โดย โคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
|
เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่กับเราอีกนาน อย่างไรก็ดี ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคการเมืองหลายพรรค ได้เสนอนโยบายแห่งการปรองดอง
จึงเป็นโอกาสอันดีที่หลายฝ่ายจะได้ช่วยกันเสนอแนวคิดว่าจะทำนโยบายดังกล่าวให้เป็นจริงได้อย่างไร
ในที่นี้ขอเสนอว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีปณิธานทางการเมือง การทำงานอย่างเป็นระบบและจริงจัง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง
ที่สำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องมีเวทีการพูดคุยกันในระดับต่างๆ ในลักษณะของการสานเสวนา
นั่นคือ ตั้งใจฟัง ใช้สัมมาวาจา เอาใจเขาใส่ใจเรา และเคารพผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง
แม้การสานเสวนาจะไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อย จะช่วยสร้างความไว้วางใจ ความทนกันได้ (tolerance) และการมองว่าเราควรหาทางร่วมมือกันมากกว่าจะทำเพียงการต่อว่าและกล่าวโทษ
จะเริ่มต้นอย่างไรดี
เราอาจเริ่มต้นจากสิ่งที่ได้ทำไว้แล้ว คือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ควรเสริมต่อโดยรวมฝ่ายต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มีที่มาซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น มีการเชื่อมประสานกัน และมีสำนักงานที่มีบุคลากรเต็มเวลาที่มีคุณภาพและจำนวนเพียงพอต่องานที่สลักสำคัญเช่นนี้
กระบวนการปรองดองที่จะเริ่มกันใหม่อีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง อาจเริ่มที่การประชุมปรึกษาหารือเพื่อสร้างปณิธานทางการเมือง ขอเสนอว่าองค์ประชุมในเบื้องต้นควรประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธาน คอป. อดีตประธาน คปร. และประธาน คสป. เป็นต้น
ที่ประชุมอาจพิจารณาหลักการทำงานของการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งอาจรวมหลักการต่อไปนี้
- เป็นการทำงานที่มีอำนาจหน้าที่ (authoritative) และมีความสามารถที่เหมาะสมเพียงพอ (having appropriate capacity)
- เป็นการทำงานที่รวมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด (inclusive)
- ใช้การสานเสวนา คือถ้อยทีถ้อยรับฟัง ไม่ด่วนตัดสิน (using dialogue approach)
- มีความเป็นอิสระ (independent) ในความหมายที่ว่าไม่ถูกแทรกแซงหรือครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- มีความเป็นกลาง (neutral) ในความหมายที่ว่า โดยรวมแล้วไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
- เน้นการเสนอแนะกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมือง (process-oriented) ที่ทุกฝ่ายอาจเห็นพ้องต้องกันได้ (consensus-building)
- เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในวงกว้าง (participatory) ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ
การปรึกษาหารือดังกล่าวอาจตกลงกันในเรื่องกรอบการทำงานของการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ดังนี้
- อยู่ในครรลองของประชาธิปไตย (democratic process)
- มีสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)
- ยึดถือการปกครองของกฎหมาย (rule of law)
- เป็นการขับเคลื่อนของประชาชนเพื่อสันติภาพและความเจริญก้าวหน้า (People for Peace and Prosperity PPP movement)
- เป็นการร่วมกันสร้างสัญญาประชาคม (searching for new social contract)
การปรึกษาหารือดังกล่าวอาจตกลงกันดังนี้
1) แต่งตั้งคณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (National Reconciliation Council) ประกอบด้วยบุคคลที่มาประชุมปรึกษาหารือกันดังกล่าว และตัวแทนของภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนพรรคการเมือง ตัวแทนภาคราชการทหารและพลเรือน ตัวแทนภาคธุรกิจ ตัวแทนภาควิชาการ ตัวแทนสื่อสารมวลชน และตัวแทนภาคประชาสังคม เป็นต้น
คณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- อำนวยการการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
- กำหนดกรอบและโครงสร้างการทำงาน
- แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ
- พิจารณาและดำเนินการสนับสนุนงบประมาณ ให้ความเห็นตามที่คณะกรรมการขอปรึกษา พิจารณาและดำเนินการตามที่เห็นสมควรจากข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมการ
- ประเมินผลการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
2) กำหนดระยะเวลาการทำงานของการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติในเบื้องต้น เช่น 3 ปี แต่อาจขยายเวลาได้อีกตามมติของคณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
3) แต่งตั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการของคณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ เพื่อรองรับการทำงานของคณะมนตรีฯ ประสานงานกับคณะกรรมการชุดต่างๆ และกำกับดูแลการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
4) ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งทำงานแบบเครือข่ายมากกว่าแบบรวมศูนย์ โดยอาจมีส่วนงานดังนี้
- ส่วนงานที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมการชุดต่างๆ
- ส่วนงานกลาง
- ส่วนงานเฉพาะตามความเหมาะสม
การทำงานสามระดับ
ในสถานการณ์ที่มีความหวาดระแวง มีความเห็นต่างอย่างชี้ถูกชี้ผิด และมีการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายกันเช่นนี้ เป็นการยากที่จะมีใครยอมใคร และการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติจึงเป็นงานที่ยาก และจะมีประสิทธิผลหรือไม่เพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจัง และสนธิพลัง (synergy) ในอย่างน้อยสามระดับคือ
1) คณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับของ
- การสร้างปณิธานทางการเมืองและความไว้วางใจ
- การตัดสินใจทางการเมืองท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างและความระแวงใจสูง แต่พึงยอมรับความเสี่ยงหลังจากที่ได้มีการถกแถลง (deliberation) จนได้ข้อสรุป อย่างน้อยในเชิงกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง
- การมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมการเมือง เพื่อประโยชน์สุขในระยะยาว
คณะมนตรีเพื่อความปรองดองแห่งชาติ อาจประชุมไม่บ่อยนัก เช่นปีละ 3-4 ครั้ง เว้นแต่มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องตัดสินใจ
2) คณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งขอเรียกเป็นชื่อรวม (generic name) ว่าคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ในเบื้องต้นหมายถึงคณะกรรมการที่มีอยู่แล้ว และควรดำเนินการต่อเนื่องไป เช่น
- คอป.ดำเนินการเรื่องการปรองดองทางการเมืองเป็นสำคัญ
- คปร.ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และทางการปกครองเป็นสำคัญ
- คสป.ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางสังคมเป็นสำคัญ และ
- คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งอาจได้รับมอบหมายให้พิจารณาเรื่องกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และอาจรวมเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เว้นแต่ว่าเรื่องนี้จะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการแยกต่างหาก
ทั้งนี้ อาจมีการแต่งตั้งบุคคลเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น (inclusive) ก็ได้
ในระยะต้น อาจให้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการที่มีอยู่เท่านั้นไปพลางก่อน เมื่อมีความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้น และกระบวนการสานเสวนาเพื่อความปรองดองแห่งชาติดำเนินไปด้วยดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็อาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดอื่นอีก เพื่อมาพิจารณาปัญหายากๆ ที่ต้องช่วยกันขบคิด เช่น
- การปฏิรูปภาคความมั่นคง (Security Sector Reform SSR)
- การปฏิรูปเพื่อความยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ (for a sustainable monarchy)
- การประสานอัตลักษณ์ของชาติ ของภูมิภาคและชาติพันธุ์ ฯลฯ
คณะกรรมการชุดต่างๆ มีการประชุมกันสม่ำเสมอ เช่นทุกหนึ่งหรือสองสัปดาห์
3) สำนักงานคณะกรรมการเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานให้แก่คณะกรรมการชุดต่างๆ ในลักษณะเครือข่ายมากกว่าการรวมศูนย์ นอกจากหน้าที่โดยทั่วไปที่จะรองรับการทำงานของคณะกรรมการแต่ละชุดแล้ว อาจมีหน้าที่ที่ตอบสนองต่อคณะกรรมการทุกชุดด้วย นอกจากนี้หน้าที่สำคัญของสำนักงานอาจได้แก่
- การศึกษาวิจัย
- การสำรวจความคิดเห็น (Opinion survey)
- การจัดให้มี การล้อมวงสานเสวนา (dialogue circle) ในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของคณะกรรมการ รวมทั้งในหัวข้อเปิด โดยอาจใช้เทคนิคการสานเสวนาที่เรียกว่า การสานเสวนาแบบเปิดพื้นที่ (open space dialogue) ซึ่งผู้เข้าร่วมสานเสวนาเป็นผู้เลือกหัวข้อเองภายใต้แนวเรื่อง (theme) ที่กำหนด แล้วเลือกบางหัวข้อมาลงรายละเอียด โดยใช้การสานเสวนาแบบสภากาแฟ (world cafe dialogue) ทั้งนี้ อาจจัดให้มีการล้อมวงสานเสวนา ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ เพื่อการถกแถลงและการเรียนรู้ร่วมกันให้มากที่สุด
- การจัดทำรายงานที่เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
- การสื่อสารกับสังคมโดยใช้สื่อต่างๆ ในเรื่องที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว รวมทั้งรายงานการศึกษาทั่วไป
สำนักงานคณะกรรมการเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ต้องมีบุคลากรประจำที่มีคุณภาพ ที่ทำงานเต็มเวลา ในจำนวนที่มากพอ เพื่อให้งานต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น