วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เมื่อ คปร.ประกาศไม่ใช่ "อรหันต์ " สั่งลาเวทีปฏิรูป...

เส้นทางสายปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้ยุติบทบาทลงอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 15 พฤษภาคม หลังจากเดินหน้าลุยงานมาได้กว่า  10 เดือน 

 

ย้อนกลับในช่วงเริ่มแรกที่กระแส "สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" ถูกจุดพลุขึ้นในสังคม กรรมการปฏิรูปได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น รับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน ก่อนรวบรวม และนำข้อมูลมากาง ถกเถียง ก่อนจะตกผลึก และเจียระไนออกมาเป็นข้อเสนอใหญ่สองชุด

นั่นคือ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ซึ่งมีการนำเสนอสู่สาธารณชนไปก่อนหน้านี้ 

ขณะเดียวยังมีอีกหลายเรื่องดีๆ  ที่เตรียม 'จ่อคิว' เผยแพร่สู่ภาคประชาชน แต่ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียที จนแล้วจนรอด เสียงระฆังก็ดังหมดเวลา เพราะต้องเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งเนื้อหาในส่วนที่เหลือ คปร. จึงทำได้เพียงรวบรวมเป็น'พิมพ์เขียว' แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย "ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ทิ้งทวนเป็นชุดสุดท้าย

ทว่าในระดับปัจเจก กรรมการปฏิรูปแต่ละท่าน จะสั่งลาเวทีปฏิรูปอย่างไรบ้าง...? ทาง "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย จะพาไปเจาะลึก (เจาะใจ)...ไล่เรียงดังนี้ 

นางสมปอง เวียงจันทร์  

"เวที คปร. ถือเป็นเส้นทางหนึ่งที่เข้าถึงคนจน ทำให้คนจนมีโอกาส มีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตของตนเอง"

ชาวบ้านอย่างดิฉัน ภูมิใจมากที่เห็น 'ด็อกเตอร์' หลายคนพูดถึงปัญหาของคนจนที่ไม่มีสิทธิในการทำกิน ไม่มีสิทธิในเข้าถึงทรัพยากรของตนเอง อีกทั้งการที่ 'ชาวบ้าน' ได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการปฏิรูป ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อการจัดสรรพลังงานของตนเอง โดยเฉพาะกรณีการนำน้ำจากแม่น้ำมูลไปใช้ในการผลิตพลังงาน เพื่อคนส่วนใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในชีวิต การทำมาหากินของคนในลุ่มน้ำมูน ที่ยึดอาชีพทำประมงหาปลาในการเลี้ยงปากท้อง 

"เวที คปร. ถือเป็นเส้นทางหนึ่งที่เข้าถึงคนจน และถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เส้นทางที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ทำให้คนจนได้มีโอกาส มีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตของตนเองมากขึ้น และหวังว่าในโอกาสต่อไป จะได้เห็นคนจนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปตนเอง ปฏิรูปสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต"

ดร.บัณฑร อ่อนดำ 

"เราไม่ได้ 'โยนลูก' แต่การปฏิรูปที่แท้จริงนั้น จะต้องเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม" 

การทำงานด้านการปฏิรูปในช่วงที่ผ่านมาถือว่า ได้เรียนรู้อย่างมาก เพราะงานส่วนใหญ่เน้นการปฏิบัติ แต่เมื่อ คปร. ยุติบทบาทลง ผมก็ยังคงจะสานงานดังกล่าวต่อไป โดยจะนำข้อเสนอของ คปร. กระจายไปยังหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางปฏิรูปในวงกว้าง ขณะเดียวกัน จะมีการข้อเสนอดังกล่าวไปย่อยให้ง่ายต่อการเข้าใจและการรับรู้ของประชาชน

ทั้งนี้ อย่างที่นายอานันท์ (ปันยารชุน) บอกไว้ว่า เราไม่ได้ 'โยนลูก' แต่การปฏิรูปที่แท้จริงนั้นนั้น จะต้องเกิดจากทุกภาคส่วนของสังคม ที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อน และท้ายที่สุด จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงได้

นางรัชนี ธงไชย 

"ภาคประชาชนต้องบังคับให้พรรคการเมืองทุกพรรค หยิบแนวทางปฏิรูปไปเป็นนโยบาย"

แนวทางการปฏิรูปที่ คปร เสนอไปนั้น จะไม่มีทางสำเร็จได้เลย หากภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยประชาชนจะต้องรู้ว่า ตนเองมีอำนาจ นั่นคือ การมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้ง ฉะนั้น ภาคประชาชนจะต้องบังคับให้พรรคการเมืองทุกพรรค หยิบแนวทางการปฏิรูปไปเป็นนโยบาย

ส่วนสิ่งที่อยากโฟกัส คือเรื่องการศึกษาของเด็ก ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กแต่ละคนมีความฉลาดที่แตกต่างกัน การจัดการศึกษาจึงต้องส่งเสริมให้เด็กมีความฉลาดตามทักษะของตนเอง เพื่อสร้างความภูมิใจและทัศนคติเชิงบวกให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ ขณะเดียวกัน สังคมต้องยอมรับว่า ความฉลาดของเด็ก จะต้องไม่ใช่เฉพาะความฉลาดตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเท่านั้น

นายศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 

"คปร. ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการขับเคลื่อนและจุดประกายเท่านั้น ส่วนคนที่แสดงจริงๆ ต้องเป็นคนในท้องถิ่น"

จากประสบการณ์และการลงไปปฏิบัติการณ์ในพื้นที่ ทำให้ค้นพบว่า ผู้บริหารในประเทศส่วนใหญ่มักคิดว่า 'ประชาชนโง่' แต่ทว่า ในปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้โง่เสียแล้ว เนื่องจากสังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร (Information) คนท้องถิ่นมี Information ดีกว่านักการเมืองบางราย อีกทั้งความรู้ที่ประชาชนมียังดีพอที่จะนำไปคิดต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความกล้าในการเปิดเผยความจริงมากขึ้น ใครเข้าไปรังแกหรือบุกรุกที่ดิน ชาวบ้านเปิดเผยชื่อหมด เนื่องจากปัจจุบันการเคลื่อนไหวในลักษณะปัจเจก ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน

"วันนี้ คปร. ได้มีข้อเสนอออกมา ซึ่งเปรียบเสมือนการจุดประกายให้กับสังคม แต่การจะขับเคลื่อนคงไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกัน เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ มีโอกาสนำความจริง ความเดือดร้อนในแต่ละท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยน เพื่อให้เขยิบแนวคิดเรื่องการทำประชาพิจารณ์ ให้กลายเป็น 'ประจำจารณ์' มากขึ้น"  

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ ผมย้ำว่า เป็นแต่เพียงผู้ช่วยขับเคลื่อนและจุดประกายเท่านั้น แต่คนที่จะแสดงจริงๆ ต้องเป็นคนในท้องถิ่น คนที่เดือดร้อนจริงๆ ที่จะทำความจริงให้ปรากฏ และนำความจริงดังกล่าวเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า 'ประชาประจาน'

ส่วนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น จะต้องไม่ใช่แค่การกระจายเฉยๆ แต่ต้องสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนในท้องถิ่น ในลักษณะภาคประชาสังคม ขณะที่ชุมชนจะต้องไม่อยู่ในรูปของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอที่ครอบโดยข้าราชการ แต่ต้องสร้างสำนึกร่วมของคนในแผ่นดิน ของคนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น  

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ 

"อำนาจรัฐในสังคมไทยถูกผูกขาดจากราชการและทุน ไม่มีแม้แต่น้อยที่ชาวนา-กรรมกรจะมีส่วนในอำนาจดังกล่าว"

สิ่งที่เราต่อสู้กันมาอย่างยาวนานคือ การต่อสู้ให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจักรกลที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำดังกล่าวคือ 'ความสัมพันธ์ศิโรราบ' ซึ่งกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ดังกล่าว และลักษณะเสียเปรียบอย่างมากก็คือ ชาวนาและคนงาน

ยกตัวอย่าง 2 เรื่องที่ชี้ให้เห็นถึงความ ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำที่เลวร้าย ที่เปรียบเหมือนวงจรอุบาทว์ดังนี้...

ประการแรกในเรื่องของ 'รายได้' ไม่ว่าจะรายเดือนหรือรายปี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรายได้สากลของไทย จะพบว่า มีความแตกต่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่การครอบครองทรัพย์สินมีความแตกต่างกันประมาณ 6-9 เท่า

แน่นอนว่า นิ้วมือทั้ง 5 ถูกสร้างมาไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่า นิ้วหัวแม่มือจะโตกว่านิ้วก้อย 15 เท่า!!

ความแตกต่างดังกล่าวของไทย เรียกได้ว่าติดอันดับโลกไปแล้ว ประการที่สองคือเรื่อง 'ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ' ประเด็นที่มีหยิบยกมาพูดคุยกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องความแตกต่างทางรายได้ โอกาส สิทธิ หรือกระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้วนมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นตัวแปรสำคัญ โดยอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคมหนึ่งๆ ก็คือ 'อำนาจรัฐ' 

และถึงแม้ว่าจะมีการพูดอยู่เสมอ อำนาจรัฐมาจากประชาชน แต่คำถามคือ อำนาจมาจากประชาชนจริงหรือไม่ ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งผมขอเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบสามานย์ เนื่องจากชัดเจนแล้วว่า อำนาจรัฐในสังคมไทยถูกผูกขาดจากคน 2 กลุ่ม นั่นคือ ราชการและทุน ไม่เคยมีแม้แต่น้อยที่ชาวนาหรือกรรมการจะมีเศษเสี้ยวเศษส่วนอยู่ในอำนาจดังกล่าว ดังนั้น เราจึงต้องสร้างอำนาจของประชาชนขึ้นมา โดยใช้ความรู้และหลักธรรมนำหน้า เพราะไม่เช่นนั้น ประชาชนจะลุกขึ้นมาด้วยโทสะ โมหะ กระทั่งนำไปสู่ 'ความแหลกสลายของสังคม'


http://www.thaireform.in.th/index.php?option=com_flexicontent&view=items&id=5850:2011-05-15-10-09-19



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น