(ที่มา คอลัมน์ออกแบบประเทศไทย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2554)
ในช่วงที่พระอาทิตย์ปลดปล่อยพลังความร้อน"เขา" เป็น "ผู้กำกับ-นักออกแบบ" ภาพยนตร์โฆษณา
ในตอนที่พระจันทร์สาดแสงสีนวล "เขา" คือ "นักเขียน" ขวัญใจวัยฮิพ แต่ทุกขณะเวลา "เขา" คือ"นักสังเกต" ความสุขตัวเอ้
"เขา" คนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์" หรือที่รู้จักในนาม "นิ้วกลม"
บุรุษที่สามารถเห็นมองเห็น "แสงสว่าง" ใน"ความมืด" สามารถสร้าง "พลัง" ให้แก่คนที่ตกอยู่ในภาวะ "อ่อนแอ"
เจ้าของผลงานสร้างความรู้สึกอุ่นๆ อย่างสิ่งมหัศจรรย์ธรรมดา ความสุขโดยสังเกต ฝนกล้วยให้เป็นเข็ม อาจารย์ในร้านคุกกี้ หรืออารมณ์ท่องเที่ยวสไตล์ฮาเฮแบบโตเกียวไม่มีขา กัมพูชาพริบตาเดียว ฯลฯ
24 ชั่วโมงหลัง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา... "หนุ่มหน้าตี๋" พนมมือรับไหว้เราด้วย "นิ้วกลมๆ" ทั้ง 10 นิ้ว พร้อมส่งยิ้มทักทายตามประสาคนอารมณ์ดี
"ผมไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองมากนะครับ" เขาชิงออกตัวดังเอี๊ยด! เบรกอารมณ์คาดหวังจากเรา
ทว่าทุกถ้อยคำที่กลั่นจากความคิดของ "นิ้วกลม" ไม่ทำให้เราผิดหวัง
เขาเปรียบเปรย "ช่วงหาเสียง" ว่า "นักเลือกตั้ง" เสมือน "ลูกจ้าง" ที่หอบใบสมัคร-ประวัติ-แฟ้มผลงาน มานำเสนอ "ประชาชน" เพื่ออ้อนขอสิทธิเข้ามาทำงาน
นั่นหมายความว่า ระยะเวลา 54 วันนี้คือช่วงที่ "ประชาชน" ตัวใหญ่กว่า "คนการเมือง" และน่าจะทำให้มี "ความสุข" ที่สุด?
"เอ๋" แย้งว่า "ความสุขของประชาชน ไม่ควรเอาไปฝากไว้ในมือของนักการเมือง เราไม่น่ามีความสุขกับการที่คุณทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกฯ) จะได้กลับมาหรือไม่ ไม่น่ามีความสุขกับการที่คุณอภิสิทธิ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯอีกสมัยหรือเปล่า ผมกลับรู้สึกว่าเราอย่าเพิ่งรีบมีความสุข"
เพราะความสุขของ "คนไทย" ควรอยู่ที่การติดตามการทำงานของรัฐบาลมากกว่า
"ถ้าได้เห็นเขาเข้ามา และทำอย่างที่บอกเอาไว้ นั่นคือความสุข เราไม่ต้องไปโกหกตัวเองว่ามีความสุข บางทีไอ้ที่เราเชียร์ อาจเข้ามาโกงเราก็ได้ (หัวเราะ) สิ่งสำคัญคือเรามีสิทธิ มีเสียง มีพลัง และรู้เท่าทันพวกเขา นั่นน่าจะดีกว่า"
"นิ้วกลม" เคยทิ้งคำคมไว้ในหนังสือ "โตเกียวไม่มีขา" ว่า "ความฝันก็เหมือนกันกับโตเกียว มันไม่มีขา ถ้าอยากไปถึง ต้องเดินไปหาเอง"
เฉกเช่น "ประเทศไทยที่ไม่มีขา" แต่สิ่งที่ต้องพบ-เจอ หลังเดินออกจากคูหาเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ยังเป็นเรื่องเกินคาดเดาของ "หนุ่มจินตนาการสูง"
"โหย...เดายากมาก แต่ผลมันสำคัญมาก ถ้ามองโลกในแง่ร้าย ไม่ว่าออกทางไหนก็มีปัญหา แต่ถ้ามองโลกในแง่ดี ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชนะแบบขาดพอสมควร ทุกอย่างอาจกลับไปสู่ระบบเดิมก็ได้ ผมมองโลกในแง่ดีมากเลย อาจจะดีเกินไป (พูดพลางยิ้มตาหยี) แต่ถ้ามองโลกตามความเป็นจริง คิดว่าปัญหาคงไม่จบง่ายๆ หากได้รัฐบาลอะไรสักพรรคหนึ่ง คงยังมีม็อบออกมา ก็อยู่ที่ว่าเราบริหารตรงนี้ได้สมดุลแล้วหรือยัง เพราะอย่างน้อย การเปิดให้มีการเลือกตั้ง เปิดให้มีการเช็คคะแนนเสียงอีกครั้ง เป็นวิธีที่ค่อนข้างแฟร์ (ยุติธรรม) แล้ว จะได้ดูว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกอะไร"
หลายคน-หลายพวกพยายามชี้ชวนให้เชื่อว่า "การเลือกตั้ง" เท่ากับ "คำตอบ" และ"ทางออก" ของประเทศ
แต่ในทรรศนะของ "เอ๋" เห็นว่า "คำตอบของประเทศมันต้องตอบกันยาว ถ้าเปรียบเป็นข้อสอบมันไม่ใช่ปรนัย ไม่ใช่ ก. ข. ค. ง. ว่าคนกาข้อ ค. เยอะที่สุด แล้วจะเป็นคำตอบสุดท้าย"
แต่คำตอบของประเทศอยู่ที่การ "เปิดใจ" รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตัวเรามากกว่า!
