เปิดตัว คกก.คุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ยกระดับการผลิตสื่อเพื่อสังคม
ผู้บริโภคผนึกกำลังนักวิชาการ เปิดตัวคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แถลงข่าวเปิดตัว การจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน เพื่อให้เป็นกระจกสะท้อนถึงสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความตระหนักใน สิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงจัง และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการนำเสนอข่าวสารที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ
โดยนางสุวรรณา ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนของสังคม รวม 16 องค์กร ประกอบด้วย เครือข่ายประชาสังคมด้านเด็กและเยาวชน เครือข่ายด้านสตรี เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการ และสภาวิชาชีพด้านสื่อ 4 องค์กร
นางสุวรรณา กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบันผู้ บริโภคยังประสบปัญหา การละเมิดสิทธิที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากการโฆษณาสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่เป็นจริง ไม่ครบถ้วนนำไปสู่การซื้อ-ใช้สินค้าหรือบริการที่ไม่ เหมาะสมสิ้นเปลืองเงินทอง เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการนำเสนอข่าวอาชญากรรม ปัญหาการละเมิดสิทธิสตรี สิทธิเด็กและเยาวชน จากการนำเสนอเนื้อหาละครข่าวสารด้วยความรุนแรง หยาบคาย ลามก
นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาแฝงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะบทความเชิงโฆษณาที่ครอบงำความคิดประชาชน ขณะ เดียวกัน กลุ่มผู้บริโภคสื่อเอง ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการทำงานของสื่อที่ถูกต้องเหมาะสมตามกรอบของจริยธรรม จรรยาบรรณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขาดความตื่นตัวในการปกป้องสิทธิของตนเอง จึงทำให้ถูกละเมิดสิทธิจากสื่อทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ และที่กรรมการพิจารณาเห็นว่าเป็นผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ตรวจสอบติดตามการทำงานของสื่อ ร้องเตือนประชาชนเมื่อมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับสะท้อนความคิดหรือข้อร้องเรียนของประชาชนกลับไปยังสื่อและสภา วิชาชีพด้านสื่อ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขการผลิตสื่อให้มีทิศทางที่เกิด ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
"กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อ สังคมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนในระดับพื้นที่นำร่อง ประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้บริโภครวม 11 จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค คือ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงราย, ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด, ภาคกลางและตะวันออก ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ นับเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น เหยื่อ หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่าย เกินไป" นางสุวรรณา กล่าว
นางสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าว ว่าเด็กถือเป็นผู้บริโภคสื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะทีวี อินเทอร์เน็ต เคยสำรวจการดูโทรทัศน์ของเด็กในช่วงวัดหยุดในช่วงปิดเทอมและวันเสาร์อาทิตย์ พบว่าเด็กดูทีวีถึง 15 – 17 ชั่วโมง
"จะเห็นว่าเด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอโดยไม่ทำอะไรเลย ทั้งทานข้าว ทำการบ้านหน้าทีวี ซึ่งเราก็พบว่าสื่อที่ส่งออกมามีความรุนแรงต่อเรื่องเพศ ซึ่งเด็กได้รับโดยตรง ในเด็กเล็กเราพบกว่าอิทธิพลของโฆษณามีผลต่อการใช้จ่ายของเด็ก เพราะจะซื้อขนมจากการดูโฆษณานั่นเอง และที่ผ่านมาไม่มีช่องทางการสื่อสารให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงผลกระทบที่ เกิดขึ้น เมื่อมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนก็น่าจะเป็นกลไกที่จะเป็นช่องทางให้มีการสื่อสารกันมากขึ้น"
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวถึงการล่วงมะเมิดทางเพศที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมแต่ต้องรตกเป็น ข่าวนั้นยิ่งเป็นการซ้ำเติม ผู้หญิงจึงเลือกที่จะเก็บเรื่องไว้ ผู้กระทำความผิดจึงไม่ได้รับการลงโทษ สื่อน่าจะทำความเข้าใจในการเสนอข่าวด้วยเพราะจะกลายเป็นว่านอกจะถูกละเมิดไป ครั้งหนึ่งแล้วกลับต้องถูกละเมิดซ้ำเมื่อมีการเสนอข่าว
