วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ARCHIVE–น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับอิตัลไทยกรุ๊ป

 

ARCHIVE–น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับอิตัลไทยกรุ๊ป

ชัยยุทธ กรรณสูต 26 เมษายน 2464 - 29 พฤศจิกายน 2547

ปี 2522-2526 อิตัลไทยกรุ๊ปเผชิญวิกฤติผู้บริหาร อันเป็นผลพวงการเสียชีวิตของเอกชัย กรรณสูต และแบร์ลิงเจียรี น.พ.ชัยยุทธ มิเพียงประคับประคองอิตัลไทยให้รอดวิกฤติครั้งนั้นเท่านั้น ยังขยายอาณาจักรออกไปไม่หยุดยั้ง   

เรื่องประกอบ

ARCHIVE–นพ.ชัยยุทธกับ แบร์ลิงเจียรี

ARCHIVE–Break the Ice หมอชัยยุทธ กับความในใจอันเจ็บปวด

น.พ.ชัยยุทธ แม้เขาปรารถนาจะวางมือ แต่ทำไม่ได้ มิหนำซ้ำเขายังต้องทำงานหนักในช่วงบั้นปลายของชีวิต…

คนที่รู้จักหมอชัยยุทธดีบอกว่า เขาดูเหมือนจะมีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต สำหรับชายชราที่ควรจะถึงเวลาพักผ่อนแต่เขามีกรรมตรงที่ยังต้องทำงานต่อไปๆ ไม่มีวันหยุด อาจจนตลอดชีวิต

เมื่อหมอชัยยุทธกับเพื่อนรัก-จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี บุกเบิกสร้างธุรกิจในประเทศไทยจนเป็นปึกแผ่นและแผ่ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง เขาทั้งสองยังหนุ่มแน่นและทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยจึงไม่กังวลปัญหาอนาคต เท่าใดนัก

ทั้งๆ ที่เขาทั้งสองได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ "โชคร้าย" เรื่องทายาท โดยเฉพาะแบร์ลิงเจียรี-เขาให้กำเนิดทายาทเพียง 2 คน เป็นหญิงทั้งคู่ คนแรกแต่งงานกับมัณฑนากรในตระกูลขุนนางฝรั่งเศส ตัดขาดจากโลกธุรกิจอย่างสิ้นเชิง อีกคนหนึ่งพิการตลอดชีวิต แม้ภรรยาแบร์ลิงเจียรีจะชอบเมืองไทยอย่างมากๆ ก็มิได้หมายความว่าเธอจะปักหลักชีวิตไว้ที่นี่อย่างสิ้นเชิง

ปัญหาอนาคตของอิตัลไทยกรุ๊ปก็คือทีมบริหารงานที่มีความสามารถ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาซึ่งรับช่วงภารกิจที่หมอชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี แบกอยู่อย่างหนักอึ้งอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

วันที่ 16 เมษายน 2521 วันที่เปิดตึก 16 ชั้นบ้านใหญ่อิตัลไทยกรุ๊ป บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ อันแสดงถึงความก้าวหน้าและมั่นคงของกรุ๊ปนั้น จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความสำเร็จของอิตัลไทยกรุ๊ปว่า มีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ หนึ่ง-มิตรภาพที่จริงใจและจริงจังระหว่างเขากับนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ในฐานะผู้ก่อตั้ง สอง-การพัฒนาอย่างแข็งขันของประเทศไทยที่สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และได้รับผลสำเร็จไม่น้อย สาม-ทีมทำงานของอิตัลไทยกรุ๊ป ที่อุทิศตัวซื่อสัตย์ และทุ่มเททำงานหนัก

นับแต่ปี 2489 จนถึงปี 2521 หรือห้วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่หมอชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี ทุ่มโถมกำลังกาย สมอง และทรัพย์ ผ่านอุปสรรคขวากหนามถึงทางสะดวกแล้ว เมื่อปี 2521 อิตัลไทยจึงเป็นกลุ่มธุรกิจไทยกลุ่มหนึ่งที่เปิดตัวออกมาอย่างน่าเกรงขาม และดูเหมือนจะมีความพร้อมทุกด้าน

ปี2521 อิตัลไทยเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ที่มีกิจการ 5 สาขาหลัก หนึ่ง-การค้า-สอง-ก่อสร้าง สาม-โรงงานอุตสาหกรรม สี่-โรงแรมและธุรกิจที่ดิน และห้า-ธุรกิจหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้อิตัลไทยก็ยังคงฐานะธุรกิจแขนงต่างๆ เหล่านี้ไว้ โดยที่พยายามขยายขนาดเพิ่มขึ้นๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

ปี 2489 น.พ.ชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี ร่วมก่อตั้งบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมจำกัด อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจอิตาเลียนกับนักธุรกิจไทยคู่หนึ่งที่เป็น "ตำนาน" เล่าขานจากวันนั้น มาจนถึงวันนี้ และวันต่อๆ ไปอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อธุรกิจของเขา Diversified กว้างขวางออกไป ชื่ออิตัลไทยจึงถูกขนานนามเป็นบริษัทแม่ หรือเป็น "ตัวแทน" กลุ่มธุรกิจ 25 บริษัทในปัจจุบัน

บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม ทำธุรกิจการค้าโดยการนำสินค้าเข้ามาขายเป็นหลักในระยะแรกๆ "เราเป็นคนแรกที่สั่งเตาแก๊สมาขาย" น.พ.ชัยยุทธเคยบอกถึงตัวอย่างสินค้าที่เขาบุกเบิก และนอกจากนี้ก็ทำงานด้านวิศวกรรม กาลต่อมาบริษัทอิตัลไทยจึงเป็น "แกน" ของกรุ๊ปที่ดำเนินธุรกิจการค้า (Trading) ที่แตกแขนงออกไป

ปี 2501 บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ไอทีดี) ก็เกิดขึ้น กระโจนเข้าสู่วงการก่อสร้าง ช่างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเหลือเกินที่เป็นยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เปิดประเทศต้อนรับสหรัฐอเมริกา เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างขนานใหญ่ งานพัฒนาด้าน infrastructure เกิดขึ้นอย่างมาก อีกประการหนึ่งจอมพลผ้าขะม้าแดงดำเนินนโยบายประสานสหรัฐฯ ปราบปรามคอมมิวนิสต์ อันเป็นเหตุอีกประการหนึ่งที่กระตุ้นให้การพัฒนาชนบทเกิดขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ งบประมาณของรัฐและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทุ่มไปในการสร้างถนนหนทางสายยุทธศาสตร์ในชนบท

อิตาเลียนไทยเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักและเป็นสัญลักษณ์ของกรุ๊ปตั้งแต่นั้นมา เพียงปีแรกทำรายได้ประมาณ 40 ล้านบาท ปีที่สองพุ่งขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 70 ล้านบาท ปี 2505 มีรายได้ถึง 200 ล้านบาท และในปี 2522 หรือเมื่อครบ 20 ปี ไอทีดี ทำรายได้กระโจนชนเพดาน 1,200 ล้านบาท   ไอทีดี เป็นบริษัทก่อสร้างของคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น

ปี 2509 อิตัลไทยขยายอาณาจักรส่งธุรกิจโรงแรมโดย take over โรงแรมนิภาลอร์ด "เราไปสร้างโรงแรมนิภาลอร์ด ที่พัทยา เสร็จแล้วคนที่จ้างเราไปสร้าง เขาไม่มีสตางค์จ่าย เราต้องเข้าไปเทกโอเวอร์เป็นโรงแรมแห่งแรกในพัทยา ขณะนั้น…" อดิสร จรณะจิตต์ ลูกเขยคนที่สองของนายแพทย์ชัยยุทธ ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอิตัลไทยกรุ๊ป เคยสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่ง

ปี 2511 แบร์ลิงเจียรี ตัดสินใจเข้าถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมโอเรียนเต็ล จากบริษัทหลุยส์ ที โนเวนส์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในธุรกิจโรงแรมของอิตัลไทยกรุ๊ปในเวลาต่อมา จนได้ชื่อว่า อิตัลไทยกรุ๊ป คือราชาโรงแรมตัวจริงของเมืองไทย!

ปี 2516 ตั้งโรงงานหล่อโลหะ ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ รถยนต์ รถแทรกเตอร์ที่ อ.บางปะอิน จ.อยุธยา บริษัทเครื่องจักรกลสยาม หรือเรียกกันในนามเอสเอ็มอี เป็นก้าวแรกที่สำคัญของประวัติศาสตร์อิตัลไทยกรุ๊ปที่ลงสู่พื้นฐานอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักคือ การก่อสร้าง

ปี 2521 เปิดศักราชใหม่แก่วงการอุตสาหกรรม และกองทัพเรือไทย โดยที่อิตัลไทยร่วมทุนกับ Oriental Marine และ Laminates ตั้งบริษัทอิตัลไทยมารีน ดำเนินกิจการอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยได้รับว่าจ้างต่อเรือปืนและเรือยกพลขึ้นบกลำใหญ่ที่สุดของประเทศให้แก่กองทัพเรือ อันถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทนี้จนได้ชื่อว่า "ผูกขาด" การต่อเรือตามความต้องการของกองทัพเรือไทยตั้งแต่นั้นมา และในปีนี้ได้ก้าวออกนอกประเทศครั้งแรก ชนะประมูลต่อเรือให้กับรัฐบาลพม่าด้วย

ปี 2509 อิตัลไทยถูกชัดนำเข้าสู่วงการธุรกิจหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยครั้งแรกเข้าซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ และต่อมาได้ขยายตัวเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย

