วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำงานของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ชุดเฉพาะกาล

 
1 ปีที่ผ่านมาสำหรับการทำงานของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ชุดเฉพาะกาล แม้กรรมการทั้ง 13 คน จะมีมติ "เอกฉันท์" ในการให้ความเห็นต่อโครงการโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ว่าไม่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ แต่ภายใน กอสส. กลับแตกเป็น 2 ขั้ว คือ กรรมการจากสายวิชาการ และกรรมการจากสายเอ็นจีโอ ซึ่งภาพรอยร้าวนี้ได้ค่อยๆ ฉายให้เห็นชัดหลังจาก นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธาน กอสส. ยื่นหนังสือลาออกมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2554 ตามติดมาด้วย นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และ นายวีระพงษ์ เกรียงสิงยศ กรรมการ กอสส. ที่เตรียมจะยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการภายในเดือนกรกฎาคมนี้
 ทั้งนี้ เหตุผลที่แท้จริงในการลาออกนั้น "เพ็ญโฉม" ในฐานะกรรมการ กอสส. และอนุกรรมการพิจารณาโครงการโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซีฯ และเป็นหนึ่งในกรรมการสายเอ็นจีโอที่เกาะกลุ่มกันอยู่ 6 คน (เอ็นจีโอ 5 คน และนักวิชาการ 1 คน) ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง "จุดแตกหัก" ที่ทำให้ต้องลาออก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภูมิหลังที่แตกต่าง หากยังโยงถึงจุดยืนผลประโยชน์ และการทุจริตที่เกิดขึ้นใน กอสส. 
+ขัดขา-หักเหลี่ยม-ทุจริต เพ็ญโฉม เปิดประเด็นถึงปมปัญหาในการทำงานที่นำไปสู่การตัดสินใจลาออกว่า เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน กอสส. มีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความแตกต่างกันหลายอย่าง ทั้งภูมิหลังที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมาจากฟากวิชาการ ฝ่ายหนึ่งมาจากเอ็นจีโอ ทัศนคติต่อการทำงานและแนวคิดต่อประเด็นปัญหาในสังคมที่ต่างกัน รวมถึงเรื่องการทำงานเพื่อสาธารณะก็ต่างกันมาก เมื่อสายวิชาการกับเอ็นจีโอต้องมาทำงานด้วยกัน ก็เหมือนกับมีกำแพงอยู่แล้ว ถ้าใช้คำของอ.ธงชัย (ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์) จะบอกว่า "พวกคุณต่างระแวงซึ่งกันและกัน" ซึ่งก็ถูก เราไม่ได้ปฏิเสธว่ามีความระแวงกันอยู่ แต่เราถือว่าเราเดินตรงไปตรงมา 
 แต่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้ คือ การให้ความเห็นโครงการของทีโอซี ที่ผ่านมา กรรมการสายวิชาการมีการดัดแปลงแอบแก้รายงานการให้ความเห็นของกรรมการสายเอ็นจีโอ ทั้งที่มีมติเดิมว่ากรรมการแต่ละคนมีสิทธิ์ให้ความเห็นโดยอิสระและต้องเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย จะแก้อะไรไม่ได้ ทั้งนี้ ความไม่โปร่งใสเริ่มส่อให้เห็นตั้งแต่การรวบรวมรายงานของอนุกรรมการ ที่อยู่ดีๆ มีการสรุปว่าเห็นชอบกับโครงการดังกล่าวอย่างมีเงื่อนไข แต่ในฐานะประธานอนุกรรมการ กลับไม่ทราบที่มาของมติเห็นชอบนั้น จึงได้ทำจดหมายทักท้วงว่าที่มาของมตินี้มีความไม่ชอบมาพากล และยืนยันว่าไม่ให้ความเห็นชอบกับโครงการนี้ นอกจากนี้ เมื่อทำรายงานสรุปความเห็น กอสส. เพื่อส่งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็พบว่ารายงานถูกแก้อีกด้วยการดึงความเห็นบางส่วนของทีมกรรมการสายเอ็นจีโอออกไป
 "สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนว่าเหมือนมีการทุจริตในการรวบรวมความเห็นทั้งในส่วนของอนุกรรมการ และ กอสส. เมื่อมีการแอบเปลี่ยนรายงานการให้ความเห็น เรารับไม่ได้และถือว่าเป็นการทุจริต ต้องสู้กันสุดฤทธิ์ หักเหลี่ยมเฉือนคมกันจนกว่าจะแทรกรายงานฉบับที่สมบูรณ์จริงกลับเข้าไปได้ สิ่งดีอย่างเดียวที่เกิดขึ้นในการทำงานคือมติเอกฉันท์ของ กอสส. ที่ไม่เห็นชอบโครงการของทีโอซี กรรมการสายเอ็นจีโอทำให้มีเหตุผลหนักแน่นชัดเจนจนกรรมการสายวิชาการปฏิเสธไม่ได้ จึงต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ยืนตามความเห็นของเรา"
 นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการทำงานของกรรมการสายเอ็นจีโอยังถูกขัดขวางด้วย ทั้งการเตรียมคณะทำงาน และการลงพื้นที่ ซึ่งอีกฝ่ายแย้งไม่ให้ลงพื้นที่ตลอดเวลาและให้เหตุผลว่าแค่อ่านรายงานและให้ความเห็นไป 4-5 หน้าก็พอ แต่เราได้โต้ในวงประชุมว่า หาก กอสส. ตั้งขึ้นมาแล้วพิจารณาโครงการด้วยการอ่านแค่รายงานก็ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์การอิสระขึ้นมา มีแค่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก็พอ กอสส. ต้องระบุตัวเองให้ชัดว่าจะมีแนวทางการทำงานอย่างไรบ้าง จะมีหลักเกณฑ์ให้ความเห็นอย่างไร 
 +ผลประโยชน์VSจิตสาธารณะ
