สบท.เผยผลร้องเรียนครี่งปี กำหนดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงินหรือพรีเพดยังถูกร้องเรียนไม่เลิก ฮัทช์ เอไอเอส ดีแทค นำโด่ง ด้านทรู ยังตกเลขเพราะครองแชมป์คิดเงินผิด ผอ.สบท.เตือนปัญหาโรมมิ่งน่าห่วง เพราะร้องน้อยแต่สูญเป็นแสน
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงผลการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน 2554 ว่า สบท. ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือ ร้อยละ 4 และเรื่องอื่นๆ อีกร้อยละ 2
ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า เกินครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 55 ของเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นปัญหาเรื่องการกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงิน เพราะผู้บริโภคยังต้องเดือดร้อนจากการที่ถูกกำหนดวันหมดอายุและต้องเติมเงินทั้งที่เงินยังมีอยู่ในระบบ การถูกยึดเงินในระบบ เป็นต้น ประเด็นต่อมาคือเรื่องของการคิดค่าบริการผิดพลาดมีจำนวน 257 เรื่อง โดยที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงเนื่องจากมูลค่าความเสียหายสูงคือ ปัญหาการใช้บริการโรมมิ่ง หรือการใช้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ
"ครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ยอดเงินที่ผู้บริโภคโต้แย้งจากการถูกบริษัทเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งมียอดรวมมากกว่า 1 ล้านบาท จากการร้องเรียนไม่ถึง 30 ราย เพราะแต่ละรายถูกเรียกเก็บค่าบริการสูงเป็นหมื่นบาท สูงสุดประมาณสามแสนบาท ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เช่น การใช้ไอโฟน 3 ไอโฟน 4 แบลคเบอร์รี่ หรือแม้กระทั่งไอแพด แล้วเกิดการเชื่อมต่ออัตโนมัติโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว รวมถึงการที่ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องจากผู้ให้บริการด้วย "ผอ.สบท.กล่าว
นายประวิทย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือนั้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอทีไวร์เลส หรือ ฮัทช์ และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกร้องเรียนมากที่สุดในเรื่องการกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ขณะที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ถูกร้องเรียนในปัญหาค่าบริการผิดพลาด มากที่สุด ส่วนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นพบว่า ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ มาตรฐานการให้บริการ เช่น ถูกระงับบริการโดยไม่ทราบสาเหตุ สัญญาณหลุดบ่อย รองลงมาคือปัญหาค่าบริการผิดพลาด และปัญหาการยกเลิกบริการ โดย บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด ถูกร้องเรียนจากผู้ใช้บริการมากที่สุด จำนวน 189 เรื่อง ตามมาด้วยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 76 เรื่อง และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด จำนวน 21 เรื่อง
ขณะที่การให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้าน บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ถูกร้องเรียนจากผู้ใช้บริการมากที่สุด ในประเด็นปัญหาค่าบริการผิดพลาดและมาตรฐานการให้บริการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น