รายงานเสวนา: ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อไทย ยังติดกับมาตรา 112
Sat, 2011-02-26 02:45
วงอภิปรายเรื่องสถานภาพสื่อไทย พุ่งเป้า 112 ปัญหาหลัก สื่อไทยเซ็นเซอร์ตัวเอง คนเล่นเน็ตติดคุก นักข่าวสนามไทยรัฐชี้มีการใช้เนื้อหาหมิ่นเหม่ 112 ทำการตลาดเรียกคนอ่าน นักข่าว อสมท.กังขา สหภาพ อสมท.พบนายกฯ ตกลงต้องการให้การเมืองแทรกแซงหรือไม่
(25 ก.พ. 54) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดการแถลงข่าว "ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย: ประเทศไทย 2553" ซึ่งรวบรวมจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญในประเทศ ประกอบด้วยสื่อมวลชนและผู้แทนจากภาคประชาสังคม ทั้งหมด 11 คน
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ นำเสนอผลจากรายงานว่า จากการรวบรวมคะแนนตัวชี้วัดต่างๆ 4 หัวข้อ แต่ละหัวข้อเต็ม 5 คะแนน ได้ดังนี้ เสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน 2.6 คะแนน ความหลากหลายของสื่อในประเทศ 2.4 คะแนน การกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีการเปลี่ยนแปลงสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง 3.6 คะแนน มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ 2.3 คะแนน รวมดัชนีชี้วัดประเทศไทยได้ 2.72 คะแนน
(อ่านรายละเอียดที่ http://prachatai3.info/journal/2011/02/33291)
จากนั้น มีการอภิปรายโดยผู้ร่วมประเมินดัชนีชี้วัดบางส่วน โดยจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า จากรายงาน คะแนนของไทยเรื่องสื่ออยู่กลางๆ โดยมีหลายด้าน ด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญให้หลักประกันด้านเสรีภาพ ไม่มีเซ็นเซอร์หรือควบคุม นสพ. แต่อีกด้านหนึ่ง โลกที่ควรจะมีเสรีภาพมากที่สุดอย่างโลกอออนไลน์กลับถูกควบคุมอย่างแรงตั้งแต่รัฐประหาร ปี 49 โดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยการมีข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ที่เป็นข้อมูลเท็จที่อาจสร้างความตระหนก หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท ขณะที่ผู้ให้บริการเว็บที่ยอมให้ข้อมูลนั้นๆ ปรากฎ ก็มีโทษติดคุกเช่นกัน ไม่มีอิสระจริง เว็บถูกบล็อค และมีการใช้มาตรา 112
จอนกล่าวต่อว่า ขณะที่ปัญหาตอนนี้คือหากต้องการอะไรที่มีชีวิตชีวา เราต้องไปที่โลกออนไลน์ เพราะสื่อหลัก โดยเฉพาะ นสพ.เซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าตรวจสอบสิ่งต่างๆ ในสังคม เช่น งบประมาณทหาร คอร์รัปชั่น การซื้อตำแหน่งของข้าราชการ รวมถึงไม่เสนอข่าวรากหญ้าเสื้อแดงจำนวนมากที่ยังถูกจับกุมดำเนินคดี ขณะที่มีการให้ประกันตัวแกนนำแล้ว
จอน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ น่าสนใจว่าเพราะเหตุใดสื่อหลักของไทยจึงไม่นำเสนอข่าวกรณีคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่กำลังขึ้นศาล เนื่องจากไม่ลบข้อความที่มีผู้มาโพสต์ออกด้วย โดยชี้ว่า สื่อต่างประเทศอย่าง บีบีซี นิวยอร์กไทม์ เดอะการ์เดี้ยน ต่างก็ให้ความสนใจข่าวนี้ ทำไมสื่อหลักไทยจึงเชื่องเหลือเกิน
"พื้นที่โฆษณา" ที่มองไม่เห็น