 อีกประเด็นที่เพ็ญโฉมเห็นว่าสำคัญมากสำหรับการทำงานในฐานะ กอสส. คือ เรื่อง "จิตสาธารณะ" แต่นับตั้งแต่ กอสส. ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 กลับพบว่า ประเด็นแรกๆ ที่หารือกันเป็นเรื่องใหญ่ยาวนานกว่าครึ่งปีคือเรื่องเงินเดือน มีความพยายามผลักดันให้ได้หลักแสนเทียบกับองค์กรอิสระอื่นๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นเพียง กอสส. ชุดเฉพาะกาล และกรรมการแต่ละคนไม่ได้ทำงานเต็มเวลา สุดท้ายได้ข้อสรุปที่ 45,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อมีการตกเบิกราวเดือนสิงหาคม 2553 และให้เงินเดือนย้อนถึงวันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง กอสส. อย่างเป็นทางการ (8 มิถุนายน 2553) กรรมการสายวิชาการกลับไม่พอใจและเรียกร้องให้จ่ายเงินเดือนย้อนถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 กรณีนี้กรรมการสายเอ็นจีโอได้ทำหนังสือค้านและยืนกรานให้ยึดวันที่ตามคำสั่งนายกฯ รวมถึงเห็นชอบกับการคืนเบี้ยประชุมในช่วงที่ยังไม่ได้รับเงินเดือนกลับสู่คลัง ซึ่งกรรมการสายวิชาการ 7 คนยังไม่คืนเงิน แม้ภาครัฐจะทำจดหมายขอคืน 2 ครั้งแล้ว
 "นี่เป็นความต่างในเรื่องจิตสาธารณะที่ต้องเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ อันนี้ควรเป็นประเด็นที่ใหญ่ที่สุดที่อยากฝาก คณะกรรมการที่จะเข้ามาทำงานจริงว่า ถ้าคุณไม่พร้อมที่จะเข้ามาทำงานเพื่อประเทศ เพื่อสังคม อย่าเข้ามาเลย เพราะจะเสียเงินภาษีของประชาชนมากกว่า แล้วคุณก็เข้ามากอบโกยผลประโยชน์"
 อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นใน กอสส.ชุดเฉพาะกาล ถือเป็นเรื่องดี เพราะเหมือนกับเป็นชุดทดลองทำให้เห็นว่า เมื่อตั้งองค์การอิสระขึ้นมากลไกควรเป็นอย่างไรบ้างตั้งแต่กระบวนการสรรหา การตรวจสอบประวัติของผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทนที่ผู้สมัครจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษา หรือเป็นที่ปรึกษาของบริษัทที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการให้ความเห็นของ กอสส. หรือถึงแม้จะรู้ภายหลังว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องออกจาก กอสส. นอกจากนี้ ควรกำหนดด้วยว่า กรรมการต้องทำงานเต็มเวลาและรับเงินทางเดียว มีการตรวจสอบความโปร่งใสในเรื่องทรัพย์สินก่อนที่จะมารับตำแหน่งและวันสุดท้ายที่ออกจากตำแหน่ง เพราะ กอสส. เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นโครงการที่มีมูลค่าสูงมาก มีโอกาสสูงที่จะถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ 
+หวัง กอสส. ยึดเจตนารมณ์ รธน.
 เมื่อถามถึงมุมมองความคาดหวังต่อ กอสส. เพ็ญโฉม บอกชัดเจนว่า โดยส่วนตัวไม่ได้อยากเข้ามาเป็น กอสส. แต่ก็มีความคาดหวังว่า องค์กรนี้จะเป็นหนึ่งในกลไกที่เข้ามาคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งมีวิกฤติศรัทธาจนถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ กอสส. เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นโดยถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะเมืองไทยจำเป็นต้องมีตัวกรองว่าการพัฒนารูปแบบไหนที่ควรรับเข้ามาหรือต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือบทบาท กอสส. และ กอสส. ต้องยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย คือ เคารพกับสิทธิของชุมชน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน  แต่ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของ กอสส. ชุดเฉพาะกาลนี้ คือ กรรมการสายวิชาการมองไม่เห็นความสำคัญของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองเรื่องสิทธิชุมชน ให้การยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน
 "ดังนั้น กรรมการที่จะเข้ามาชุดต่อๆ ไปควรจะต้องให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าคุณไม่สามารถให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน ไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม ไม่เห็นความสำคัญของการตรวจสอบของภาคประชาชน ไม่เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติเป็นวิกฤติแล้ว คุณอย่าเข้ามาผลาญงบประมาณแผ่นดิน คุณเข้ามาแล้วคุณไม่ทำงานจะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น บ้านเราจะไม่มีทางออก" 
 ส่วนการตัดสินใจลาออกครั้งนี้ ตั้งใจที่จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ได้รับการแก้ไข โดยต้องการให้ยกเลิก กอสส. ชุดเฉพาะกาลที่มีอยู่ในปัจจุบันยกชุด เพราะถ้าทำงานไม่ได้ คณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน น่าที่จะรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเสนอว่าเมื่อกรรมการชุดนี้มีปัญหาในการทำงานก็น่าจะยกเลิกไปทั้งหมด แล้วให้เลือกผู้ที่ได้คะแนนรองลงไปขึ้นมาทั้งชุด แต่เชื่อว่าอีกฝ่ายคงไม่ยอมง่ายๆ เพราะหลังจากนายวีรวัธน์ลาออกไปก็มีการรีบร้อนตั้งประธานคนใหม่ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,653  17-20  กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น