"ทุกคนคงเห็นอยู่แล้วว่ามันมีปัญหา มีความขัดแย้งจากแนวคิดที่หลากหลาย เมื่อไหร่ที่เราเปิดใจรับฟังความคิดที่มันไม่เหมือนกับเราเลย แล้วสามารถนั่งฟังได้ เมื่อนั้นผมว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะประชาธิปไตยเกิดจากคนมีปากมีสิทธิพูด คนมีหูก็ควรจะฟัง ไม่ใช่คุณไม่ฟังเขาเลย เพราะเขาไม่อยู่ข้างคุณ"
กระนั้นเขายอมรับว่า กว่าจะถึงวันที่คนในสังคมพร้อมฟังเสียงสะท้อนมุมต่าง ต้องใช้เวลา "ทำใจ" พอสมควร เพราะทุกคนถูกโน้มน้าวให้เข้าสู่วังวนความเชื่อตามแบบแผนใดแบบแผนหนึ่ง
"ถ้าพูดถึงยุคสมัยของความคิดมนุษย์ พอเรารวมกลุ่มกัน เรามักเชื่อในแบบแผนสักอย่างหนึ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งถูกต้อง สมมุติว่าการแบ่งประเภทของสัตว์ เราก็จะแบ่งสัตว์ออกเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แต่ในสารานุกรมจีนแบ่งสัตว์แปลกๆ เช่น สัตว์ที่ทำแจกันแตก สัตว์ที่เลียหูลูก (หัวเราะ) มันทำให้เห็นว่าวิธีการแบ่งมันหลากหลายกว่าที่เราคิดนะ"
เช่นเดียวกับศิลปะของแต่ละยุคที่สะท้อน "ความจริง-ความดี-ความงาม" ในรูปแบบต่างกัน
"ยุคหนึ่งมีศิลปินคนหนึ่งเอาโถฉี่ไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ แล้วบอกว่านี่คือศิลปะ มันก็ช็อคความรู้สึกคน แล้วก็เกิดคำถามว่าอย่างนี้ใช่ศิลปะหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้มันถึงยุคที่ความจริง-ความดี-ความงาม มันหลากหลาย เกินกว่าที่จะมีหนึ่งเดียว"
"นิ้วกลม" บอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ "ฐานใจ" และ "ฐานคิด" ที่ต้องยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนที่ถูกที่สุด ดีที่สุด ต้องเชื่อว่ายังมีความงามแบบอื่นอยู่
ดังนั้น เมื่อมีใครเอาชุดความจริง-ความดี-ความงาม ที่ไม่ตรงกับใจของเขามานำเสนอ "เอ๋" จึงยินดีรับฟังเสมอ เพราะเชื่อว่า "ฟังมาก-กว้างมาก-มีโอกาสมาก"
"การฟังทำให้เราไม่แคบ เราไม่จำเป็นต้องไปถกเถียงเขา แต่ต้องยอมรับว่านั่นคือหนึ่งในความจริงที่เขาเชื่อ แม้ท้ายที่สุดเราอาจจะเห็นไม่ตรงกันเลย แต่เราจะเข้าใจอีกคนมากขึ้น อย่างน้อยคุณไม่เชื่อว่าโถส้วมเป็นงานศิลปะ แต่คุณน่าจะฟังเขานะว่าทำไมคิดอย่างนั้น สุดท้ายใจคุณก็เริ่มกว้างขึ้น ครั้งหน้าพอเห็นคอห่าน (หัวเราะ) คุณอาจรู้สึกว่า เอาวะ มันอาจจะใช่ก็ได้ แทนที่คุณเคยอยากจะเอาค้อนทุบโถส้วมทิ้ง เพราะคิดว่าไม่ใช่งานศิลปะ ตรงนี้สำคัญ โลกน่าจะสวยขึ้น"
ด้วยกรอบคิดที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น ทำให้ต่างคนต่างยึดติด และกลายเป็นบ่อเกิด"สงครามสี" ในประเทศไทย