ด้านศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ตอบคำถามของจอนว่าที่สื่อหลักเชื่องเพราะแม้ไม่ได้ถูกควบคุมโดยตรง แต่ถูกควบคุมทางอ้อม ปีที่แล้ว ข้อมูลจากเอเชียนีลเส็น พบว่า งบประมาณของรัฐที่เข้ามาโฆษณาในสื่อต่างๆ เป็นมูลค่า 5,999 ล้านบาท ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี รัฐจึงเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ที่ทำให้สื่ออยู่ได้
ในฐานะผู้ปฏิบัติงานข่าว หากมีโครงการที่มีความขัดแย้งสูง เช่น เขื่อนปากมูล ท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ไทย-พม่า จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้า ปตท.หรือ บริษัทข้ามชาติเข้ามาซื้อพื้นที่โฆษณา แล้วไม่ลงว่าเป็นพื้นที่โฆษณา เป็น advertorial หรือโฆษณาที่แอบแฝง ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เองเขียนว่า "พื้นที่โฆษณา" แต่ตัวอักษรเล็กกว่ามาก อย่างไรก็ตาม มี นสพ.ไทยหลายฉบับที่ไม่บอกว่าเป็นพื้นที่โฆษณา เช่น มติชน
มีกลไกดี แต่ยังไม่ทำงาน
สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า จากการเข้าร่วมเวทีการจัดเสรีภาพสื่อ 3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่หนักเอาการของประเทศไทย โดยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ไทยมีกลไกที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประเทศอื่น อาทิ มีกฎหมายหลายฉบับที่พูดเรื่องการกำกับดูแล พยายามกระจายอำนาจสื่อออกมาจากรัฐ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ทุกอย่างรวมศูนย์ที่รัฐบาล ซึ่งนี่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของไทย
โดยยกตัวอย่างกรณีองค์กรอย่าง กสทช. ซึ่งยังไม่เกิดเสียที เพราะกฎหมายล่าช้า เนื่องจากการล้มรัฐธรรมนูญ ทำให้การพัฒนาหลายอย่างหยุดชะงัก เช่น หยุดการมี 3G การกระจายให้ประชาชนเข้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ขณะที่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ไม่มีกระบวนการกระจายอำนาจ การตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาล เมื่อรัฐบาลบอกว่าจะลงทุนก็ทำได้เลย อย่างไรก็ตาม สุภิญญามองว่า แม้สภาพเช่นนี้ของไทยจะดูถดถอย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน หากสามารถทำให้มีโมเดลที่คานดุลกันได้ ในระยะยาว ภาพรวมสื่อก็จะดีขึ้นในเชิงโครงสร้าง
ด้านเสรีภาพ สื่อไทยมีเสรีภาพโดยรวม แต่ก็มีเรื่องที่พูดไม่ได้ และการที่ประชาชนกล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ก็เท่ากับประชาชนมีความเสี่ยงสูงมากตามไปด้วย เทียบกับมาเลเซีย มีเสรีภาพทางการเมืองน้อยกว่าไทย แต่ไม่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกจับเข้าคุก ขณะที่เมืองไทยมีกว่า 20 คดี ซึ่งอาจสะท้อนว่าเพื่อนบ้านไม่กล้าลุกมาพูดในประเด็นละเอียดอ่อน แต่ประเทศไทยคนกล้าลุกมาพูดมาขึ้น ทำให้เขาถูกจำกัดและขังคุกมากขึ้น เลยกลายเป็นจุดที่ทำให้ไทยมีขัดแย้งในตัวของเราเอง โดยมีจำนวนคนที่ใช้สื่อถูกจับเข้าคุกมากกว่าหลายประเทศซึ่งมีสภาพความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าเรา ซึ่งประเทศไทยต้องหาทางออกและก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ไม่เช่นนั้น เราจะถดถอยและเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศไปอย่างมีดุลยภาพและเป็นประชาธิปไตย
XXX สิ่งที่สื่อหลักไม่เสนอ
