วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อาจารย์ชาญวิทย์กับวิกฤตการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน วั

อาจารย์ชาญวิทย์กับวิกฤตการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.





โดย เกษียร เตชะพีระ 



อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บุกเบิกโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(เรียบเรียงจากคำกล่าวเกริ่นนำปาฐกถาของผู้เขียนในงาน "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 7 พฤษภาคม ศกนี้)

ถึงแม้จะเหนื่อยล้าจากเพิ่งตรวจข้อสอบปลายเทอมเสร็จ แต่พอคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่ง นิตยสารฟ้าเดียวกัน ออกปากเชิญชวนให้มาร่วมปาฐกถาในโอกาสอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อายุครบ 70 ปี ผมก็ตอบรับทำให้โดยไม่ลังเล

ทั้งนี้เพราะอาจารย์ชาญวิทย์เป็นครู 1 ใน 4 ท่าน ที่เปลี่ยนวิธีมองโลกของผม

ยิ่งกว่านั้นในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอันดุเดือด แหลมคม รุนแรงรอบหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ชาญวิทย์ยังเป็นหลักยึด-ที่พึ่ง-และแบบอย่างของอาจารย์นักวิชาการและปัญญาชน รุ่นลูกศิษย์หลานศิษย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสังคมไทยที่กว้างออกไป

ที่อาจารย์เป็นเช่นนั้นได้ในขณะที่ครูบาผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยพากันเขว ผมเห็นว่า เพราะมีหลัก 3 ประการที่ท่านยึดไว้มั่นคง กล่าวคือ: -

1) เป้าหมายทางการเมืองที่สุดโต่งนั้นทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ 

เราอาจสกัดกลั่นข้อเขียนคำอภิปรายและสัมภาษณ์หลายครั้งในระยะหลังของอาจารย์ชาญวิทย์ที่เน้นความสำคัญของการประนีประนอมปรองดอง "เกี๊ยะเซี๊ยะหรือสมานฉันท์" แทนการแตกหัก (อาทิ www.prachatai.com/journal/2009/08/25534 และ www.prachachat.net/ view_news.php?newsid=02pol01270553§ionid=0202&day=2010-05-27) ได้ว่า....

ต่อให้เป็นเป้าหมายการเมืองที่ดี แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นเอาไว้แต่เพียงเป้าเดียว โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายการเมืองอันดีงามอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด เช่น

จะเอาแต่ประชาธิปไตย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ

จะเอาแต่ต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยไม่คำนึงถึงประชาธิปไตย

จะปกป้องสถาบันหลักของบ้านเมือง แต่ไม่คำนึงถึงสิ่งดีงามอื่นๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่ระเบียบการเมืองหนึ่งๆ พึงมีเสียแล้ว

สุดท้ายมันจะส่งผลทำลายเสียหายต่อบ้านเมือง มากกว่าจะสร้างสรรค์สิ่งดีงามขึ้นมา เพราะลักษณะของชีวิตทางการเมืองที่เป็นจริงนั้นมันเป็นพหูพจน์

การเมืองจึงเป็นเรื่องของการพยายามหาจุดประนีประนอมที่ลงตัวระหว่างเป้าหมายการเมืองต่างๆ อันหลากหลาย แทนที่จะสะวิงสุดโต่งสุดขั้วแตกหักไปทางหนึ่งทางเดียว

2) วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย

ในระยะที่ผ่านมา พลังการเมืองบางฝ่ายไม่เลือกวิธีการที่ใช้ ไม่ว่ารัฐประหาร, ใช้ความรุนแรง, ก่อการร้าย, โกหกหลอกลวงใส่ร้ายป้ายสี, ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างจากตัว เพื่อไปบรรลุเป้าหมายที่ตนเห็นว่าถูกต้องดีงาม 

แต่ในที่สุดแล้วการณ์กลับตาลปัตรเป็นว่าวิธีการอันเลวร้ายนั้นได้ไปทำลายเป้าหมายดังกล่าวลงหมด ยกตัวอย่างเช่นรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ของ คปค.

