วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มีเดียมอนิเตอร์ พบรอบ 6 ปี สื่อรายงานข่าวการเมืองแบบวนลูป

มีเดียมอนิเตอร์ ชี้เนื้อหาข่าวการเมือง เน้นข่าวเลือกตั้ง ยุบสภา ม็อบชุมนุม ขายความขัดแย้ง รายงานข่าวแบบแยกส่วน คุณภาพข่าวขาดความลึก เชื่อเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด

เมื่อเร็วๆ นี้ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย โครงการมีเดียมอนิเตอร์ Media Monitor นำเสนอบทสังเคราะห์จริยธรรมสื่อ ในเวทีเสวนา เรื่อง ทิศทางสื่อไทยหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จะไปทางไหน ณ ห้องกมลมาศ โรงแรมสยามซิตี้ ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA)  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

นายธาม กล่าวว่า มีเดียมอนิเตอร์เริ่มต้นศึกษาถึงพฤติกรรม เนื้อหาในรายการโทรทัศน์ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (ปลายปี 2548-2553) งานศึกษากว่า 50 เรื่อง มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง 16 เรื่อง ซึ่งจะพบว่า ข่าวการเมืองในบ้านเราจะวนอยู่กับการเลือกตั้งทางการเมือง ม็อบชุมนุม การปะทะกัน หลังมีการยุบสภา ช่วงเลือกตั้งหาเสียง โดยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ข่าวเนื้อหาทางการเมือง ส่วนใหญ่จะพูดถึงการเมืองในภาครัฐสภา มากกว่าการเมืองภาคประชาชน

"ตั้งแต่ปลายปี 2548 บริบททางการเมือง ก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่รัฐบาลใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง รัฐบาลทักษิณ (2548-2549) เกิดภาวการณ์แทรกแซงสื่อ ด้วยการใช้ การตลาด อำนาจทางการเมือง และทุน เข้าแทรกแซงสื่อ ขณะที่รัฐบาลสุรยุทธ์ (2549-2551) หลังการปฏิวัติ ถือเป็นยุคสุญญากาศการจัดระเบียบสื่อ กฎหมายสื่อหลายฉบับออกในช่วงนี้" นายธาม กล่าว และว่า ยุครัฐบาลสมัคร (2551) เกิดการแทรกแซงสื่อในลักษณะใหม่ โดยไม่ได้ใช้ทุน แต่ใช้ "วิวาทะ" โต้ตอบกับนักข่าวโดยตรง ให้สัมภาษณ์และการจัดรายการวิทยุ ซึ่งเท่ากับเป็นการแทรกแซงสื่อด้วยเหมือนกัน

ผจก.ฝ่ายวิจัย มีเดียมอนิเตอร์  กล่าวว่า ในยุครัฐบาลสมชาย (2551) ไม่ค่อยมีเหตุการณ์แทรกแซงสื่อมากนัก เพราะเกิดเหตุความวุ่นวายทางการเมืองและมีการปะทะกันของม็อบ มาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ การนำเสนอการปะทะทางการเมือง มีคำขอร้องให้สื่อรายงานข่าว มีการกำกับทิศทางข่าว และมีเรื่องปิดวิทยุชุมชน

"6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล 4 ยุคอาจมีการการแทรกแซงสื่อที่แตกต่างจากอดีต จากที่เคยใช้อำนาจทุน อำนาจรัฐ การให้โฆษณา มาเป็นการมีสื่อเป็นของตนเอง  ทีวีหลายช่องกลายเป็นฐานเสียงทางการเมือง มีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้น"

สำหรับเนื้อหาในฟรีทีวี ในช่วงแรกๆ นายธาม กล่าวว่า มีการใส่ความคิดเห็นลงไปในการเสนอข่าว เล่าข่าว มีการนำเสนอข่าวไม่รอบด้าน ขาดความสมดุลและเป็นธรรม และไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน ก็ตาม คนที่ยึดครองพื้นที่ข่าวได้มาก คือ ฝ่ายรัฐบาลฉะนั้น 6 ปี เนื้อหาข่าวการเมืองบ้านเราจึงเป็นการแย่งชิงประเด็นข่าว โดยเฉพาะหลังปี 2549-2550 ฟรีทีวีเริ่มหมดความหวัง ก็เกิดเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมที่มีเนื้อหาเฉพาะฝ่ายการเมือง