"น่าจะขยายความออกไปได้อีกว่าเพราะคุณหมอชัยยุทธ เป็นคนสายสะพานควาย จึงได้รับแรงหนุนทางอำนาจ ทำให้อิตัลไทยโตขึ้น" ผู้รู้คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตเพิ่มปัจจัยการเติบโตของอิตัลไทยกรุ๊ป นอกเหนือจากที่แบร์ลิงเจียรีกล่าวเอาไว้

"สายสะพานควาย" หมายถึง Connection ที่มีกับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในยุคที่อิตัลไทยเริ่มเติบโต บ้านจอมพลสฤษดิ์ อยู่ที่สะพานควาย  น.พ.ชัยยุทธ มี Connection ล้ำลึกกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยผ่านจอมพลประภาส จารุเสถียร "คุณประภาสเกี่ยวดองกับกรรณสูตมานานครั้งคุณลุงผม เป็นญาติห่างๆ" เขาเป็นคนบอก กับผมเอง

ธุรกิจไทยในยุคนั้น หากไม่พูดถึงเรื่องนี้ ดูจะเป็นการตัดทอนประวัติศาสตร์ไป และที่ค่อนข้างจะแปลกใจเมื่ออิตัลไทยกรุ๊ปสามารถผ่านมรสุมช่วงหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไปได้ โดยอาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีผลกระทบเลย แต่หากรู้จักหมอชัยยุทธดี ก็จะรู้ว่าระหว่างเขากับบรรเจิด ชลวิจารณ์ แล้วหมอชัยยุทธ practical มากกว่า และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดีกว่า

ตรงนี้ชี้ถึงความชาญฉลาดของ น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต อย่างมากๆ ซึ่งไม่มีในตัวของแบร์ลิงเจียรี และดูเหมือนว่าหมอชัยยุทธจะยังคงลักษณะพิเศษอันนี้มาจนถึงปัจจุบัน จนที่จะหาใครในอิตัลไทยกรุ๊ปเทียมทาน หมอชัยยุทธกับแบร์ลิงเจียรีมีความสามารถที่แตกต่าง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมิเพียงบวกเท่านั้น หากเป็นทวีคูณ

"เขา take care เรื่องฝรั่งทั้งหลาย ผม take care ภายในประเทศ ทุกเช้าถ้าผมอยู่…ผมจะไปหาเขาปรึกษาหารือกันว่าวันนี้เราจะทำอะไร อะไรที่เขารู้ ผมรู้ อะไรที่ผมรู้เขาก็รู้…" น.พ.ชัยยุทธ บอกกับผมถึงความสามารถที่แตกต่างแต่ร่วมกันของเขาทั้งสอง

ในฐานะผู้บริหารคู่กันมาตลอด และถือหุ้นฝ่ายละ 50% ในบริษัทหลักๆ ของอิตัลไทยกรุ๊ป  ที่สำคัญเขาทั้งสองบริหารงานแบบ Thai style   ว่ากันว่าหากจะดูรูปแบบการบริหารอิตัลไทยกรุ๊ป ให้ดูที่บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ซึ่งศูนย์บัญชางานอยู่ที่ชั้น 15 บนตึกอิตัลไทย

"โครงสร้างที่มีคน 2 คน คือหมอชัยยุทธ และแบร์ลิงเจียรี นั่งอยู่ข้างบน แล้วก็มีคนอีกนับพันคนยังอยู่ข้างล่างลงมาในแนวราบ เพราะฉะนั้นถ้าผมเป็นนายช่างคุมสร้างทางอยู่ปักษ์ใต้ ถ้าผมอยากจะรู้ว่าบูลโดเซอมันจะมาถึงผมเมื่อไร ผมก็ยกหูโทรศัพท์ไปถึงแบร์ลิงเจียรีเพื่อสอบถามจากนั้นแบร์ลิงเจียรีก็จะยกหูไปถามฝ่ายรถว่าส่งบูลโดเซอส่งไปปักษ์ใต้หรือยัง ทราบว่าอย่างไรแล้วก็ยกหูไปบอกทางปักษ์ใต้อีกที" พนักงานเก่าของอิตัลไทยพูดถึงสไตล์การทำงานของหมอชัยยุทธและแบร์ลิงเจียรีที่เหมือนๆ กัน

หมอชัยยุทธ รับผิดชอบงานภายในประเทศ ออกเดินทางดูงาน ติดต่องานในต่างจังหวัดแทบไม่มีเวลาอยู่สำนักงาน ส่วนแบร์ลิงเจียรีมีอำนาจจัดการเรื่องทั่วไปในแต่ละวัน ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา จนกลายเป็นธรรมเนียมตลอดมาว่า ฝรั่งต้องดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปจนถึงปลายปี 2528

