ถก พ.ร.บ.กสทช.นักวิชาการเทใจลังเลบังคับใช้งาน
วันที่ 19/11/2553 13:30 (ผ่านมา 172 วัน 16 ชั่วโมง 21 นาที)เปิดเวทีสัมมนาอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์และโทรคมนาคม หลังพ.ร.บ.กสทช.คลอด ทีดีอาร์ไอ ห่วง รูปแบบการประมูลคลื่น ด้านเนชั่นมองเกิดผลเสียมากกว่าดี ขณะที่สมาคมเคเบิลทีวีไม่แน่ใจเกิดประโยชน์ ส่วน คปส. ติงการเมืองอาจทำชะงัก...
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ในฐานะกรรมาธิการใน คณะกรรมาธิการร่วม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... เปิดเผยภายในสัมมนาอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์และโทรคมนาคมหลัง กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้:โจทย์ต่อไปคืออะไรว่าหาก กฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศใช้ในเดือน ธ.ค.2553 การตั้งคณะกรรมการ กสทช.จะใช้เวลาสรรหาและแต่งตั้งประมาณ 6 เดือน หรือ กลางปีหน้าก็น่าจะได้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวซึ่งกระบวนการหลัง จากนั้นผู้ใช้คลื่นจะต้องมาแจ้งการใช้คลื่นต่อ กสทช.เพื่อจะได้จัดทำแผนแม่บทต่อไปและจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ โดยถ้าเป็นไปตามกรอบก็คาดว่าการประมูล 3 จีน่าจะเกิดในช่วงธ.ค.2554
สำหรับ ประเด็นความเป็นห่วงกรณีการระบุใน ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ให้จัดสรรคลื่นความถี่โดยใช้รูปแบบการประมูลคลื่นความถี่นั้นมองว่า กสทช.สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลแยกกันในแต่ละระดับ โดยการประมูลคลื่นความถี่มีเฉพาะในกิจการโทรคมนาคมไม่รวมถึงการใช้คลื่นใน กิจการวิทยุคมนาคม ส่วนความกังวลในเรื่องผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบหมายให้ผู้อื่นประกอบกิจการแทนไม่ได้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ควรสอบถามความเห็นทางกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าบทบัญญัติ เปิดช่องให้มีการทำบริการเช่าใช้โครงข่ายเพื่อทำตลาด หรือ เอ็มวีเอ็นโอ หรือไม่ และถ้าทำไม่ได้ก็ควรเสนอแก้ไขกฎหมาย
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มองว่ากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะยังคงอยู่ในภาวะสุญญากาศเช่น เดิมถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.กสทช.จะมีการประกาศใช้แล้วก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากตามกรอบตั้งคณะกรรมการ กสทช.ภายใน 180 นับ จากวันที่กฎหมายประกาศใช้ น่าจะตรงกับช่วงยุบสภาหรือมีการเลือกตั้ง จึงเชื่อว่า กสทช.ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน มองว่ากฎหมายฉบับนี้ที่ออกมาน่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ยกตัวอย่างเช่นให้ภาคประชาชนใช้คลื่นประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ชั่วคราวใน พื้นที่ซึ่งมีความถี่เพียงพอ หลังทำแผนแม่บทบริหารคลื่นแม้จะยังไม่ปรับสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลซึ่งเรื่อง นี้จะทำให้โทรทัศน์ชุมชนเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก
นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการ กสทช.จะมีความรู้เรื่องกิจการโทรทัศน์มากน้อยเพียงใด โดยถ้าหากผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ไม่มีความรู้จะทำให้เกิดปัญหาผู้ประกอบการ ไล่ซื้อลิขสิทธิ์รายการทีวี เพื่อทำออกอากาศเฉพาะช่องของตนเองเท่านั้นจนทำให้เคเบิลทีวีรายเล็กอยู่ไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้า กสทช.เกิด จะทำให้มีโทรทัศน์ท้องถิ่นเกิดขึ้นตามมา ซึ่งยังรู้สึกกังวลว่าคลื่นจะรบกวนกิจการเคเบิลทีวีทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาเพราะแผนแม่บทที่จะเข้ามาดูแลน่าจะเกิดประมาณกลางปี 2555
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ หรือ คปส. กล่าวว่า ห่วงปัจจัยทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพที่อาจทำให้ทุกอย่างต้องชะงัก ขณะเดียวกันมีความกังวลว่ากระบวนการสรรหาจะมีการฟ้องร้องตามมาอีกหรือไม่ รวมถึง ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการ กสทช.ก็อาจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ1-2 ปี เพื่อจัดทำแผนแม่บท อย่างไรก็ตามการทำแผนแม่บทยังเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากเนื้อหาระหว่างทีวี สาธารณะ เคเบิลทีวีมีความต่างกัน ในขณะที่การดูแลเนื้อหายังมีความต้องการกำกับดูแลแบบหลอมรวม
ไทยรัฐออนไลน์
ที่มา: ไทยรัฐ
http://thairecent.com/Technology/2010/755243/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น