ความรุนแรงทางการเมือง
ระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม ผู้ประท้วงหรือคนทั่วไป 74 คน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ 11 คน เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ 4 คน และผู้สื่อข่าว 2 คนถูกสังหาร ในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเทพฯ และที่จังหวัดอื่นๆ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทั้งการใช้อาวุธปืนที่มุ่งหมายชีวิตและการประกาศ "เขตกระสุนจริง" เป็นเหตุให้ผู้ประท้วงและคนทั่วไปที่ไม่มีอาวุธหลายคนเสียชีวิต พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ผู้นำกลุ่มประท้วงก็ถูกยิงจนเสียชีวิตจากพลแม่นปืน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ผู้ประท้วงและสมาชิกบางส่วนก็มีอาวุธ และได้ใช้อาวุธต่อต้านกองกำลังฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลได้ควบคุมตัวประชาชนกว่า 450 คน ในช่วงเริ่มต้นการประท้วง และยังมีอีก 180 คน ที่ถูกควบคุมตัวหรือไม่ก็ได้รับการประกันตัวออกมาระหว่างรอการไต่สวนคดีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา บางส่วนถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าก่อการร้าย
เสรีภาพในการแสดงความเห็น
รัฐบาลได้ควบคุมเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
๐ เมื่อเดือนตุลาคมนางอมรวรรณ เจริญกิจ (Amornwan Charoenkij) ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากขายรองเท้าแตะที่มีรูปหน้านายกรัฐมนตรีและมีข้อความอ้างถึงผู้เสียชีวิตทั้ง 91 รายจากความรุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าขณะจับกุมจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว แต่มาตรา 9 (3) ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีเนื้อหาครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งขัดกับหลักสัดส่วนความเหมาะสมตามกติการะหว่างประเทศ
พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อเซ็นเซอร์เว็บไซต์ วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์โดยไม่ต้องขอหมายศาล ในช่วงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เข้มข้นมากที่สุด ในแต่ละสัปดาห์ของช่วงสามสัปดาห์สุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ศอฉ.ประกาศว่าได้บล็อกเว็บไซต์ 770, 1,150 และ 1,900 แห่งตามลำดับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศในเดือนมิถุนายนว่าได้บล็อกเว็บไซต์ในประเทศไทย 43,908 แห่ง โดยอ้างว่าละเมิดกฎหมายหมิ่น และขัดต่อความมั่นคงภายในประเทศมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างน้อย 5 คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยอ้างว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และ/หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายในประเทศ เป็นเหตุให้มีคดีในเรื่องนี้ 15 คดีนับแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2550
๐ ในวันที่ 29 เมษายน นายวิภาส รักสกุลไทย นักธุรกิจได้ถูกจับกุมหลังจากส่งข้อความในเฟซบุ๊คในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่น เขาได้กลายเป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) ไม่ได้รับการประกันตัว และจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมายังคงถูกควบคุมตัว เพื่อรอกำหนดวันไต่สวน
๐ ในวันที่ 24 กันยายน นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บข่าวประชาไท ได้ถูกจับกุมเนื่องจากมีข้อความแสดงความเห็นในเว็บไซต์ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายหมิ่น เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา ยังคงรอการสั่งฟ้องคดีจากอัยการ
ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง
ชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอเชียและไม่ว่าจะมีสถานะเข้าเมืองอย่างไร ยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ทั้งในแง่การมีงานทำ การจ่ายค่าชดเชยหากเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการขึ้นทะเบียนคนพิการ ทั้งยังถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง และต้องทำงานในสภาพที่อันตรายและไม่เหมาะสม แม้จะมีข้อกล่าวหาว่ามีการรีดไถเงิน การทรมาน และการใช้ความรุนแรงต่อคนงานต่างด้าวโดยนายจ้างและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย แต่ก็ไม่มีการสืบสวนสอบสวนหรือไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อย่างใด ภายหลังการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพอย่างน้อย 20,000 คน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลายคนเดินทางกลับพม่าอย่างสมัครใจ แต่หลายคนก็ถูกบังคับให้กลับ หรือถูกห้ามไม่ให้ข้ามเข้ามายังพรมแดนฝั่งไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่มีผู้ลี้ภัยหลบหนีการต่อสู้เข้ามาทางพรมแดนแบบประปราย
๐ ที่หมู่บ้านวาเลย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตากทางการไทยบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่า 166 คน เดินทางกลับไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม และบังคับส่งกลับอย่างน้อย 360 คน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม อีก 650 คน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน และประมาณ 2,500 คน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน
การขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทุกฝ่ายยังดำเนินต่อไปท่ามกลางการขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคใต้ของไทย มีการขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 21 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2548 กองกำลังฝ่ายความมั่นคงยังคงทำการทรมานผู้ต้องสงสัย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายคนระหว่างถูกควบคุมตัว
๐ ในเดือนสิงหาคมตำรวจได้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่ออดีตทหารพรานที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ที่มัสยิดอัลฟุรกอน ซึ่งทำให้ชาวมุสลิมเสียชีวิตไป 10 คน และเป็นปีที่เจ็ดติดต่อกันที่ไม่มีการฟ้องร้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้
จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ด้วยกระสุนจริง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้ว เรายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่โดยทั่วไปที่เราไม่ทราบ เพราะมีการปกปิดข้อมูลข่าวสาร ทำให้ดูเหมือนว่าบ้านเมืองเราสงบเงียบเมื่อสิ้นสุดสถานการณ์ที่ราชประสงค์ แต่ในสายตาของคนนอกนั้น เรายังอยู่ในสถานการณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงอยู่ ซึ่งสวนทางกับร่างรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ที่สนับสนุนรัฐบาลในการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอันขัดกันกับหลักการของสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง จนผมอยากตั้งคำถามต่อผู้อ่านว่าคณะกรรมการชุดนี้ว่ายังสมควรที่จะใช้ชื่อ "สิทธิมนุษยชน" อยู่ต่อไปหรือไม่
การมีรายงานจากองค์การระหว่างประเทศให้เราได้พิจารณาเปรียบเทียบเช่นนี้เป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งผู้ที่ฉลาดย่อมที่จะเลือกมาใช้ประโยชน์ แต่ผู้ที่โง่เขลาย่อมก่นด่า และรังเกียจผู้ที่นำเสนอข้อมูลเช่นว่านี้
Tags : ชำนาญ จันทร์เรือง • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น