แต่เขาทั้งสองมีลักษณะที่แตกต่างที่สำคัญคือการสร้างทีมงาน  แบร์ลิงเจียรีคุมงานประจำ ก็สร้างทีมงานประจำของตนขึ้นมาอยู่มิขาด โดยใช้วิธีการสมัยใหม่จ้างบริษัทที่ปรึกษาเปิดรับสมัคร คัดเลือก เสริมเลือดฝรั่งเข้าทีมอยู่เสมอๆ ว่ากันว่าบ่อยครั้งเมื่อหมอชัยยุทธกลับมาจากต่างจังหวัด จะพบฝรั่งแปลกหน้าและแบร์ลิงเจียรีก็ต้องแนะนำว่าคนเหล่านั้นทำงานด้านไหน ซึ่งดูเขาจะไม่ใส่ใจจำเท่าใดนัก ข้างฝ่ายหมอชัยยุทธ ก็พาเหรดลูกหลานเข้ามาทำงานในอิตัลไทยเป็นระยะๆ งานแทบทุกระดับจะมีคนเหล่านี้แทรกอยู่ "บางคนมาถึงไม่นาน ก็กระโดดข้ามเป็นผู้บริหารไปเลย ทำเอาผู้อยู่มาก่อนกลุ้มไปเหมือนกัน"

เมื่อหัวแถวยังแข็งแรง และเสริมทีมอยู่มิขาด ปัญหาผู้บริหารดูจะไม่ใช่ปัญหาของอิตัลไทยกรุ๊ปเลยจริงๆ หากเวลาหยุดแค่ปี 2522   เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างได้ถูกกาลเวลากระชากไปด้วย

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2522 เอกชัย กรรณสูต เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ และวันที่ 1 ธันวาคม 2524 จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โดยไม่มีใครช่วยทัน เหตุการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นไม่ห่างกันนัก สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของอิตัลไทยกรุ๊ป และท้าทายอนาคตอย่างหนัก

เอกชัย กรรณสูต เป็นลูกชายคนแรกของนายแพทย์ชัยยุทธ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเขาถูกวางตัวเป็นทายาทของอิตัลไทยในอนาคต ซึ่งเขาได้ชื่อว่ามีคุณสมบัติพร้อมที่สุด

เอกชัย เกิดวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2490 เข้าโรงเรียนอนุบาลและเด็กเล็กที่โรงเรียนดรุโณทยาน ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน แล้วจึงย้ายไปเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกภาษาฝรั่งเศส ปี 2507 เอกชัยไปเรียนต่อที่ Riverdale Country School สหรัฐฯ 2 ปีก่อนจะเข้าเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมช่างกลที่ Worcester Polytechnic Institute ปี 2512 เข้าเรียนปริญญาโท Industrial Management ที่ North Eastern University

เขากลับมาเมืองไทยเริ่มทำงานกับบริษัทอิตาเลียนไทย ช่วยคุมงานก่อสร้างถนนสายลำปาง-ลี้ อยู่ระยะหนึ่ง จึงย้ายมาเป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทเครื่องจักรกลสยามที่อำเภอบางปะอิน และที่นี่เป็นสุดท้ายที่เอกชัยทำงาน   เอกชัยสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 32 ปี 10 วัน

หนังสืองานศพของเอชัย กรรณสูต ได้อรรถาธิบายรายละเอียดอุบัติเหตุครั้งสำคัญของครอบครัวกรรณสูตไว้อย่างละเอียด "…เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2522 เอกชัย ขับรถกลับจากที่ทำงานค่ำกว่าปกติ เวลา19.30 น. ที่กม.47-48 ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รถบรรทุก 10 ล้อ…มุ่งตรงไปยังอำเภอบางปะอิน จะด้วยเหตุใดไม่ทราบได้วิ่งผ่านร่องแบ่งระหว่างถนนข้ามไปยังถนนฝั่งตรงข้าม ชนรถตู้ซึ่งวิ่งอยู่เลนในของทางตรงข้าม รถตู้กระเด็นถอยหลังไป รถ 10 ล้อ ยังคงวิ่งผ่านเส้นศูนย์กลางถนนไปอีก เป็นจังหวะเดียวกันกับรถเฟียตหมายเลข 4 ด 6146 ของเอกชัย กรรณสูต ขับมาถึงพอดีในแนวไหล่ของถนนจึงชนกับรถสิบล้อ ด้วยความแรงทำให้รถหมุนกลับไปเกือบอยู่ในแนวตรงข้าม และรถสิบล้อก็พลิกตะแคงทับรถของเอกชัยซ้ำอีกเกือบมิดคัน…"

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องบอกว่าน.พ.ชัยยุทธเสียใจมากแค่ไหน คนที่ใกล้ชิดจะเห็นใจมากเพราะเขาซึมไปเป็นปี  เขา เขียนคำไว้อาลัยการจากไปของลูกชาย-ความหวังของกรรณสูตและอิตัลไทยกรุ๊ป ความยาว 5 หน้า เป็นถ้อยคำที่กินใจ สะเทือนใจและสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเขาและอนาคตของอิตัลไทยกรุ๊ปในบางแง่มุม (โปรดอ่าน "Break the Ice…")

ยังไม่ทันที่หมอชัยยุทธจะคลายความโศกเศร้า หลังจากนั้นอีก 2 ปี เพื่อนรัก-แบร์ลิงเจียรี ผู้ซึ่งกอดคอร่วมสร้างอิตัลไทยกรุ๊ปกันมา จนเป็นปึกแผ่นต้องจากไปอย่างกะทันหันอีกคน

