เสวนา: "ประเทศไทยกับนักโทษการเมือง"
Fri, 2011-06-17 16:15
ไทยแลนด์ มิเรอร์ จัดเสวนาว่าด้วยเรื่องนักโทษการเมืองในไทย "ประวิตร" ชี้ คนไทยยังขาดความเข้าใจเรื่อง "นักโทษทางความคิด" ต้องร่วมกันหลุดพ้นจากความกลัว "สุดา" วอน อย่าปล่อยให้นักโทษคดีหมิ่นฯ ถูกทอดทิ้งเพียงลำพัง
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 เวลา 18.00 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ถ.เพลินจิต กลุ่มไทยแลนด์ มิเรอร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทยกับนักโทษการเมือง" โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, สมบัติ บุญงามอนงค์ จากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ตัวแทนกลุ่มรณรงค์เพื่อการตื่นรู้มาตรา 112 และสุดา รังกุพันธ์ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"เราต้องทำให้มือที่มองไม่เห็น เป็นมือที่มองเห็น"
ประวิตร มองว่า ความเข้าใจของสาธารณชนต่อการใช้กฎหมายหมิ่นและนักโทษการเมือง ยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากเกิดภาวะ "ความกลัว" ขึ้นในสังคม และการขาดข้อมูลที่รอบด้าน เช่น ยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนผู้ที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ที่โปร่งใส ทำให้คนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่านักโทษการเมือง และนักโทษทางความคิดเป็นอย่างไร
"ถ้าถามคนไทยทั่วไป เขาคงไม่เข้าใจว่านักโทษการเมืองคืออะไร และไม่เชื่อว่ามีเรื่องนี้อยู่ด้วย เพราะยุคคอมมิวนิสต์จบลงไปแล้ว เขาคิดว่าคนที่อยู่ในคุกคงถูกจับด้วยเรื่องอาชญากรรมทั่วไป ตนจึงมองว่า จำเป็นต้องมีการอภิปรายถกเถียงในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ และความเข้าใจในหมู่คนทั่วไปถึงเรื่อง "นักโทษการเมือง" และ "นักโทษมโนธรรมสำนึก"
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ชี้ว่า สังคมไทยเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกจากภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มรณรงค์ตื่นรู้มาตรา 112 และกลุ่มนักเขียน 330 คน ที่ล่าสุดออกแถลงการณ์ให้มีการปฏิรูปการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ล่าสุด ฝ่ายรัฐเองก็ยังออกมาพูดถึงการใช้มาตรา 112 ดังจะเห็นจากการที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 เมื่อสองวันที่แล้ว (14 มิ.ย. 54) ซึ่งบางส่วนพูดถึงเรื่องคดีหมิ่นฯ และปัญหาของการใช้มาตรา 112 ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณว่า สาธารณะเริ่มยอมรับและมองเห็นแล้วว่ากฎหมายตัวนี้มีปัญหาอย่างไร
"ในกรณีของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งถูกตั้งข้อหากระทำผิดมาตรา 112 และล่าสุดถูกยกฟ้องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการใช้กฎหมาย 112 ที่แต่งตั้งโดยนายกอภิสิทธิ์ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เอกสารชี้แจงที่เขียนโดยสมชาย หอมลออ ทนายด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สุลักษณ์ไม่สมควรถูกตั้งข้อหาเพราะเป็น "รอยัลลิสต์" จึงน่าตั้งคำถามว่าสำหรับคนที่ไม่เป็น "รอยัลลิสต์" จะต้องทำอย่างไร และมีสิทธิทำอะไรได้บ้าง" ประวิตร ตั้งคำถาม
"ประชาชนต้องถามตัวเองว่า สถานการณ์แบบนี้จะช่วยให้นำพาให้สังคมนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร และต้องตั้งคำถามว่า กฎหมายที่ใช้ในการจับกุมคุมขังประชาชนนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อความสามารถของคนในการคิดการแสดงออกความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล"
การใช้อำนาจพิเศษ เป็นการ "เจาะยางทางการเมือง"
สมบัติ หรือ "บ.ก. ลายจุด" เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองจาก พรก.ฉุกเฉิน จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 จนปัจจุบันก็ยังต้องไปรายงานตัวที่ศาลอยู่ และถึงแม้ว่ามีคนหลายคนแนะนำว่าให้ยอมรับสารภาพผิด เพื่อลดโทษให้เหลือแค่รอลงอาญา แต่ก็เขาเลือกที่จะไม่รับสารภาพ เนื่องจากเชื่อว่า สิ่งที่ทำไป เป็นการต่อสู้กับการใช้อำนาจของรัฐที่ไม่ยุติธรรม และมองว่าการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าว เป็นการ "เจาะยางทางการเมือง"
"เมื่อใดที่บ้านเมืองไม่ได้สู้กันด้วยหลักกฎหมายที่เป็นธรรม และอยู่ในสถานการณ์ที่มีการออกฎหมายพิเศษ และใช้ลูกปืนยิงปลิวให้ว่อน ก็เปรียบได้กับการ "เจาะยางทางการเมือง" คือ เป็นการที่รัฐรบกวน ทำให้เราไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระ" สมบัติอธิบาย
