วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เห็น ‘เงา’ เห็น ‘เรา’

เห็น 'เงา' เห็น 'เรา'

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18:20:22 น.

Share




























ฝรั่งรุกอุกอาจเอื้อม เอาสยาม สนั่นทัพโอ่พระนาม แอบอ้าง กลทูตกึ่งสงคราม กลศึก กลกลอกกำปั่นย่าง สยบย่ำ อยุธยา 

หากใครยังจดจำ  "รุกสยาม ในพระนามของพระเจ้า" นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ขนาดยาวที่ผ่านการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนักของมอร์กาน สปอร์แตซ นักเขียนชาวฝรั่งเศส ถ่ายทอดผ่านสำนวนแปลของ รศ.ดร.กรรณิกา  จรรแสง ได้ คงจะจดจำห้วงประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของขบวนราชทูตฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แสร้งว่ามาเจริญราชไมตรีกับสยาม แท้จริงคือผู้บุกรุกที่ซ่อนตัวไว้ในคราบอาคันตุกะจากต่างแดน 

 

กลการเมืองที่ซ่อนไว้เบื้องหลัง คือเจตนาที่จะเข้ายึดอำนาจในสยามด้วยการทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง  อันที่จริงสยามประเทศนับได้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกในการก้าวไปสู่ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเข้ายึดครองทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรจีน นับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชการล่าอาณานิคมของชาติฝรั่งเศสในอินโดจีน 

 

               แม้จะผ่านล่วงเลยมากว่า 300 ปี แต่หากหยิบเล่มนี้มาพลิกอ่านเมื่อใด จะเห็นภาพเหล่า "คนดังแห่งกรุงศรีอยุธยา" ออกมาโลดแล่นบนหน้ากระดาษราวกับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ได้ยินเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นของกองเรือฝรั่งเศสพร้อมคณะทูตานุทูตที่กำลังเคลื่อนขบวนเข้าสู่เขตน่านน้ำไทยสนั่นดังจนหัวใจเต้นระรัว

 

แต่เรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เป็นบันทึก  เรื่องจริง  เรื่องแต่ง  ของนักเขียน นักวิชาการทั้งไทยและเทศ กลับอาศัยค้นคว้าจากหลักฐานเอกสารชั้นต้นจากทางสยามได้น้อยมาก ทั้งในอดีต ตราบจนถึงปัจจุบัน

 

มอร์กาน สปอร์แตซ  ตั้งข้อสังเกตว่า "เบื้องหลังเรื่องเล่าเหล่านั้น ยังมีเหตุการณ์ ที่มาที่ไปซับซ้อนอีกมากมาย จึงเมื่อผู้คนที่เขียนเรื่องเหตุการณ์ปฏิวัติผลัดแผ่นดินในสยามครั้งกระนั้นพากันเชื่อ(และเขียนตาม)แต่เฉพาะหลักฐานที่ตนได้อ่าน  ทั้งๆ ที่แต่ละเรื่องราวก็จะมี 'เงา' ทาบทับอยู่ และมีมิติมุมมองหลากหลายจากพยานหลักฐานหลายฝ่าย หลายค่าย เหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ผู้สนใจศึกษาจึงพึงควรทำงานตามรอย 'เงา' ที่ไม่เคยปรากฏชัดแจ้งเหล่านั้น"

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของหนังสือ "เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์" ความเรียงเชิงประวัติศาสตร์ของมอร์กาน สปอร์แตซ ด้วยการนำเอกสารชั้นต้นเก่าแก่จากแหล่งข้อมูลสารพัดสารพัน มาเปรียบเทียบ ยืนยัน คัดง้าง โต้เถียงกัน ยิ่งได้เอกสารต้นฉบับลายมือเขียนที่ไม่เคยปรากฏตีพิมพ์ยิ่งดี ยิ่งศึกษา แล้ววิเคราะห์หาเหตุผลเบื้องหลังบันทึกแต่ละฉบับในบริบทของความเป็นจริง ทั้งในส่วนปัจเจกบุคคลและในเชิงประวัติศาสตร์สังคม การเมืองในภาพรวมได้ ก็จะยิ่งใกล้ตัวเจ้าของเงาได้มากเท่านั้น

 

รศ.ดร.กรรณิกา จรรแสง ผู้แปล เล่าให้ฟังว่า  "ความสนุกของการอ่านงานเขียนเล่มนี้อยู่ที่การตามดูวิธีการทำงานค้นคว้าและศึกษาเอกสารของผู้เขียน ด้วยมุมมองที่ซ่อนความเป็นนักเขียนหนังสือเชิงสืบสวนสอบสวนเอาไว้ ส่วนความสนุกที่ได้จากการทำงานแปล คือการได้ถ่ายทอดลีลาภาษาที่ 'นอกกรอบ' งานเขียนแบบนักวิชาการ (ซึ่งอ่านทีไรแล้วเบื่อหรือง่วงแทบตายทุกครั้งไป) "

 

สอดแทรกความสุขและความสนุกด้วยชุดภาพงานศิลปะจากอดีต ทั้งภาพพิมพ์ ภาพเขียนของคนและฉากในประวัติศาสตร์ ภาพบ้านเรือน แผนผัง แผนที่ วิถีชีวิตจากทั้งสองซีกโลก และภาพถ่าย "เงาสยาม" จากจิตรกรรมฝาผนัง ตู้ลายรดน้ำ ฯลฯ ที่ผู้เขียนอุตสาหะตามร่องรอย เท่าที่ยังคงปรากฏเหลืออยู่ในปัจจุบัน

 

"เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์" เปรียบได้กับคู่มือในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการบ้านการเมืองในราชสำนักสมัยอยุธยา และการ "ปะทะสังสรรค์" กับฝรั่ง(เศส) หรือถ้านึกสนุก จะใช้เป็นคู่มือในการอ่าน "รุกสยาม ในพระนามของพระเจ้า" และพิจารณาดูภาพเงาของเราเองในอดีตไปด้วย ก็จะเป็นความสุขใจของผู้แปลอย่างยิ่ง

 

 


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1305019297&grpid=no&catid=02

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น