นายธาม กล่าวถึงการให้ความสำคัญของข่าวการชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2548-2549 ว่า นอกจากสื่อจะให้ความสำคัญกับข่าวการเมืองในแง่เป็นข่าวหลักแล้ว  เทรนด์ข่าวชุมนุม ทุกช่องจะให้ความสำคัญเป็นปรากฎการณ์ทางการเมือง เน้นความเคลื่อนไหว บรรยากาศ และหากจะนำเสนอข่าวโต้ตอบกัน ก็จะเน้นความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างผู้ชุมนุม รัฐ ทหาร ประชาชน ต่างคนต่างคิดกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร เน้นการตั้งคำถาม ทั้งนี้ยังพบปัญหาการใช้คำเรียกผู้ชุมนุม ที่ใส่อคติ ดูถูก ที่สำคัญทุกช่องเน้นความเร็ว การสร้างบรรยากาศ เหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ เป็นต้น

ในส่วนของหนังสือพิมพ์ นั้น ผจก.ฝ่ายวิจัย มีเดียมอนิเตอร์   กล่าวว่า เน้นข่าวที่ใช้คำแบบหวือหวา ขณะที่บทวิเคราะห์ทางการเมือง "สี" ก็ยังต่างกันชัดเจน ซึ่งบทวิเคราะห์ที่มีมุมมองเชิงสมานฉันท์ จะพบได้น้อย

"ช่วงปี 2551  บทบาทของนสพ.แม้จะเน้นนโยบายพรรคการเมืองในช่วงแรก แต่พอใกล้ลงคะแนน สื่อนำเสนอการรายงานข่าวแบบม้าแข่ง จากนั้นนสพ.ก็ทำตัวเป็นผู้จัดการตั้งรัฐบาลเสียเอง โดยละเลยการวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองอย่างจริงจัง"

นายธาม กล่าวถึงการนำเสนอข่าวการเมืองในบ้านเรา ช่วงปี 2551 เปรียบเหมือนการดูละคร ซึ่งผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ จะพบว่า มีแต่ความขัดแย้ง เน้นโต้ตอบกันไปมา ระหว่างนักการเมือง โดยมีตัวละคร ตัวพระเอก ตัวร้าย ที่สำคัญละครมีจุดจบ แต่การรายงานข่าวการเมืองไม่มีจุดจบ วันกันไปมา มีคนออกมาแฉ มีคนออกมาพลิกเกมทำให้เร้าอารมณ์ตลอดเวลา กระบวนการคลี่คลายที่แท้จริงก็ไม่มี  และแม้แต่ข่าวการเลือกตั้งก็มีเรื่องทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เคล็ดลับนักการเมืองเทคนิค โชคลาง 

บทบาทสื่อในการนำเสนอข่าวเลือกตั้งช่วงปี 2551 นายธาม กล่าวว่า ยังผิวเผิน ขาดการวิเคราะห์นำเสนอด้านนโยบายพรรคการเมืองขายฝันหรือทำได้จริงหรือไม่ ขาดการให้ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานทางการเมือง นักข่าวไม่ทำการบ้าน ที่สำคัญการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมือง รัฐมนตรี มีการทำเรื่องนี้น้อย เน้นนำเสนอข่าวเฉพาะสายสัมพันธ์เชิงญาติมิตร อำนาจ และกลุ่มการเมืองเสียส่วนใหญ่ 

"สรุป การนำเสนอข่าวของสื่อในรอบ 6 ปี วนลูป (Loop) อยู่กับข่าวการเลือกตั้ง ยุบสภา ม็อบชุมนุม รายงานข่าวที่เป็นกรอบคิดแบบเดิม เน้นขายความขัดแย้ง รายงานข่าวแบบแยกส่วน ไม่สนใจมิติเชิงบวกทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ สาเหตุ ที่มา คืออะไร ทำให้คุณภาพข่าวขาดความลึก ไม่มีเป้าหมายร่วมกันรายงานข่าวนี้แล้วนำไปสู่อะไร ในที่สุดรายงานข่าวไม่สุดทางของเรื่อง"

ผจก.ฝ่ายวิจัย มีเดียมอนิเตอร์  กล่าวด้วยว่า มีเดียมอนิเตอร์  พยายามจะชี้ให้เห็นว่า  ความรุนแรงทางการเมือง ยังมีปัจจัยเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย บวกกับลักษณะของข่าวแบบนี้ ได้นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด เพราะได้ข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วนนั่นเอง

http://www.thaireform.in.th/multi-dimensional-reform/communication/item/5857-2011-05-16-15-03-11.html

http://www.thaireform.in.th/index.php?option=com_flexicontent&view=items&id=5862:-6-


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น