นอกจากนี้ เขาเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพียงเพราะแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดทางอินเตอร์เน็ตว่าคัดค้านโครงการแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ และเสริมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เขาถูกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งจัดให้เป็นพวก "ล้มเจ้า" ซึ่งตนมองว่า วิธีการดังกล่าว เป็นวิธีหนึ่งของกลไกของสังคมในการจัดการกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองตลอดมา ไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และชี้ว่า การมีนักโทษการเมือง เป็นตัวชีวัดว่ารัฐไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่างไปจากตนได้
"การเป็นนักโทษการเมือง ไม่ได้หมายความเพียงว่าต้องถูกจับขังคุกเท่านั้น แต่ยังมีการสำเร็จโทษทางการเมืองจากประชาชนด้วยกันเอง โดยการกล่าวหาบุคคลว่า "ล้มเจ้า"...และสิ่งที่น่าเศร้าคือ ประชาชนยังเห็นความเห็นต่างของประชาชนด้วยกัน เป็นอาชญากรรมและเป็นความเลวทราม"
"ตื่นรู้" เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ถัดมา พิมพ์สิริ ตัวแทนจากกลุ่ม Article 112 เล่าถึงการทำงานของกลุ่มว่า มีจุดประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนที่คิดเห็นต่างในสังคม มีโอกาสมาถกเถียง และแสดงความคิดเห็นในเรื่องมาตรา 112 พร้อมเน้นการรณรงค์ในระดับนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าไปตรวจสอบการกรณีการจับกุมสมยศ พฤกษาเกษมสุข และการตั้งข้อหาสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่ง กสม. ก็ได้ลงไปตรวจสอบแล้ว อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า กสม. ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก เพราะผู้ต้องหาคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ยังคงต้องอยู่ในเรือนจำและไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ที่ผ่านมา กลุ่ม Article 112 ได้เสนอข้อเรียกร้องทั้งต่อรัฐบาลไทยและประชาคมนานาชาติ เช่น ให้ปล่อยตัวนักโทษคดีหมิ่นฯ ทันที, ลดบทลงโทษลงให้เหมาะสม, ยกเลิกการใช้มาตรา 112 โดยสิ้นเชิง, ให้มีการแก้ไขพ.ร.บ คอมพิวเตอร์ และให้ Special Rapporteur (ผู้ตรวจการพิเศษ) จากสหประชาชาติทางด้านเสรีภาพในการแสดงออกเข้ามาตรวจเยี่ยมประเทศไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการที่เธอได้มีโอกาสสอบถามเรื่องท่าทีของพรรคการเมือง ต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 พบว่า ไม่มีพรรคการเมืองใด ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย ที่มีท่าทีสนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวที่ชัดเจน
"เราต้องช่วยกันกดดันให้พรรคการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก" พิมพ์สิริกล่าว
"ความกลัว" อยู่ทุกที่ในกระบวนการยุติธรรม
ทางด้านสุดา นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เคยไปเยี่ยมนักโทษการเมืองในเรือนจำมาหลายราย เธอมองว่า ทุกขั้นตอนในกระบวนการการยุติธรรม ต่างเต็มไปด้วย "ความกลัว" ตั้งแต่การตั้งข้อหา การสั่งฟ้อง การถูกบังคับให้รับสารภาพของผู้ต้องหา ไปจนถึงการเข้าเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ ทำให้นักโทษที่ถูกตัดสินด้วยมาตรา 112 ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว ไม่มีใครกล้าเข้าไปเยี่ยม แม้แต่ญาติพี่น้องของตนเอง เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นนักโทษคดีหมิ่นฯ ก็ไม่มีใครอยากจะยุ่งเกี่ยว
"จากที่ได้ไปเยี่ยมนักโทษคดีหมิ่นฯ มีหลายครั้งที่ตนได้รับการขอร้องจากนักโทษที่ไปเยี่ยมว่า ให้ช่วยไปเยี่ยมนักโทษคนนั้นคนนี้ด้วย เพราะไม่มีคนกล้าไปเยี่ยม เนื่องจากกลัวว่าต้องให้รายละเอียดต่างๆ แก่ทางเรือนจำ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทำให้แม้แต่ครอบครัวของตัวเองก็ยังไม่กล้ามาเยี่ยม นักโทษเหล่านี้ถูกทิ้งให้เหงาและโดดเดี่ยวมาก ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ" สุดาเล่าประสบการณ์
เธอเพิ่มเติมว่า ในกรณีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล การไปเยี่ยมแต่ล่ะครั้งเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากเวลาไปเยี่ยมแต่ล่ะครั้ง จะต้องกรอกรายละเอียดผู้ไปเยี่ยมในใบเอกสาร และพัสดีจะนำไปถามนักโทษว่าเดาชื่อคนที่มาเยี่ยมถูกหรือไม่ ถ้านักโทษเดาผิด จะหมดสิทธิในการออกมาเยี่ยม จึงทำให้เธอได้รับการเยี่ยมอยู่เพียงแค่ทนายความ หรือคนที่เธอรู้จักไม่กี่คนเท่านั้น
นอกจากนี้ นักโทษคดีหมิ่นฯ ยังเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากนักโทษด้วยกันมากกว่านักโทษคดีอื่นๆ เนื่องจากภายในเรือนจำ นักโทษคดีหมิ่นฯ จะถูกมองว่าเป็นตัวขัดขวางมิให้นักโทษคนอื่นๆ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
สุดากล่าวส่งท้ายว่า "อยากให้คนทั่วไป รวมถึงนักข่าวต่างประเทศ ร่วมกันไปเยี่ยมและส่งกำลังใจให้นักโทษการเมืองเหล่านี้ ตนเชื่อว่าจะเป็นการช่วยสังคมไทยในภาพกว้าง และทำให้ประชาคมนานาชาติสามารถเข้าใจสถานการณ์เกี่ยวกับนักโทษการเมืองในประเทศไทยมากขึ้น"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น