แบร์ลิงเจียรี หัวใจวายตอนเช้า วันที่ 1 ธันวาคม 2524 โดยที่ไม่มีใครช่วยทัน เพราะมันเช้าเกินไป ยังไม่มีคนมาทำงาน

แบร์ลิงเจียรี เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักบริหารการเงินชั้นยอด เขาติดต่อธนาคารต่างประเทศอย่างไม่เคอะเขินและมีท่วงทำนองที่แหล่งเงินกู้ระดับโลกเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเป็นคนฉับไวต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินโลกที่หาตัวจับยาก

"หลายโครงการโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ชมพูทวีป งานที่ประมูลได้นั้น คำนวณรายรับ-รายจ่าย แล้วจะเห็นว่าไม่มีกำไร แต่แบร์ลิงเจียรี เห็นว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาล หากกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินให้สอดคล้องกับเวลา ซึ่งก็หมายถึงผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่กลายเป็นผลกำไรขึ้นมา" อดีตพนักงานอาวุโสของอิตัลไทยคนหนึ่งชำแหละฝีมือแบร์ลิงเจียรีออกมาอย่างเห็นภาพ

แม้แต่ในประเทศไทย อิตัลไทยก็ดำเนินแบบเดียวกัน เท่าที่ติดตามพบว่าการประมูลก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ในประเทศไทย อิตัลไทยกรุ๊ปก็เหมือนๆ กับผู้รับเหมาก่อสร้างระดับโลกทั้งหลายเสนอราคาประมูลเป็นเงินตราต่างประเทศหลายสกุล

แบร์ลิงเจียรีวางจุดหลักงานของเขาไว้ที่บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติมากเป็นพิเศษ และงานของอิตาเลียนไทยในส่วนงานก่อสร้างในต่างประเทศ

การที่แบร์ลิงเจียรี รับฝรั่งเข้าทำงานในระดับบริหารหลายคนนั้น บางคนของตระกูลกรรณสูตมองว่าเขาพยายามสร้างฐานอำนาจ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป (เมื่อเขาตายแล้ว) พิสูจน์ได้ว่า เขามีสายตายาวไกลอันมีคุณูปการต่ออิตัลไทยกรุ๊ปอย่างมากเหมือนจะรู้ว่าตนเองจะอยู่ได้อีกไม่นาน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเขาอาจจะคิดว่าคนไทยฝ่ายหมอชัยยุทธคงจะยังไม่เติบโตพอจะเดินงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศเองได้ทั้งหมด

จุดนี้เองที่ลดทอนแรงกระทบเมื่ออิตัลไทยกรุ๊ปขาดแบร์ลิงเจียรีลงไปได้มาก  ในทางตรงกันข้าม ตระกูลกรรณสูตกลับได้ประโยชน์อย่างมากในเวลาต่อมาที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างสิ้นเชิงในกิจการของอิตัลไทยกรุ๊ป

บริษัทอิตัลไทยอุตสาหรรม หมอชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2526 ฝ่ายแบร์ลิงเจียรีถือหุ้นลดลงเหลือประมาณ 31% จนมาถึงวันที่ 23 เมษายน 2528 มรดกที่เป็นหุ้นในบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมของแบร์ลิงเจียรีเหลือเพียง 10 หุ้นเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมด 500,000 หุ้นหรือทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท)

บริษัทอิตาเลียนไทยฯ หมอชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรีถือหุ้นฝ่ายละ 50% ตั้งแต่วันก่อตั้ง จนถึงปี 2518 แบร์ลิงเจียรีก็ลดหุ้นของฝ่ายตนเหลือเพียงประมาณ 25% เหมือนกับจะตั้งใจถอนตัวออกมาในที่สุด เมื่อถึงเวลาอันควร พอหลังจากเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2528 ไม่มีหุ้นของฝ่ายแบร์ลิงเจียรีเหลือแม้แต่หุ้นเดียวในบริษัทนี้

"เมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีใครสืบเนื่องโดยตรง ผมก็ซื้อหุ้นจากภรรยาของเขาเกือบทั้งหมด" น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต อธิบายเหตุผลแบบกะทัดรัดให้ ฟัง

หมอชัยยุทธเล่าว่า หลังการตายของแบร์ลิงเจียรีแล้ว โดมินิค ไซมอน แม็ตเตอเว็ตได้เข้ามาเป็นผู้จัดการทั่วไป และ ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา ลูกเขยคนแรกของเขามาเป็นกรรมการผู้จัดการ

