iLaw: หมอ vs คนไข้ ยกที่สอง "สิทธิการตาย" ใครกำหนด?
Fri, 2011-07-15 01:37
นึกถึงคนไข้จำนวนมาก ที่ตกอยู่ในสภาพ "เจ้าหญิงนิทรา" หรือ สภาพ "ผัก" ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากการป่วยด้วยโรคร้ายแรงบางอย่าง หรือประสบอุบัติเหตุทำให้สมองบางส่วนไม่ทำงาน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่การเจ็บป่วยนั้นทำให้ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถโต้ตอบ และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อีกต่อไป
หรือกรณีป่วยเป็นโรคที่ทางการแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีทางรักษาให้หายเป็นปกติได้ สามารถทำได้เพียงแค่ใช้เทคโนโลยียืดชีวิตออกไปโดยไม่มีความหวังว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งบางครั้งเครื่องมือหรือการรักษาต่างๆ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ เช่น การเจาะคอเพื่อให้อาหาร เป็นต้น
ทั้งที่สิทธิปฏิเสธการรักษา หรือ สิทธิที่จะตายนั้น เป็นสิทธิที่คนไข้มีติดตัวอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีกฎหมายใดมารองรับ แต่ในสถานการณ์ที่คนไข้อาจจะไม่มีสติสติสัมปชัญญะพอที่จะลุกขึ้นมาบอกว่า "ไม่ขอรับการรักษาใดๆ อีกแล้ว ขอเลือกที่จะตายดีกว่า" ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือญาติก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดทุกข์ทรมานแค่ไหน และไม่มีใครสามารถตัดสินใจกำหนดการมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตแทนผู้ที่นอนรอการรักษาอยู่ได้
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 กำหนดไว้ว่า
"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"
ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ออก กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. ๒๕๕๓ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อกำหนดรายละเอียด แนวทาง และตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพื่อให้สิทธิเลือกที่จะตายของคนไข้ เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ
หลังจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต้นเดือนพฤษภาคม 2554และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพฉบับดังกล่าวออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ได้มีความเห็นที่แตกต่างทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
โดย นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ประเด็นที่แพทย์แสดงความกังวลคือ
1. นิยามคำว่า "ทรมาน" และ "วาระสุดท้ายของชีวิต" ใครกำหนด มีเกณฑ์อย่างไร
2. หนังสือที่แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข แพทย์จะต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ตรงนี้ไม่อยากให้เป็นภาระของแพทย์แต่อยากให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รับไป
3. หากแพทย์และญาติของผู้ป่วยเห็นต่างกันกรณีวาระสุดท้ายของผู้ป่วยจะทำอย่างไร (ที่มาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า กฎกระทรวงดังกล่าวมีการกำหนดวิธีการที่ไม่ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติจริง และอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะการกำหนดว่าให้แพทย์ทำหน้าที่ถอดสายท่อ หรือที่เรียกว่า ในความเป็นจริงไม่มีแพทย์คนใดอยากทำไม่ใช่กลัวถูกฟ้องร้อง แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม และในมาตรา 12 ก็ไม่ได้กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน การกระทำลักษณะนี้กลับเข้าข่ายขัดกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2525 ที่กำหนดชัดเจนให้แพทย์ต้องทำการรักษาให้ดีที่สุด (ที่มาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)
ด้าน นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า อยากถามว่าใครเคยตาย และใครเคยพูดคุยกับคนที่ตายไปแล้วบ้าง ถ้าไม่เคยแล้วทำไมจึงรู้จักจิตใจคนไข้ก่อนตายว่าจะต้องตายอย่างมีศักดิ์ศรี แล้วมาออกกฎหมายในสิ่งที่ไม่รู้จริง ขัดหลักกฎหมาย อันตรายมาก เพราะจะนำมาซึ่งการทำหนังสือโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงทั้งที่ไม่รู้ว่าตัว เองจะตายอย่างไร แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น (ที่มาจากเว็บไซต์สนุก)
จนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน แพทยสภาประชุมกันและเตรียมการที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว โดย ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า มีแพทย์หลายฝ่ายกังวลถึงการบังคับใช้ แนวทางการแสดงสิทธิดังกล่าว เพราะอาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของแทพย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และยังขัดต่อจริยธรรมแพทย์ จึงมีความเห็นว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 ก.ค. นี้เพื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งเบื้องต้นอาจดำเนินการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว (ที่มาจากเว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์)
ต่อมา เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิด้านสุขภาพ 4 ภาค เดินทางมายังแพทยสภาเพื่อ ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอให้แพทยสภาสนับสนุนการใช้สิทธิการตายของผู้ป่วย เรียกร้องให้กลุ่มแพทย์ที่กำลังเคลื่อนไหวขัดขวางสิทธิของประชาชนได้หยุดคิดว่า กำลังทำอะไรอยู่ หรือคิดและทำไปโดยมีเรื่องผลประโยชน์จากธุรกิจการแพทย์แอบแฝงที่อาจได้รับจากการยืดการตายของผู้ป่วย (ที่มาจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)
ความขัดแย้งระหว่างแพทยสภาและกลุ่มผู้ร่าง กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนกฎหมายนี้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะต่างจากกรณีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ครั้งนั้นฝ่ายประชาชนพยายามผลักดันให้กฎหมายเกิดขึ้นและฝ่ายแพทยสภาเป็นฝ่ายคัดค้านจนเรื่องยังคั่งค้างอยู่ในสภาถึงวันนี้
แต่ยกที่สองของความขัดแย้งนี้สถานการณ์กลับกัน เพราะพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาตรา 12 กฎกระทรวง และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น ฝ่ายคัดค้านคือกลุ่มแพทยสภาต้องดิ้นรนเพื่อให้ชลอการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน หรือถ้าหากไม่มีการชลอ หรืออาจต้องใช้ช่องทางอื่นๆ เช่น นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งประเด็นความขัดแย้งครั้งนี้จะต้องขึ้นสู่ศาลหรือไม่ต้องรอดูมติของคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ เป็นสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น