"เราไม่น่าจะแบ่งโลกออกเป็นขาว-ดำ หรือเหลือง-แดง ไม่ควรแบ่งเป็นสอง เราถูกหลอกให้แบ่งแบบนั้น คนหนึ่งคนอาจมีความเชื่อบางอย่างที่เห็นด้วยกับทางสีแดง แต่บางครั้งพอไปฟังทีวีช่องเหลือง ก็เห็นด้วยในบางประเด็น พอเราไปจัด ไปกีดกัดคนให้เป็นอะไรสักอย่าง ผมว่ามันทำให้คนอึดอัด บางครั้งเขาไม่ได้อยากเลือกว่าเป็นสีอะไร"
แต่เมื่อถูกบังคับให้ "เลือกสี" และ "ขีดเส้น" ให้ไปรวมกลุ่ม โอกาสในการ "เปิดหู"รับฟังอีกฝ่าย จึงน้อยลงอย่างน่าเสียดาย
"ผมเชื่อว่าการเกิดขึ้นของกลุ่มพลังต่างๆ หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจเนี่ย เป็นสิ่งที่ดี มันดีมากเลยตอนที่คุณทักษิณเป็นรัฐบาล แล้วฝ่ายพันธมิตรออกมา เราได้ยินข้อมูลที่ไม่เคยรู้ หรือตอนคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็มีฝ่ายแดงออกมา เราก็รู้ข้อมูลที่ไม่รู้ ถ้าเราฟังทั้งหมด เฮ้ย! มันดีนะ แต่พอเราไปชอบใครสักคนมากๆ แล้วบอกอีกพวกโกหก อย่างนี้ทำให้เราไม่รู้ข้อมูลดีๆ เมื่อไหร่ยิ่งแบ่ง ก็ยิ่งอยู่กันไม่ได้ ผมมีโอกาสนั่งคุยกับพี่ๆ เพื่อนๆ ก็เหมือนกับทุกกลุ่ม มีทั้งเหลืองและแดง แต่ทุกคืนที่ได้นั่งคุยกันยาวๆ จะเป็นคืนที่แฮปปี้มาก เพราะทุกคนจะกลับบ้านไปด้วยการยอมรับรู้ว่าทำไมเพื่อนคิดแบบนั้น แม้ต่างคนต่างกลับด้วยความเชื่อแบบเดิม แต่มาครั้งหน้าก็ไม่ต่อยกันล่ะ และไม่ต้องไปชี้เพื่อน สิ่งที่น่าเศร้าของสังคมนี้ นี่แดง นี่เหลือง (ชี้นิ้ว) ถ้าเกิดขึ้นแบบนี้เรื่อยๆ อยู่ยากมาก"
เมื่อนึกถึง "การเมืองไทย" ณ ปัจจุบัน ภาพ "เครื่องปั่น" ผุดขึ้นในหัว "นักคิด-นักเขียน"
"ผมคิดถึงอะไรที่มันปั่นหลายๆ สี หลายๆ รสชาติรวมกัน ซึ่งเรายังไม่ชิน เหมือนเราเคยกินแต่น้ำส้ม หรือบางคนกินแต่น้ำฝรั่ง ก็นึกว่าสองอย่างนี้ไม่ควรผสมกัน เพราะเชื่อว่าน้ำที่อร่อยคือน้ำส้มล้วนๆ หรือน้ำฝรั่งล้วนๆ แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายมันจะปั่นไป จนเรารู้สึกว่าเฮ้ย! จริงๆ มันก็กินได้นะ มันก็อร่อยดี และอาจไปถึงจุดที่ว่าเรากลับไปกินน้ำส้มเพียวๆ แบบเดิมไม่ได้ วันนี้เราอยู่ในจุดที่ความคิดหลากหลายมากๆ กำลังคละเคล้ากันอยู่ และก็เรากำลังชิมมัน พยายามปรับตัวกันอยู่ สุดท้ายเราอาจมีความสุขกับการที่มันปั่นรวมกันก็ได้"
ถ้าให้ลองคิดมอตโตเก๋ๆ เพื่อใช้ "รีแบรนด์" ประเทศไทยที่ติดภาพลักษณ์ "ด้านลบ"ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา
"ครีเอทีฟ" ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันออกแบบโฆษณาสิ่งพิมพ์ เพื่อรณรงค์ประเทศไทยปลอดจากคอร์รัปชั่น ของสมาคมบางกอก อาร์ท ไดเรคเตอร์ส บอกว่า"ก่อนอื่นต้องเลิกคิดว่าประเทศเราเป็นสินค้า (หัวเราะ) หรือเราต้องเลิกเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นด้วยโปสเตอร์ไม่กี่ใบ หรือบิลบอร์ดไม่กี่อัน มันไม่ใช่เรารักกัน สามัคคีกัน โดยไม่ทำอย่างอื่นเลยนอกจากการทำป้าย และเอาพรีเซ็นเตอร์มายืน มันเหมือนเราหลอกตัวเอง ผมว่ามันไม่ได้ทำให้เรารักกันจริงๆ"