"มันเป็นกระทบเหมือนน้ำซึ่งกระทบทั้งตัวเอง ญาติ ที่ทำงานอยากให้สื่อมวลชนได้รับรู้ผลกระทบตรงนี้ด้วย การมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ก็น่าจะเป็นอีกเสียงที่ช่วยต่อสู้เรื่องนี้ ที่จะพูดคุยกับสื่อและสะท้อนต่อสาธารณะว่าเมื่อมีการนำเสนอข่าวโดยไม่ได้ สนใจผลกระทบต่อบุคคลอย่างไร การที่เด็กหรือผู้หญิงถูกละเมิดแล้วออกมาเรียกร้องความยุติธรรมสื่ออาจะทำ เพื่อเตือนสังคมว่าในสถานที่นั้นมีเหตุอาชญากรรมให้ระวัง ไม่ควรจะสนใจรายละเอียดของเหตุการณ์แล้วนำไปขยายความต่อ จะเป็นการขยายบาดแผลของผู้เสียหายมากกว่า" นางสาวณัฐยากล่าว
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า กลไกการรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคด้านสื่อนั้นมีความสำคัญ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีกลไกตัวนี้ ถึงแม้จะมีการพยายามทำมาแต่ก็ยังไม่แน่ชัด ซึ่งต้องทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับสื่อมวลชน ถึงมีจะมีองค์กรวิชาชีพทำอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัด
"มีแนวคิดว่าจะให้รัฐเข้ามาจัดการ เข้ามาลงดาบสื่อ ให้สื่อมีการปรับตัวแต่ถ้าไม่ระวังให้ดีก็อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการ เมืองได้ สิ่งที่น่าจะกำกับสื่อได้มากกว่าก็คือพลังพลเมืองกับพลังผู้บริโภค แม้จะมีการรวมตัวกันไม่มากแต่มีการกระตุ้นสื่ออย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีใหม่ๆ อย่างสื่ออินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ก็น่าจะช่วยสร้างพลังให้เสียงเหล่านี้ และผลักดันให้สื่อมีการปรับตัวได้ และการมีคณะกรรมการจากหลากหลายหน่วยงานก็จะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่หลากหลายและหาทางออกได้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดทางเพศ การเมือง ในระยะยาวก็น่าจะเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายได้มาหาจุดร่วม เพื่อหากติกาในการอยู่ร่วมกันได้"
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงผลการศึกษาผลต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการถูกเสนอข่าว ล่วงละเมิดทางเพศว่า ผู้ถูกเสนอข่าวได้รับผลกระทบมากในการดำรงชีวิตประจำวัน เหมือนเป็นการซ้ำเติมโศกนาฏกรรมชีวิตอย่างมาก ผู้อ่านหรือผู้ดูเองเมื่อถูกนำเสนอข่าวนี้ก็รู้สึกเหมือนถูกละเมิดไปด้วย
"สะท้อน ให้เห็นว่าผู้นำเสนอข่าวไม่ว่าจะสื่อโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ยังมีทัศนะคติเดิมที่ต้องนำเสนอให้เห็นภาพ ให้เห็นเหยื่อ ให้เห็นฉากโศกนาฏกรรมที่ชัดเจน นี่คือลักษณะการทำงานวิชาชีพ ซึ่งการวิจัยชิ้นนี้สะท้อนว่าเป็นการทำงานที่ไม่เหมาะเพราะไม่ได้คำนึงถึง สิทธิของมนุษย์เลย"นายธามกล่าว
นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงโฆษณาแฝงในทีวีว่ามีมากทั้งปริมาณและรูปแบบ และมีการโฆษณาในรายการเด็กมากขึ้น และในรายการข่าว ในหนังสือพิมพ์เองก็มีการโฆษณามากขึ้นเช่นการเขียนบทความขึ้นมา หรือการให้ข้อมูลสินค้าทางการแพทย์ ภายใต้ความหลากหลายของรูปแบบโฆษณาเหล่านี้คณะ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้เท่าทันสื่อโฆษณาเหล่านี้มากขึ้น และช่วยให้เรื่องร้องเรียนต่างๆเกี่ยวกับสื่อจะมีการเชื่อมโยงและประสานงาน กับหน่วยงานต่างได้มากขึ้น
อนึ่งประชาชนสามารถร่วมเป็นหนึ่งในการจับตาและเฝ้าระวังสื่อโดยส่งข้อมูลมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ 022483737 โทรสาร 022483733 หรือ "เฟสบุ๊คซอกแซกสื่อ" หรือส่งเรื่องมาที่
http://e-mouth.consumerthai.org
รายนามคณะกรรมการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน
1. รศ.ดร.วิลาสีนี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สสส.)
2. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา
3. คุณอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ
4. คุณเชษฐา มั่นคง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
5. คุณสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา
6. คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส.
7. คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)
8. รศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดี คณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. คุณบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภค
10. คุณสุภิญญา กลางรณงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
11. คุณพรชัย ปุณณวัฒนาพร เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
12. คุณโกศล สงเนียม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
13. คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการมีเดียมอนิเตอร์
14. คุณอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล
15. คุณสุวรรณา จิตประภัสสร์ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
16. ผู้แทน สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
http://www.kaodee.com/read/kaodee.wc/?id=778e1d4b2e0985fb103cacad2f7d7a1a&ch=20&c=13
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น