วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วงวรรณกรรมเดือด ... คำถามถึง "หน้าที่" ของ "นักเขียน"

วงวรรณกรรมเดือด ... คำถามถึง "หน้าที่" ของ "นักเขียน"

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:45:00 น.

Share4


ชูศักดิ์
 


จรูญพร
 


ศิริวร
 


ภาณุ
 

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2554)


 


ในงานแสดงมุทิตาจิต "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมจากนักวิชาการหลายท่านในหัวข้อที่น่าสนใจ

แต่คงไม่มีปาฐกถาไหนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ออกมาจากหอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ได้เท่ากับ "ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน" โดย "รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์"

จริงอยู่ ประเด็น "พันธกิจของนักเขียน" ที่ รศ.ชูศักดิ์กล่าวนั้น เคยพูดถึงมาบ้างแล้วในวารสาร "อ่าน" แต่ก็คงไม่กว้างเท่าการพูดต่อหน้ามวลชน

รศ.ชูศักดิ์ ยกเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 และปฏิกิริยาของนักเขียนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะบทกวีจาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และจีรนันท์ พิตรปรีชา มาเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จึงถือเป็นความท้าทายของกวีและนักเขียนไทยว่าจะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในยุคนี้ไปในทิศทางใด

ตัวอย่างหนึ่งที่ รศ.ชูศักดิ์ ยกมาคือบทกวีของเนาวรัตน์ในหนังสือ "คำขาดของทิดเที่ยง" ซึ่ง รศ.ชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นบทกวีที่พูดถึงเหตุการณ์ในสมัย 14 ตุลาฯ แต่เมื่อมาถึงปี 2553 ที่บรรดาทิดเที่ยงออกมาสวมใส่เสื้อแดงร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ทิดเที่ยงในนามเนาวรัตน์กลับมองว่าพวกเขาเป็นลูกสมุนโจรร้ายที่กำลังต้องการเปลี่ยนประเทศไทย

รศ.ชูศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังเหตุการณ์ดังกล่าวในกลุ่มนักเขียนและกวีได้นิยามเหตุการณ์เป็น 2 นิยามใหญ่ๆ คือ นิยามเผาบ้านเผาเมือง กับการปราบปรามประชาชน พร้อมยกตัวอย่างบทนำในหนังสือ "เพลิงพฤษภา รวมบทกวีร่วมสมัยบันทึกไว้ในความทรงจำ" โดยมี แก้ว ลายทอง ทำหน้าที่บรรณาธิการคัดสรรเรื่องมาประกอบ

"ผมอดถามไม่ได้ว่า แล้วบรรดาเหล่ากวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นนักเขียนเพื่อประชาชน จนกระทั่งเชิดหน้าชูตาในฐานะตัวแทนของเสียงแห่งมโนธรรม พวกเขาไปอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคน ดังนั้น ความตายของพวกเขาจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 จึงอำมหิตกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในแง่ที่ไม่เพียงคนตายเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธความเป็นมนุษย์ แต่ผู้ชุมนุมนับหมื่นนับแสนในเหตุการณ์นี้ถูกทำให้ด้อยค่า ไร้ความหมายยิ่งเสียกว่าโค กระบือ ซึ่งคนเมืองชอบไปซื้อขายชีวิตเป็นประจำ"

(ฟังฉบับเต็มได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=HtQSRRgLQ4A)

หลังปาฐกถานี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันในวงวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง เข้าขั้น "เดือด" กันเลยด้วยซ้ำ

ว่าที่จริงแล้วหน้าที่ของนักเขียนคืออะไรกันแน่ กำลังละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริงหรือเปล่า รวมถึงนี่คือการมองแค่เพียงมุมเดียวตามทัศนคติทางการเมืองของ อ.ชูศักดิ์ จนก่อเกิดการ "เหมารวม" หรือเปล่า"

และจากนี้คือมุมคิดบางส่วนของนักวิจารณ์-นักเขียน ที่ทั้งสองท่านได้ฟังปาฐกถาด้วยตัวเอง