ขณะที่ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น กล่าวถึงการไม่เสนอข่าวของสื่อหลักใน 3 กรณี ได้แก่ กรณีวิกิลีกส์ที่แสดงความเห็นเท่าทันต่อสถาบันโดยผู้อาวุโส 3 คน ซึ่งเมื่อวานที่รัฐสภาก็มีการถกเถียงกันเรื่องนี้ ขณะที่ช่วงที่มีข่าวเรื่องนี้ในวิกิลีกส์ แทบไม่เป็นข่าวในสื่อไทยเลย เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์นำเสนอ ต่อมา มีการนำเนื้อหาออก ซึ่งก็ทราบภายหลังว่าเนื้อหาออนไลน์นั้นไม่ได้เกิดจากกอง บก. เกิดจากระบบรันข่าวอัตโนมัติ หรือกรณีนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ที่ไม่ได้ออกจำหน่าย 5-6 ฉบับซึ่งพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างเท่าทัน สื่อก็ไม่ได้สนใจรายงานเป็นข่าว ว่าทำไมสื่ออย่างอิโคโนมิสต์จึงหายไป หรืออีกตัวอย่างคือ เขาได้อ่านหนังสือที่จัดทำโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เอฟซีซีที) มีการลิสต์ชื่อพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งเขาก็เกือบลืมไปแล้ว
"สื่อไทยมีบทบาทอย่างไร ทำให้สังคมไทยเลือกจำบางอย่างหรือลืมบางอย่าง" ประวิตรกล่าวและว่า ถ้าสื่อหลักไม่ยอมเสนอข่าวอย่างเท่าทัน หรือ critical เกี่ยวกับสถาบันฯ สื่อก็ไม่สามารถเรียกตัวเองว่า "กระจก" "ตะเกียง" หรือ "หมาเฝ้าบ้าน" ได้อย่างแท้จริง ขณะที่ประชาชนห่วงเรื่องสถาบันฯ การรายงานเชิงบวกอย่างเดียวและประจบไม่สิ้นสุดจะทำให้เกิดปัญหา เหมือนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นอันตราย ไม่ทำให้สังคมเข้มแข็ง และไม่เป็นผลดีกับประชาธิปไตย
ถาม ทำอย่างไรกับสื่อ-การแสดงความเห็นไม่รับผิดชอบ
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวในนามส่วนตัวว่า ค่อนข้างเห็นด้วยกับเนื้อหาส่วนใหญ่ของรายงาน ทั้งนี้ เขาอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่า สื่อที่เรียกว่าสื่อกระแสหลัก ถูกสอนมาสองเรื่องทั้งโดยทางการและไม่เป็นทางการ หนึ่งคือเสนอข่าวทุกเรื่องได้หมด ยกเว้นเรื่องสถาบัน เพราะคนติดคุกไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยสอนมานานตั้งแต่หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นต้นมา
ประสงค์ กล่าวเสริมว่า สื่อต่างประเทศอย่างนิวยอร์กไทม์นั้นไม่ได้ติดคุกที่นี่ แต่หากบรรณาธิการของเขาอยู่ในเมืองไทยก็อาจจะต้องคิดหนักหากจะเสนอข่าว ความเสี่ยงมันมี โดยปัญหาอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม
ประสงค์กล่าวว่า โดยธรรมชาติ นสพ.กลัวศาล เพราะเราไม่รู้กฎหมาย โดยยกตัวอย่างในอดีตที่มีการห้ามเผยแพร่กฎหมายตราสามดวง หากเผยแพร่จะติดคุก เราจึงมีความกลัว ไม่รู้ว่าอย่างไรคือการวิพากษ์ทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม ระยะหลังสังคมไทยก็วิจารณ์ศาลมากขึ้น ช่วงหลังตนเองก็ได้วิจารณ์คำพิพากษาหลายครั้ง ทั้งด้านบวกและลบ
ประสงค์กล่าวต่อว่า ในรายงานเรื่องนี้เขียนว่ามีการปราบปราม หรือปิดสื่อนั้น ตั้งคำถามว่า สื่อในที่นี้หมายถึงช่องทางหรือสื่อสารมวลชนวิชาชีพระดับสูงกันแน่ กรณีที่มีสื่อออกอากาศ 24 ชม. ไม่มีผังรายการ ขึ้นเวทีด่ากัน บอกว่าต้องฆ่ากัน นี่เป็นวิชาชีพระดับสูงหรือไม่ แล้วเราจะจัดการกับพวกนี้อย่างไร ปล่อยให้ด่าพ่อล่อแม่ ไม่มีผังรายการหรือ