แม็ตเตอเว็ต เป็นชาวฝรั่งเศส แบร์ลิงเจียรี รับสมัครเขาเข้ามาทำงานจนถึงเวลานี้ประมาณ 8 ปี แล้ว  แต่บางกระแสข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง-โมแลนด์ ซึ่งถือกันว่าเป็นมือขวาของแบร์ลิงเจียรี ได้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการทั่วไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำหน้าที่ที่แบร์ลิงเจียรีทำอยู่เดิม "มร.โมแลนด์ถึงแก่กรรมอย่างไม่คาดฝันที่บริเวณก่อสร้างเขื่อนเขาแหลมด้วยโรคหัวใจวาย"อดีตพนักงานคนเดิมกล่าว

ว่ากันว่า นอกจากแบร์ลิงเจียรีและโมแลนด์แล้ว หมอชัยยุทธไม่เคยเชื่อมือและสนใจฝรั่งคนไหนเลย และยิ่งเมื่อ "กรรณสูต" ถือหุ้นใหญ่อย่างสิ้นเชิงแล้ว ฝรั่งระดับบริหารในอิตัลไทยกรุ๊ปจึงลดลงจาก 9 คนเหลือเพียง 2 คน

เพราะการตายของโมแลนด์นี่เอง ที่ทำให้ ดร.วิพรรธ์ ทนการรบเร้าของพ่อตาไม่ได้  ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา นักบริหารอุตสาหกรรมมืออาชีพ มีระดับและมีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของเมืองไทย แต่งงานกับลูกสาวคนแรกของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ที่ชื่อพิไลจิตร ดร.วิพรรธ์ ทำงานอยู่บริษัทไอทีที (ประเทศไทย)

มีคำพูดเก๋มากประโยคหนึ่ง ซึ่งดร.วิพรรธ์กล่าวกับหมอชัยยุทธ ยังอยู่ในความทรงจำของพนักงานรุ่นเก่าๆ ของอิตัลไทย "ขอให้ผมเป็นลูกเขยคุณพ่ออย่างเดียวก็ดีแล้ว อย่าให้ผมต้องเป็นลูกน้องคุณพ่ออีกเลย" ดร.วิพรรธ์ กล่าวเมื่อถูกหมอชัยยุทธชักชวนในครั้งแรกๆ   เมื่อโมแลนด์เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ดร.วิพรรธ์จึงทิ้งเงินเดือนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขว่าขอสิทธิ์ขาดในการบริหารงานอย่างเต็มที่ ซึ่งหมอชัยยุทธไม่ขัดข้อง

ดร.วิพรรธ์ก็เหมือนกับนักบริหารมืออาชีพโดยทั่วๆ ไป ที่ต้องมีทีมงานของตนเข้าไป หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เสรี จินตนเสรี พนักงานระดับรองผู้อำนวยการฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาทำงานด้านกฎหมาย

การมาของดร.วิพรรธ์ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโครงการประกอบรถเรโนลต์ รถยนต์นั่งตระกูลผู้ดีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสินค้าตัวใหม่ที่เปิดฉากขึ้นมาอย่างครึกโครม ห้างเซ็นทรัลในฐานะเพื่อนผู้ถือหุ้นในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ด้วยกัน เปิดโชว์รูมกลางห้างที่ลาดพร้าวให้

จนแล้วจนรอดโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ว่ากันว่ามีปัญหาคุณภาพอันเนื่องมาจากความบกพร่องด้านการประกอบ ผลที่ตามมาก็คือขายไม่ออก จนต้องตัดสินใจล้มเลิกโครงการไปในที่สุด  วงการรถยนต์วิจารณ์ซ้ำเติมว่า เป็นครั้งแรกที่โครงการใหม่ของอิตัลไทยต้องมีอันเป็นไป ซึ่งทำให้เสียหน้ามาก อดิสร จรณจิตต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า รถเรโนลต์คันสุดท้ายเพิ่งจะขายออกไปในเดือนมีนาคม-เมษายน 2526  การยุติโครงการประกอบรถยนต์นั่งเรโนลต์เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการลาออกจากกรรมการผู้จัดการบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมของดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา

บางคนบอกว่ามันเกี่ยวกัน แต่กระแสข่าวใกล้ชิดดร.วิพรรธ์ยืนยันว่ามันเป็นเพียงเหตุผลเล็กๆ ในเหตุผลที่แท้จริงเท่านั้น "การบริหารแบบ Thai style ของคุณหมอชัยยุทธ เข้ากับการบริหารของทีมดร.วิพรรธ์ไม่ได้" เขาสรุปสั้นๆ หมอชัยยุทธกล่าวถึงสาเหตุการลาออกของดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา กับ ผมว่า "เขามีกิจการของเขา เขาเป็น Electronic Engineer มีโรงงานโทรศัพท์"   นอกจากนี้บางกระแสข่าวที่ไม่กล้ายืนยันยังระบุว่าการตัดสินใจของดร.วิพรรธ์ครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทำนองที่เรียกกันว่า "ศึกสายเลือด" ระหว่างเขยหรืออะไรเทือกนี้?