---จรูญพร ปรปักษ์ประลัย---

"ร้อนท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ นี่เป็นบรรยากาศของแวดวงนักเขียน หลังการแสดงปาฐกถาาของ อ.ชูศักดิ์ ที่เหมือนกำหมัดซัดใส่ปลายคางกวี/นักเขียนที่ไม่ได้เขียนงานเอียงข้างประชาชนคนเสื้อแดง กวีรุ่นใหญ่และรุ่นกลางถูกเช็คบิลกันโดยทั่วหน้า หลายชื่อถูกเอ่ยถึงแบบไม่ลังเล ชนิดเล่นกันแบบจะๆ ไปเลย

"ทว่า ดูเหมือน อ.ชูศักดิ์ ไม่ได้คาดหวังว่าการพูดครั้งนี้จะเปลี่ยนกวี/นักเขียนทั้งหลาย ให้หันมาเขียนงานเพื่อประชาชนคนเสื้อแดงได้จริงๆ เพราะอาจารย์ก็คงรู้ดีว่าการพูดด้วยน้ำเสียงกร้าวกลางที่สาธารณะเช่นนี้ ย่อมไม่น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีนัก ดังนั้น การพูดนี้จึงอาจแค่เป็นการระบายสิ่งที่อึดอัดอยู่ภายใน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อ.ชูศักดิ์ ออกมาพูดทำนองนี้ เพียงแต่คราวนี้การพูดได้กระจายไปในวงกว้างกว่าครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น

"สิ่งที่น่าสนใจในเหตุการณ์นี้ นอกเหนือจากการตั้งประเด็นที่ช่างท้าทายให้เกิดการโต้เถียงเพื่อความเจริญงอกงามทางสติปัญญาอย่างเหลือเกินแล้ว ยังเป็นท่าทีแบบประกาศสงครามของนักวิชาการวรรณกรรมอย่าง อ.ชูศักดิ์ ที่ดูเหมือนจะเอียงกระเท่เร่ไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน 

"ประเด็นคำถามที่ อ.ชูศักดิ์ ตั้งขึ้นมา คงทำให้กวี/นักเขียนทั้งหลายต้องนำไปขบคิด เพื่อตอบตัวเองอีกครั้งถึงจุดยืนของแต่ละคน แต่ขณะเดียวกัน มันก็เหมือนงูที่ขว้างไม่พ้นคอ สิ่งที่อาจารย์พูด สุดท้ายจะย้อนกลับมาเล่นงานตัวผู้พูดเองในลักษณะที่ว่า ก่อนที่จะไถ่ถามถึงคุณธรรมของผู้อื่น จงไถ่ถามถึงคุณธรรมของตัวท่านเองเสียก่อน"

---ศิริวร แก้วกาญจน์---

"ในสังคมที่แตกกระจายเช่นสังคมไทย ณ ขณะนี้ การจะมานั่งไถ่ถามถึงพันธกิจของงานเขียน ผมว่ามันไม่น่าจะมีประโยชน์

"เพราะท่ามกลางสภาวะอันแตกกระจายเช่นที่เรารับรู้กันอยู่นี้ แม้แต่ความจริงก็ถูกช่วงชิงจากทุกฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็เชื่อว่าตนเป็นผู้เกาะกุมความจริง ยึดกุมความรู้ที่เชื่อว่าถูกต้องกันคนละชุด 

"ฉะนั้น ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ที่ผมสนใจก็คือ กวี/นักเขียนควรถอดรื้อความคิดสองชุดหลักๆ ของสองอุดมการณ์ที่กำลังปะทะกันอย่างเข้มข้นในสังคมออกมา เพื่อหาโครงสร้างของความบิดเบี้ยวซึ่งกำลังสั่นสะเทือนประเทศเรา แต่ยังมีความจริงอีกแบบหนึ่งก็คือ กวีและนักเขียนเองจำนวนไม่น้อยก็สังกัดอยู่ในอุดมคติสองแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้พวกเขาทั้งสองฟากฝ่ายความเชื่อ ถอดตัวเองออกจากตัวเอง อีกทั้งสองฝ่ายความเชื่อนี้ต่างฝ่ายต่างมุ่งมองกันด้วยสายตาที่กดข่มกันอยู่ เช่นฝ่ายหนึ่งมองว่าอีกฝ่ายมองโลกมองสังคมแบบโรแมนติคเกินไป ขณะอีกฝ่ายก็เห็นฝ่ายตรงข้ามเอ็กโซติคจนเกินจริงไปหน่อย จึงยากที่จะถอดรื้อความคิดที่ปะทะกันอยู่ได้โดยง่าย 