"แล้วเราต้องรักกันหรือเปล่า?" เขาโยนคำถามกลับ
ก่อนเฉลยโดยพลัน "เราอาจไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่เราต้องยอมรับกัน และเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกัน ไม่ต้องรักกันโดยไร้เหตุผล เรามีเหตุผลที่จะไม่รักกัน รับฟังกันน่าจะดีกว่า"
เอ๋กล่าวต่อว่า ถ้าจะ "รีแบรนด์" ประเทศจริงๆ สิ่งที่สร้างมาทั้งหมด มันเป็นแค่การ"สร้างแบรนด์" อย่าง "สยามเมืองยิ้ม" ที่เป็นการหลอกให้เราเชื่อว่าเราเป็นแบบนั้น จนไปบีบบังคับ-กดทับตัวเองว่า ไม่ว่ามีปัญหาอะไร เราก็จะยังยิ้ม
"แม้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในบ้านเมือง แต่คนไทยก็ยังยิ้ม เฮ้ย! มีบางคนที่เขาไม่ยิ้มนะ เลยถูกปิดความจริงบางอย่างไว้ คือ...ไม่ต้องยิ้ม หรือรีบยิ้มก็ได้ครับ ยิ้มก็ยิ้มหลอกๆ อย่าให้ประเทศเราต้องถูกจำกัดด้วยประโยคสวยๆ เพียงแค่ไม่กี่ประโยค ผมว่าเรายอมรับความจริงกันดีกว่า"
ภาพเมืองไทยในฝันของ "นิ้วกลม" จึงเป็นภาพที่คนทุกกลุ่ม-ทุกขั้ว-ทุกค่าย-ทุกสี มานั่งพูดคุยกันได้ เปิดเผยความคิดตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องปลดระวางความรู้สึก "ฝักใฝ่" ขั้วไหนออกจากจิตใจ
"ทุกคนไม่ต้องซ่าหริ่มอ่ะ ซ่าหริ่มก็ไม่ผิด แดงก็ไม่ผิด เหลืองก็ไม่ผิด แต่คุณอย่าดูถูกคนอื่น ลองฟังคนอื่นดูบ้างไหม คือ...ผมเชื่อนะว่าไม่มีผู้นำคนไหนดี 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีคนมาวิจารณ์ผู้นำคนนั้นให้คุณฟัง มันโคตรดีเลย คุณควรฟัง ไม่ใช่รักผู้นำของคุณ จนคิดว่าคนอื่นไม่ถูก"
"ผู้นำที่ดี" ในทรรศนะของ "เอ๋" ต้องไม่คิดว่าตัวเองถูกตลอด แต่ต้องเปิดโอกาส-เปิดพื้นที่ให้ "ผู้ตาม" มีโอกาสขึ้นมานำบ้าง
"ถ้าเขานำคน 60-70 ล้านคนในประเทศอยู่คนเดียว โอ้โห! เหนื่อยนะ เป็นนายกฯไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นนายกฯคนเดียว คุณต้องกระจายความเป็นผู้นำของคุณไปยังชุมชนต่างๆ เพราะชุมชนเขารู้ความต้องการของตัวเองดี ผู้นำที่น่ารัก น่าจะให้มีผู้นำเล็กๆ เยอะๆ และฟังผู้นำเล็กๆ บ้าง ถ้าเรากระจายให้มีผู้นำเล็กๆ เกิดขึ้น มันก็น่าอยู่ เราต้องเชื่อว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีพลัง โดยไม่จำเป็นต้องไปสังกัดแบบถาวรอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พยายามตรวจสอบและรู้เท่าทันเขา และมีสิทธิท้วงติง ถ้าคิดได้แบบนี้ คนตัวใหญ่ก็จะทำร้ายเรายากขึ้น"
ถ้าได้สิทธิเป็น "ผู้นำเล็กๆ" เดี๋ยวนี้จะทำอะไร?
"เอ๋" ตอบทันควันอย่างไม่ต้องคิดว่า "ลาออกครับ" ก่อนระเบิดเสียงหัวเราะทิ้งท้าย!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น