจะสว่างที่สุดด้วยโชติมาตร 11 หรือจางกว่าดาวจางที่สุดที่ตาเปล่าจะเห็นได้ประมาณ 60 เท่า

ถาม : นอกจากโลกแล้ว YU55 ผ่านใกล้ดาวเคราะห์ดวงอื่นหรือไม่

ตอบ
: YU55 โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยมีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับโลก ประ กอบกับวงโคจรที่รีมาก ทำให้มันมีโอกาสผ่านใกล้ดาวศุกร์และดาวอังคาร

ถาม : แล้วมีโอกาสที่ YU55 จะชนโลกหรือไม่

ตอบ
 : การคำนวณขององค์การนาซ่า ไม่มีโอกาสชนโลกในระยะ 100 ปีนับ จากนี้

ส่วนดาวเคราะห์น้อย หรือ asteroid คือ วัตถุขนาดเล็กที่อยู่ในระบบสุริยะ มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่สิบเมตรจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร 

ดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดคือ 'เซเรส' มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 กิโลเมตร เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่า 1.6 กิโลเมตรอาจมีมากถึงกว่า 500,000 ดวง แม้ว่าดาวเคราะห์น้อยจะมีอยู่เป็น จำนวนมาก แต่ถ้ารวมมวลดาวเคราะห์น้อยเข้าทั้งหมด อาจมีมวลเพียงประมาณหนึ่งในพันของมวลโลกเท่านั้น 

ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี


หน้า 21

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น