ทั้งนี้ อาจรวมถึงสื่อใหม่ด้วย หลายคนพอนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ก็แสดงความคิดเห็นเต็มที่ แต่ไม่กล้าออกชื่อ เขาเองเขียนบทความมา 20 กว่าปี ไม่เคยปัดความรับผิดชอบ และไม่เคยถูกฟ้องเลย ปัญหาคือเราต้องการแสดงความเห็น แต่ไม่กล้ารับผิดชอบหรือไม่ ถ้ารับก็โอเค
สำหรับระบบกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญคุ้มครองได้ดี โดยมีข้อจำกัดที่น่าจะมีปัญหาจริงๆ เรื่องเดียวคือ มาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาในบทบัญญัติที่โทษสูงมากถึง 15 ปี แต่ปัญหาที่ยิ่งกว่า คือกระบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีปัญหาจากทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ในอดีต ส่วนกฎหมายอื่นที่เป็นข้อจำกัด แม้แต่ พ.ร.บ.คอมฯ มีปัญหา 2-3 อันคือ เรื่องความผิดความมั่นคงที่เอาไปใส่ในคอมพิวเตอร์ น่าจะแยกจากกัน นอกจากนี้จริงๆ แล้ว กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลในการสั่งปิด แต่กระบวนการมั่ว ดังนั้น ถ้าแยกประเด็นของกฎหมายและการบังคับใช้ออกจากกัน จะเห็นภาพชัดขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหาการกระจุกตัวของการผูกขาดสื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญระบุว่าห้ามควบรวบหรือผูกขาดสื่อที่จะกระทบต่อการแสดงความเห็นของสังคม การออกกฎเกณฑ์ของ กสทช.จะเป็นนามธรรมมาก เป็นโจทย์ใหญ่ของ กสทช. ซึ่งองค์กรต่างๆ ต้องช่วยให้เกิดการวางเกณฑ์ตรงนี้
ชี้ยังตรวจสอบเนื้อหาสื่อต่ำ
อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ยังมีการพูดถึงกลไกกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพน้อย ทั้งนี้ เขาเสนอว่า ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ น่าจะเริ่มกลไกนี้ได้ โดยให้สื่อกำกับควบคุมดูแลกันเอง แบบผู้ตรวจการสื่อ โดยเป็นกลไกอิสระ มีคนนั่งทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพโดยไม่ขึ้นกับกรรมการนโยบาย อาจทำให้สื่อในประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเมื่อมีการตรวจสอบที่ดี สังคมยอมรับ และยอดขายก็จะดีตามด้วย
ด้านการตรวจสอบของภาคประชาสังคม มีการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่การตรวจสอบเนื้อหามีน้อย ไม่ชี้ตัวปัญหา ทั้งนี้ เขาได้ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ http://churnalism.com/ ของ Media Standard Trust ในอังกฤษ ซึ่งเห็นปัญหาว่าธุรกิจประชาสัมพันธ์ ครอบงำสื่อเยอะ และลอกข่าวจากข่าวแจก (press release) จึงเปิดเว็บให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยหากคัดลอกข่าวแจกมา จะมีการดูดข้อมูล และบอกได้ว่า แต่ละเว็บข่าวคัดลอกมากี่เปอร์เซ็นต์ หรือ นสพ.ไหน มีข่าวหนักไปทางไหน ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าควรเชื่อสื่อนั้นๆ หรือไม่
ความสัมพันธ์ของสื่อกับการเมือง
ชวิดา วาทินชัย ผู้สื่อข่าวช่อง 9 อสมท. แสดงความเห็นว่า สื่อมักบอกว่าไม่อยากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่เมื่อวันก่อนได้เห็นการเคลื่อนไหวของนักข่าวในนามสหภาพ อสมท. ไปยื่นหนังสือนายกฯ โดยมีการจัดห้องรับรอง ซึ่งทราบว่ามีสื่อใช้ความสนิทสนมกับนายกฯ ระบุกำหนดการนี้ในวาระงานล่วงหน้า ขณะที่เมื่อม็อบคนงานมา นักข่าวในทำเนียบไม่เดินออกมาหา สิ่งที่น่าสะเทือนใจคือ บรรทัดฐานเหล่านี้สื่อต้องถามตัวเองว่า อยากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงเฉพาะเรื่องที่อยากให้เปลี่ยนแปลงหรือไม่