เมื่อดร.วิพรรธ์ ออกจากตำแหน่งกรรมการจัดการอิตัลไทย ทีมงานที่เขาชักนำเข้ามาก็ต้องมีอันแตกกระจาย เสรี จินตนเสรี ระเห็จไปอยู่ Financière de Paris ( ปัจจุบันคือ BNP Paribas  )ต่อมาก็มานั่งแป้นผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2526 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทอิตัลไทยได้พิจารณาอนุมัติการลาออกจากตำแหน่งของดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา โดยแต่งตั้ง อดิสร จรณะจิตต์ เข้าดำรงตำแหน่งแทนทันที

อดิสร จรณะจิตต์ เป็นลูกเขยคนที่สองของน.พ.ชัยยุทธ แต่งงานกับนิจพร เขาจบเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเรียนจบเอ็มบีเอ จากWisconsin Universityสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้าจะตัดสินใจมาอยู่อิตัลไทย อดิสร ทำงานอยู่ที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน สาขากรุงเทพฯ

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน หมอชัยยุทธได้ดันลูกชายซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง และอายุเพียง 20 ปีเศษ-เปรมชัย กรรณสูต เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอิตาเลียนไทย บริษัทก่อสร้างและบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอิตัลไทยกรุ๊ป

"การเข้ามาของคุณเปรมชัยดูเร็วเกินไปมากทีเดียว รู้สึกว่าตัวแกเองก็ไม่ค่อยจะเต็มใจเท่าใดนัก ไอเดียของคุณหมอก็คือตั้งขึ้นมาแล้วก็ฝึกได้"

การเร่งรีบของหมอชัยยุทธ ครั้งนั้นเริ่มขึ้นจากตัวเอง เกรงว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันกับตัวเองอย่างที่เกิดมาแล้วในชีวิตเขาถึง 2 ครั้ง เนื่องจากรู้ว่าอายุของเขามากแล้วควรจะใช้เวลาในช่วงนี้ฝึกผู้รับช่วง เพราะแน่นอนหมอชัยยุทธยอมรับระบบทายาทมากกว่ามืออาชีพ   ซึ่งในทางความเป็นจริง หมอชัยยุทธก็ยังบริหารงานประจำวันของอิตาเลียนไทยอยู่ค่อนข้างมาก

เปรมชัย กรรณสูต ปัจจุบันอายุ 32 ปี จบปริญญาตรี Mining Engineering จาก Colorado School of Mine และ MBA จากUniversity ofSouth Californiaเริ่มเข้าทำงานที่อิตาเลียนไทยฯ เมื่อปี 2522

ห้วงเวลาปี 2522-2526 อิตัลไทยเกิดปัญหาผู้บริหารงานอย่างมาก อันเป็นวิกฤติการณ์หลังจากการเสียชีวิตของเอกชัย กรรณสูต และจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี กว่าจะลงตัวในระดับหนึ่งก็ทำเอาหมอชัยยุทธเหนื่อยอ่อน และที่สำคัญสภาพธุรกิจก่อสร้างอันเป็นหัวใจของกรุ๊ปได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไป

นั่นคือการเริ่มพาเหรดเข้ามาหากินในเมืองไทยของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น

"…อุตสาหกรรมก่อสร้างประสบภาวะตกต่ำ ประกอบกับงบประมาณของรัฐบาลในส่วนนี้ก็ลดลง ขณะเดียวกัน บริษัทก่อสร้างจากญี่ปุ่นและไต้หวันได้เข้ามาแย่งงานในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ในปี 2526 ในจำนวน 10 โครงการ บริษัทก่อสร้างต่างประเทศชนะการประมูลถึง 7 โครงการ…" น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต ในฐานะประธานอิตัลไทยกรุ๊ป รายงานใน Consolidated Financial Statement 1983 แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่หมอชัยยุทธ ต้องชักธงรบบริษัทก่อสร้างต่างประเทศ อันทำให้เขาต้องทำงานหนักต่อเนื่องครั้งสำคัญในชีวิตอีกตอนหนึ่ง

ปี 2526 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ มีรายได้ 1,772.5 ล้านบาท พอมาปี 2527 รายได้ลดลงเหลือ 1,738 ล้านบาท เป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งบริษัทมา สำหรับปี 2528 นั้น หมอชัยยุทธ เปิดเผยว่ารายได้ลดลงเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 25% หรือมีรายได้ประมาณ 1,300 ล้านบาทเท่านั้น  ปลายปี 2527 อิตัลไทยกรุ๊ปเจอ "แจ็กพอต" จากการลดค่าเงินบาทหนักหนาพอประมาณ เฉพาะบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม ขาดทุน 30,699,637.98 บาท และอิตาเลียนไทยฯ ขาดทุนมากถึง 104,525,149.45 บาท อุบัติเหตุจากการลดค่าเงินบาทนับเป็นการซ้ำเติมวิกฤติการณ์ของอิตัลไทยกรุ๊ปอย่างไม่คาดฝัน