คปค. กล่าวอ้างว่าที่ก่อรัฐประหารก็เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น, เพื่อรักษาความรู้รักสามัคคีในหมู่คนไทย, และเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ทว่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา คอร์รัปชั่นหมดไปจากวงการรัฐบาลหรือ?

คนไทยรักสามัคคีกันมากขึ้นหรือ?

สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร? ด้วยวิธีการรัฐประหาร

สำหรับอาจารย์ชาญวิทย์การยึดมั่นสันติวิธีและการเจรจาหาทางออกด้วยความรู้และเหตุผล ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งในประเทศเราเอง จึงเป็นสาระสำคัญกว่าเป้าหมายเรื่องดินแดนหรืออำนาจอธิปไตยใด ๆ (อาทิ http://matichon.co.th/mtc-flv-window.php?newsid=1297138809 และ www.oknation.net/blog/piggylin/2011/02/18/entry-4)

3) คำโกหกใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นไม่ยั่งยืน

ในระยะที่ผ่านมานักวิชาการผู้พยายามยึดหลักวิชา ตั้งตนอยู่ในความเที่ยงธรรม มักถูกด่าว่า โจมตีใส่ร้ายป้ายสีจากพลังการเมืองที่ขัดแย้งกันฝ่ายต่างๆ อย่างดุเดือดเลวร้าย รุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยผ่านสื่อสารมวลชนที่อยู่ในมือของพวกเขา ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี เว็บไซต์ หรือบนเวทีชุมนุมอภิปรายต่างๆ จากข้างถนน, ห้องประชุมไปจนถึงกลางรัฐสภา (อาทิ www.prachatai.com/journal/2006/11/10711, www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000054643)

ในฐานะอาจารย์อาวุโสและอดีตอธิการบดีผู้มีฐานะบทบาทสำคัญ อาจารย์ชาญวิทย์จึงค่อนข้างโดนโจมตีหนักหน่วงเป็นพิเศษ (อาทิ www.prachatai3.info/journal/2007/05/12828, www. prachatai.com/print/18167 และ www.manager. co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000023205)

ท่ามกลางสรรพศัพท์สำเนียงระเบ็งเซ็งแซ่ดังกล่าว ผมพบว่าวิธีอยู่กับมันก็คือทำใจเสียว่า

ถ้าอะไรจริง แม้ไม่มีใครพูดถึงเขียนถึง มันก็จริง

แต่ถ้าอะไรไม่จริง ต่อให้เอาไปพูดไปเขียนกันเลอะเทอะวุ่นวาย มันก็ไม่จริงขึ้นมาได้

หากมองเช่นนี้ได้ ใจเราก็จะค่อยสงบเยือกเย็นลง

และปล่อยให้ความจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ในท้ายที่สุดว่า ระหว่างอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการ  และเจ้าพ่อสื่อผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายนั้น ประวัติศาสตร์จะพิพากษาว่าอย่างไร?

ผมคิดว่าบทเรียนที่เราพอสรุปได้จากบทบาทและประสบการณ์ของอาจารย์ชาญวิทย์กับวิกฤตการเมืองไทยรอบหลายปีที่ผ่านมาก็คือ พลังการเมืองใดละทิ้งหลักการ 3 ข้อข้างต้นนั้น

ถึงชนะใหญ่โตก็ชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน

รังแต่จะพ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ เสื่อมถอย แตกแยก หดเล็กลงในระยะยาว (www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1297584699&grpid=no&catid=04, http://news.mthai.com/ headline-news/112145.html และ www.bangkokpost.com/print/234122/)

ดังที่เราเห็นกันอยู่ว่าถึงขั้นใช้วิธีการอันเลวร้ายที่เคยทำกับคนอื่นมาเล่นงานทำลายพวกพ้องเดียวกันเองแล้วตอนนี้ (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1304654083&grpid=no&catid=&subcatid=)

และน่าเชื่อว่าสุดท้ายวิธีการเลวร้ายดังกล่าวก็จะย้อนมาทำลายตัวผู้ใช้เองในที่สุด!

                                http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1305897541&grpid=no&catid=02

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น