การตลาด 112
สุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวจาก นสพ.ไทยรัฐ ตั้งข้อสังเกตจากรายงานว่า เมื่อดูรายชื่อผู้ประเมินแล้ว พบว่าส่วนใหญ่คือผู้บริหาร นักข่าวอาวุโส ไม่มีดัชนีชี้วัดจากนักข่าวในสนามจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการของสื่อมวลชนที่บอกว่าเพียงพอนั้น จริงๆ แล้วไม่เพียงพอ เพราะเงินเดือนไม่ได้มากมาย ข้อมูลบางอย่างค่อนข้างเก่า ไม่อัพเดทกับสถานภาพวันนี้ที่สื่อทุกแขนงแข่งกันด้านการตลาดและเชิงปริมาณค่อนข้างมาก นักข่าวบางสำนักทำงานวันหนึ่งเกือบ 10 ข่าว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่วันละ 1-2 ข่าวเชิงคุณภาพ นอกจากนี้บางสำนักยังบอกว่า นักข่าวต้องสายพันธุ์ทำงานครบวงจร ขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่ม
นอกจากนี้ แม้ว่าในรายงานจะพูดถึงการแทรกแซงทางการเมืองของภาครัฐ หรือกลุ่มทุน แต่ก็ไม่ได้ศึกษาการแข่งขันด้านการตลาดของแต่ละสื่อ ที่มีผลต่อสภาวการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือความขัดแย้ง ทางชุมชน โดยยกตัวอย่างสื่อที่เรียกว่าสื่อฝ่ายแดง ก็ยังมีการแข่งขันกันเอง สื่อไหนไม่หยิบเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อมาตรา 112 มาเล่น ก็ขายไม่ออก ไม่มีคนตาม
ไม่เห็นด้วยกลุ่ม-พรรคการเมืองมีสื่อของตัวเอง
โชคชัย สุทธาเวธ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อยากให้ลดอิทธิพลของพรรคหรือกลุ่มการเมืองในการควบคุมสื่อ โดยจากการสังเกตตั้งแต่สมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม สิ่งที่ค่อนข้างวิตกกังวลคือ การที่พันธมิตรฯ มีสื่อของตัวเองในการควบคุมความรู้ความเข้าใจของประชาชน ตั้งคำถามว่า กลุ่มนักวิชาชีพได้พูดคุยกันไหมว่า กลุ่มการเมืองควรมีสื่อสาธารณะของตัวเองหรือไม่ เพราะเผยแพร่อุดมการณ์อย่างสูงได้โดยที่รัฐคุมไม่ได้ ต่อมาพอเสื้อแดงชุมนุมก็มีสื่อของตัวเอง น่าตกใจว่าประชาชนอยู่ใต้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากคนเสื้อแดงอย่างกว้างขวาง โดยยกตัวอย่างสหรัฐฯ ช่วงที่พรรคการเมืองพยายามมีสื่อของตัวเองว่า พบว่าทำให้สังคมวุ่นวายมากกว่า ถ้าพรรคต้องการเผยแพร่ความคิดควรให้สื่อเสรีเข้าไปทำหน้าที่แทนการมีสื่อของตัวเอง
ถามใครต้องรับผิดชอบ สื่อ? ผู้บริหาร?
นิพนธ์ นาคสมภพ นักวิชาชีพสื่ออิสระ กล่าวถึงความรับผิดของสื่อโดยตั้งคำถามว่า จะลงโทษผู้บริหารหรือผู้เผยแพร่ โดยเมื่อดูมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ พบว่า ผู้บริหารไม่สามารถทำอะไรสื่อหรือผู้เผยแพร่ได้เลย ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 51 มาตรา 30 ผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบในการกระทำของผู้อำนวยการสถานี ตั้งคำถามว่า แล้วเราจะเชื่อรัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.บ. และสรุปแล้ว ผู้บริหารสามารถไล่ผู้เผยแพร่ออกได้หรือไม่ หรือต้องติดคุกแทน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องพูดกันอย่างมาก
กรณีที่การหมิ่นประมาทจนถึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากมีคนถูกหมิ่นประมาท เช้า กลางวัน เย็น แล้วจะให้เขาอยู่ได้อย่างไร นิพนธ์ตั้งคำถามว่า จะหยุดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งหากศาลสามารถตัดสินได้ 24 ชม. ก็อาจไม่ต้องมีกฎหมายอื่นเลยก็ได้ เพราะการพูดหนึ่งคำพูด มันกระจายไปทั่วโลก
