ดร.ผาสุก ชี้ 'กองทัพ' องค์ประกอบความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกอย่างสันติ
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 10:53:36 น
นักวิชาการโยนคำถาม "กองทัพเข้ามามีบทบาทสูง ดีหรือไม่" ย้ำชัดไม่มีประชาธิปไตยที่ใด ตำแหน่งสำคัญในกองทัพ รัฐบาลแทบไม่มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้อง เชื่อปรับบทบาทได้การเจรจา-แก้ปัญหาทางการเมืองจะสร้างสรรค์ขึ้น
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า แม้แต่คนที่อยู่ในภาวการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน รวมทั้งสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในสังคมมากว่า 100 ปี แต่สถานการณ์ของโลกในเวลาต่อมา ทำให้สถาบันดังกล่าวมีความแน่นหนามากในสังคมไทย กระทั่งกลายเป็นสถาบันที่ปิดกั้นไม่ให้นำไปสู่การเจรจา ซึ่งสถาบันที่ดังกล่าวข้างต้นคือ 'กองทัพ' นอกจากนี้ยังมีสถาบันตุลาการที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะตราบใดที่สังคมยังไม่สามารถมีกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเชื่อถือได้ มีความซื่อตรง มีความเป็นอิสระ รวมทั้งมีหลักการในการปกป้องประโยชน์ของมวลชน ซึ่งหากไม่มีสถาบันที่เป็นเช่นนี้แล้ว สังคมก็ไม่สามารถเดินหน้าสู่การเจรจาได้เช่นกัน
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยที่ยุ่งยากมาก เพราะมีปฏิกิริยา 2 ฝ่ายที่ คือฝ่ายที่ต้องการรักษาระเบียบเก่า กับ กับฝ่ายที่ต้องการระเบียบใหม่ ถึงจุดต้องข้ามพ้นสะพานนี้ คลองนี้ หรือแม่น้ำนี้แล้ว รอไม่ได้แล้ว กำลังงัดข้อกัน ดังนั้นจึงต้องมีการเสวนา ตกลงกัน เพื่อหากรอบกติกาใหม่
"สำหรับความยุ่งยากที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาของฝ่ายที่ต้องการรักษาระเบียบเก่า สามารถที่จะอิงสัญลักษณ์อำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากฝ่ายกองทัพ บวกกับแรงสนับสนุนบางส่วนจากสังคมและชนชั้นกลางเป็นตัวหนุนช่วย" ศ.ดร.ผาสุก กล่าว และว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งของฝ่ายที่ต้องการรักษาระเบียบเก่านั้น มีการใช้กระบวนการทางการเมือง ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องการสร้างระเบียบใหม่ให้ดูเหมือนว่า ไร้ความชอบธรรม เช่น สร้างวาทกรรมว่าไร้การศึกษา ถูกชักจูง คิดเองไม่เป็น พร้อมกันนี้ยังได้ยกงานวิจัยเชิงประจักษ์ ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต่างจังหวัดมีการตื่นรู้ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ สามารถคิดเองได้ ทำเองได้ และหาทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้หลายรูปแบบ
สำหรับการที่จะให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้า ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า ต้องมีการยอมรับกันว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จากทั้ง 2 ฝ่ายและทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันต้อมาเสวนา พูดคุยกัน และอาจต้องมีการเจรจาแบบแลกหมูแลกแมว ซึ่งก็ต้องใช้เวลา
ปี 50-52 งบฯ กลาโหมได้เพิ่มขึ้นถึง 50%
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวถึงบทบาทของสถาบันกองทัพไทย การมีการปรับเปลี่ยนจะทำให้กระบวนการเจรจาเป็นไปได้ ในแนวทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น เพราะตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 กองทัพไทยได้แสดงบทบาทในสังคมอย่างกว้างขวาง กระทั่งมีการพูดกันว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพก็อยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ก็ยังไม่มีใครตั้งคำถาม ว่า การที่กองทัพเข้ามามีบทบาทสูงขึ้นในสังคมไทยเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี มีผลพวงต่อพัฒนาการของสังคม และแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร
"แต่สิ่งที่เห็นชัดเจน เป็นรูปธรรม คือ งบประมาณของกลาโหมได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 50 ระหว่างปี 2550-2552 ซึ่งหากเปรียบเทียบระหว่างประเทศ เราจะพบว่า งบฯ กลาโหมในสหรัฐฯสูง ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของ GDP ของไทยประเทศเล็กว่าอยู่ที่ งบฯ กลาโหมอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของ GDP มากกว่า เยอรมนี ที่มีงบฯ ทหารอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของ GDP ส่วนอินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 1 ของ GDP ญี่ปุ่น ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของ GDP ส่วนจีนอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของ GDP"
เมื่อดูสัดส่วนของจำนวนทหารต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า สหรัฐฯ มีทหารจำนวน 7.9 คนต่อประชากร 1,000 คน , อินโดนีเซียมีทหารจำนวน 4.1 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ญี่ปุ่น 2.2 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ขณะที่ไทยมีทหารจำนวนถึง 10 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน
"มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังปี 2549 เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายกองทัพ ก่อนปี 2549 โผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับตั้งแต่ปี 2551 มีการผ่านพระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหมใหม่ มีการแก้ไข ทำให้โผทหารประจำปีอยู่ในกำกับของกองทัพแทบจะสิ้นเชิง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หมายความว่า หากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไม่ได้มาจากฝ่ายพลเรือนก็เรียกได้ว่า เป็นคนของกองทัพทั้งสิ้น ซึ่งหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นแต่เพียงผู้สนองพระบรมราชโองการเท่านั้น"
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ที่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพ รัฐบาลแทบจะไม่มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้อง และในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ของไทย บทบาทของผู้นำกองทัพมีบทบาทหลายสถาน มีการใส่หมวกหลายใบ ที่ผ่านมานายทหารชั้นผู้ใหญ่จะออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยมากขึ้น เช่น ผู้บัญชาการทหารบกเสนอความเห็นว่า ให้รัฐบาลมีนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ปัญหากัมพูชาอย่างไร หรือชักชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปอย่างมีนัยยะ เป็นต้น
"นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดเว็บไซต์ที่หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังก็มีการเสนอให้ยกระดับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ให้เป็นกระทรวง หรือกรมที่ดูแลด้านความมั่นคงเช่นเดียวกันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า 'กองทัพ' เป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้รักษาระเบียบเก่า อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธี ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องพูดถึงการขยายบทบาทของกองทัพในสังคมไทยว่าดีหรือไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร"
( เรื่อง ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย ) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1305863112&grpid=01&catid=no |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น