"สังคมวรรณกรรมไทยต้องการนักวิจารณ์วรรณกรรมที่แหลมคม แต่ต้องเป็นนักวิจารณ์ที่ไม่เลือกบรรจุตัวเองลงในกรอบอุดมคติแบบใดแบบหนึ่ง

"แทนที่จะมุ่งวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์เกี่ยวกับประชาชนที่เปลี่ยนไปของกวี นักเขียน ก็ควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า เพราะเหตุใดในยุคปัจจุบันถึงตีความคำว่าประชาชนต่างกันไปคนละขั้วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

"อะไรทำให้การเขียนความหมายของประชาชนโดยกวี/นักเขียน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมถึงเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะที่ฝ่ายซึ่งเรียกตัวเองว่าฝ่ายก้าวหน้า ทำไมถึงพยายามแช่แข็งความหมายของประชาชนไว้ในนิยามเก่าๆ ทั้งที่ประชาชนในทศวรรษที่ 2510 กับ 2550 ถูกหล่อหลอมมาคนละแบบ และแทบจะไม่เหมือนกันเลย 

"ผมเชื่อว่าถ้านักวิจารณ์ลุกขึ้นเอาตัวบทมาถอดรื้อหานิยามความหมายและโครงสร้างของความโกลาหลที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เลือกถอดรื้อตัวบทจากอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง แล้วสถาปนาความหมายให้อีกฝ่ายเพื่อกดข่มอีกฝ่ายลงด้วยวาทกรรม ชี้นิ้วว่าควรจะคิดหรือไม่คิดแบบนี้แบบนั้น โดยลากความหมายเข้าสู่ปริมณฑลของอุดมคติทางการเมืองที่ตนสังกัด ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้สังคมไทยยิ่งแตกกระจายแล้วนั้น

"สังคมเราก็จะได้ความรู้ชุดใหม่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านบางอย่างในทางที่ดีขึ้น" 

---ดร. ภาณุ ตรัยเวช---

"เราอาจจะแบ่งวิธีการมองโลกในสังคมไทยได้เป็นสองแบบ คือแบบวิพากษ์วิจารณ์ (criticizing) ตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่ถูกใจและผิดใจเรา และแบบดื่มด่ำฝันหวาน (romanticizing) คือปักธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้เลว จากนั้นใช้สำนวนโวหาร และเครื่องมือทางวัฒนธรรม เชิดชูสิ่งหนึ่งและขับไล่ไสส่งอีกสิ่งหนึ่ง

"ผมมองต่างจากคนอื่น คือไม่ได้มองไปที่ประเด็นพันธกิจนักเขียน สำหรับผมคุณูปการสูงสุดของปาฐกถาชิ้นนี้คืออาจารย์ได้นำโลกทรรศน์สองแบบฟาดเปรี้ยงเข้าหากัน สังเกตว่าในวันที่ 7 พฤษภาคม มีปาฐกถาทั้งหมดห้าชิ้น ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ แต่เพราะเหตุใดปาฐกถาว่าด้วยวรรณกรรมถึงสร้างกระแสตีกลับรุนแรงสุด

"ผมเชื่อว่าเพราะนี่เป็นปาฐกถาชิ้นเดียวที่คนนอกวงการ (ซึ่งเป็นนักวิชาการ) มองเข้าไปในโลกของนักเขียน ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการมองวรรณกรรมจากโลกทรรศน์ที่แตกต่างไปจากเดิม (แม้แต่จิตร ศรีบูรพา หรือนายผีก็ยังติดอยู่ในกรอบดื่มด่ำฝันหวานแบบเพื่อชีวิต)

"คำถามว่า ′นักเขียนจำเป็นต้องนำเสนอภาพคนตายในโศกนาฏกรรมราชดำเนิน-ราชประสงค์หรือไม่′ จึงมีความหมายน้อยกว่า ′วรรณกรรมไทยมีส่วนสร้างความขัดแย้งในสังคมหรือเปล่า′ และถ้าใช่ ด้วยกรอบความคิดแบบใด ถ้าเราจะเดินออกจากความขัดแย้งนี้ เราควรเลือกหนทางเดิมที่พาเราเดินเข้ามา หรือเปลี่ยนมาใช้โลกทรรศน์แบบอื่นดู

"ถ้าผมจะมีพันธกิจในฐานะนักเขียน คงไม่ใช่การรับใช้ประชาชน แต่เป็นการรับใช้ความจริง"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น