วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาเอ็กซ์เรย์วิสัยทัศน์ "ว่าที่กสทช."


 Pic_188992

วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาเอ็กซ์เรย์วิสัยทัศน์ "ว่าที่กสทช." โดยส่วนมากระบุจะมุ่งเปลี่ยนเทคโนโลยีออกอากาศจากอะนาลอกไปสู่ดิจิตอล พร้อมกำกับดูแลและแก้ปัญหาทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชนให้มีประสิทธิภาพกว่านี้...

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาเอ็กซ์เรย์วิสัยทัศน์ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ทั้ง 44 คน ก่อนเริ่มสู่กระบวนการตรววจสอบประวัติที่ต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ 8 ส.ค.นี้ ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่กำหนดให้วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือกผู้ผ่านการพิจารณาจำนวน 44 คน ได้แสดงความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เพื่อให้กระบวนการคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อเป็นข้อมูลให้ ส.ว.ประกอบการตัดสินใจโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งบัญชีรายชื่อ 44 ว่าที่ กสทช. ต่อประธานวุฒิสภาแล้ว เมื่อเปิดประชุมสภาได้ ทางวุฒิสภาจะบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมด่วน เพื่อให้ส.ว.คัดเลือกให้เหลือ 11 คน โดยกระบวนการคัดเลือกทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หรือ กลางเดือน ก.ย.นี้

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ว่าที่กสทช. กล่าวว่า สาเหตุที่สมัครเป็น กสทช. เพราะเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมากและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกลไกบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโดยกำหนดแนวทางทำงานไว้ 4 ด้าน คือ การจัดทำแผนบริหารคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงวิทยุให้มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนระบบวิทยุโทรทัศน์เดิมเป็นระบบดิจิตอล ให้เสร็จภายในปี 2558 รวมถึงการดูแลวิทยุชุมชน ด้านโทรคมนาคมเร่งรัดการทำโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี สานต่อการพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ ปรับปรุงสำนักงาน กสทช. ให้รองรับการขยายตัวกิจการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำหนดมาตรฐานการป้องกันภัยทั้งด้านเนื้อหา และการทำลายเครือข่ายโทรคมนาคมไม่ให้เกิดความเสียหาย 

ขณะที่ พ.ท.กฤษฏา เทิดพงษ์ ว่าที่กสทช. กล่าวว่า ต้องการแก้ไขปัญหาชาติ 3 เรื่อง คือ วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม และการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล แนวทางแก้ปัญหาวิทยุชุมชนระยะสั้น จะแบ่งคลื่นความถี่เป็นบล็อก แก่วิทยุชุมชน วิทยุเศรษฐกิจและวิทยุสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาการรบกวนสัญญาณกัน ส่วนแนวทางระยะยาว จะนำระบบวิทยุดิจิตอลมาใช้ ส่วนปัญหาเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียม จะเร่งออกใบอนุญาตแยกระหว่างสถานีดาวเทียมกับใบอบุญาตของผู้ผลิตเนื้อหา กสทช.ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการให้ดูแลกันเอง สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ดิจิตอล ต้องวางแผนให้การเข้าถึงทำได้ทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถซื้่ออุปกรณ์ได้ในราคาถูก 

ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ว่าที่กสทช. กล่าวว่า คิดว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นกสทช. เพราะมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ทำงานด้านสื่อสารมวลชนกว่า 30 ปี เคยทำงานกับสถาบีวิทยุบีบีซี เป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และผู้อำนวยการ บมจ.อสมท. จำกัด (มหาชน) และสถานีไทยพีบีเอส งานกสทช.ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เพราะประเทศเสียโอกาสในการพัฒนามานาน ส่วนการกำกับดูแลต้องดูแลโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ โดยจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 20 การเปิดประมูลควรทำอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม กำกับดูแลกันเองด้านจริจธรรม ส่งเสริมการพัฒนาที่มุ่งไปสู่ระบบดิจิตอล และการพัฒนาโครงข่ายกิจการโทรคมนาคม 

ส่วน รศ.พนา ทองมีอาคม ว่าที่กสทช. กล่าวว่า การกำกับดูแลกิจการคลื่นความถี่และโทรคมนาคม ควรเป็นไปตามกระแสการพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีการหลอมรวมสื่อระหว่างสื่ออะนาลอกสู่ดิจิตอล ทั้งภาพและเสียง ผ่านโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม ดังนั้นภารกิจที่ต้องเร่งทำ คือ การปรับเปลี่ยนระบบจากอะนาลอกเป็นดิจิตอล การพัฒนาโทรทัศน์ชุมชน การดูและการทำทีวีดาวเทียมให้เข้าที่ การพัฒนาโครงข่ายสื่อสารไฟเบอร์การแก้ไขปัญหาวิทยุธุรกิจและวิทยุชุมชน 

น.ส.ลักษมี ศรีสมเพ็ชร ว่าที่กสทช. กล่าวว่า มีประสบการณ์การทำธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ การพัฒนาวิทยุกระจายเสียงในต่างจังหวัด และการทำวิทยุชุมชน ซึ่งจากประสบการณ์เหล่านี้จึงอยากมาทำงานพัฒนาในด้านที่มีประสบการณ์

นายวรวุฒิ พงษ์ธีระพล ว่าที่กสทช. กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานสื่อสารมวลชน เห็นว่าสิ่งใดกำลังจะเกิดขึ้น สิ่งที่ตนสนใจคือการทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการด้านต่างๆ ให้มีระบบระเบียบ ดังนั้นการทำงานของกสทช.จึงอยู่ที่การกำหนดวิธีการกำกับดูแลกิจการด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ภายใต้แผนแม่บทและกรอบการทำงานด้านต่าง ๆ ปัจจุบันมีปัญหาในงานของ กสทช. ค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนผ่าน และการพัฒนาภายใต้กรอบของกฎหมายและกติกา ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์มากที่สุด.

http://www.thairath.co.th/content/tech/188992

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น