นิพนธ์กล่าวถึงความกังวลใจจากฝั่งผู้บริหารว่า ทุกวันนี้ นักวิชาชีพมีกลุ่มแก๊งของตัวเอง เช่น แก๊งสภา แก๊งไทยคู่ฟ้า ซึ่งข่าวที่เสนอออกมาเหมือนกันหมด ตั้งคำถามว่า นี่คือการควบคุมโดยระดับล่าง ซึ่งระดับบนทำอะไรไม่ได้หรือไม่ นี่คือความทุกข์ใจของผู้บริหาร ทำไมไม่เคยมีการหยิบประเด็นนี้มาพูดกัน
ในช่วงท้าย จอน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คดีของจีรนุชที่บอกว่าสื่อควรสนใจนั้น เป็นเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งพูดกันเรื่องเสรีภาพสื่อ เนื่องจากโจทก์บอกว่า ถ้ามีความเห็นปรากฎบนเว็บ แม้เพียง 1 วินาที ก็ผิดกฎหมาย สื่อต่างประเทศรายงานประเด็นในระหว่างการขึ้นศาล ขณะที่สื่อไทยเงียบ หรือในกรณีคนถูกจับขังลืม สื่อไทยก็เงียบ
จอนยกตัวอย่างว่า กรณีวิกิลีกส์ สื่อสามารถนำเสนอได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เช่น รายงานว่า วิกิลีกส์เสนอประเด็นที่มีคนสามคน คือใครบ้าง คุยกับทูตอเมริกัน และบอกว่าไม่สามารถเสนอเนื้อหาได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งประชาชนก็จะไปหาอ่านเอง แต่สื่อหลักตอนนี้กำลังกลายเป็นสื่อบันเทิง ขณะที่สื่อที่มีความหมาย เป็นสื่อออนไลน์ ที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เป็นมืออาชีพ แต่พูดในเรื่องที่สำคัญ เรื่องอนาคตสถาบันกษัตริย์ถ้าปิดเงียบ เขามองว่าจะไม่มั่นคง จะให้มั่นคง ต้องสามารถพูดถึงได้
ประวิตร โรจนพฤกษ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สื่อกับสังคมแยกไม่ออกแล้วว่า การแสดงความเห็นอย่างเท่าทันและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับสถาบันฯ ต่อที่สาธารณะ กับความเห็นเชิงดูหมิ่นหรือใส่ร้ายต่อสถาบันนั้น ต่างกันอย่างไร ถ้าได้อ่านในวิกิลีกส์ จะพบว่าเป็นความเห็นเท่าทันที่หวังดีต่อสถาบัน แต่สิ่งเหล่านั้นสื่อก็ปฏิเสธซึ่งที่ว่าอาจเกิดจากการปลูกฝังนั้น มองว่าก่อนสมัยสฤษดิ์ สื่อไทยก็เคยรายงานข่าวอย่างเท่าทัน อย่างไรก็ตาม หากการปลูกฝังผิด หรือไม่เอื้อต่อสังคม ตั้งคำถามว่าสื่อจะนิ่งดูดายอยู่เฉยๆ หรือ และถ้าไม่เปลี่ยน ถามว่าคุณเป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือไม่ หรือเป็นพลังอนุรักษ์สิ่งที่อาจไม่เอื้อต่อประชาธิปไตย
กรณีสื่อเหลืองสื่อแดงนั้นมองว่า ไม่ใช่ว่าเมื่อมีการใส่ร้ายกัน และมีการปิดสื่อแล้ว ก็จะปล่อยไปได้โดยไม่เดือดร้อน แต่ควรต้องวิจารณ์การรายงานแบบนั้นๆ ท่าทีของสมาคมสื่อไม่ควรดูดาย ควรดีเบตว่าอะไรเป็นสื่อ เป็นคำถามให้สังคมหาคำตอบและตัดสินเอง เพราะหากมีการกล่าวหากัน ก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว
ด้านประสงค์ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่พูดนั้นเป็นการอธิบายปรากฎการณ์ว่ามีแนวคิดแบบนี้ปลูกฝังมานาน ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ มองว่าที่จอนแนะนำคือกลวิธี แต่คนที่รับผิดชอบอาจไม่ได้คิดอย่างนั้น และกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนถึงสูงสุดยังไม่แน่นอน จึงตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยเลือกที่จะไม่เสนอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น