ส่วนผลพวงการต่อสู้กับบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นนั้น มีรูปธรรมที่ "เจ็บปวด" อันหนึ่ง คือโครงการสร้างสะพานสาทร เพราะวิถีทางการค้านั่นเองที่อิตัลไทยกรุ๊ปต้อง "หั่นราคา" ลงไป ผลลงเอยก็คือขาดทุนพอหอมปากหอมคอ ปี 2527 ขาดทุน 15,137,479.67 บาท และปี 2526 ขาดทุน 48,314,061.24 บาท

แน่นอน…เมื่อเป็นถึงเพียงนี้อิตัลไทยกรุ๊ปย่อมไม่อาจจะนิ่งเฉยได้ น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต ประธานกรุ๊ป จึงเปิดยุทธการสำหรับศึกอันใหญ่หลวงครั้งนี้ 3 แผนหรือ 3 ขั้นตอน

หนึ่ง-ชักธงรบและเปิดโปง เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2528 หมอชัยยุทธเปิดฉากพูดถึงปัญหาอุตสาหกรรมก่อสร้างครั้งที่ฮือฮามากในงานมหกรรมก่อสร้าง จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "…หากเราจะปล่อยให้เขามาทำได้โดยอิสรเสรีเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ต่อไป โดยถือหลักการมองเหตุการณ์ระยะใกล้ๆ โดยคิดว่าประเทศเราเป็นประเทศที่ยังจนอยู่ ฉะนั้นเมื่อผู้ใดสามารถให้ราคาถูกกว่าก็ให้งานไป โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมาภายหลัง ซึ่งจะต้องประสบในอนาคตอันไม่ไกลเกินรอ เมื่องานที่สำคัญและจำเป็นในการพัฒนา เมื่องานที่สำคัญและจำเป็นในการพัฒนาประเทศส่วนใหญ่ จะต้องตกอยู่ในมือของผู้อื่นโดยสมบูรณ์ และบรรดาบริษัทที่ก่อสร้างไทย ซึ่งแทนที่จะมีโอกาสเติบโตขึ้น เพื่อให้เราช่วยตัวเองได้ กลับต้องอ่อนเปลี้ยลงเพราะหางานไม่ได้ ต้องกลายเป็นผู้รับเหมาช่วงให้กับบริษัทต่างประเทศสิ้นเชิงแล้ว เมื่อนั้นแหละราคาก่อสร้างงานขนาดใหญ่จะแพงขึ้นอย่างสูงลิ่ว และภาวะแห่งความเป็นเบี้ยล่างและสูญเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นก็จะตกอยู่กับประเทศเรา…" เขากล่าวตอนหนึ่ง

"หากจะเปรียบแล้วบริษัทก่อสร้างไทยก็คือนักมวยรุ่นเฟเธอร์เวท จำเป็นต้องขึ้นสังเวียนต่อยกับแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท ผลจะเป็นอย่างไร ผมว่าทุกท่านในที่นี้รู้ดีแล้ว การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบริษัทบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ นอกจากจะมีอุตสาหกรรมก่อสร้างอันก้าวหน้าและยิ่งใหญ่หนุนหลังอยู่ และช่วยให้บริษัทก่อสร้างของเขานั้นมีโอกาสซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุอันจำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้างได้ในราคาต่ำกว่าบริษัทก่อสร้างไทยอย่างมาก ซึ่งเมื่อคิดรวมเงื่อนไขการชำระเงินระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแล้ว ราคาเครื่องจักรและวัสดุที่แตกต่างกันจะอยู่ในระดับ 20-30% บริษัทก่อสร้างต่างประเทศยังได้เปรียบในการที่มีการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารในประเทศของเขา ซึ่งให้กู้เงินในจำนวนเพียงพอที่จะให้บริษัทดำเนินการลุล่วงไปด้วยดี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 7-8% ต่อปี เป็นต้น อีกด้วย นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลของประเทศนั้นยังถือนโยบายสำคัญว่า การที่บริษัทรับเหมาของเขาไปทำงานต่างประเทศ เป็นเสมือนการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้เงินตรากลับแล้ว ยังเป็นการช่วยให้คนมีงานทำ และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญอีกด้วย…"

หลังจากนั้นมาทุกครั้งเมื่อมีโอกาส หมอชัยยุทธ จะเปิดการให้สัมภาษณ์ หรือพูดถึงปัญหานี้อย่างต่อเนื่องไม่เหน็ดเหนื่อย ในครั้งแรกๆ เขาไม่เอ่ยถึงประเทศคู่แข่งต่อมาภายหลังเขาประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่า บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นนั่นเองที่มีแผนการจะมา "เขมือบโดยตรง" อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2529 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ฉลองตราตั้งเป็นบริษัทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล หมอชัยยุทธ กล่าวปราศรัยถึงความสำเร็จของบริษัทนี้ แต่ลงท้ายด้วยการกล่าวอย่างยืดยาวถึงปัญหาการก่อสร้างที่ถูกต่างชาติรุกราน และขอให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

ประมาณต้นเดือนมีนาคมนี้ ทีวีช่อง 9 สัมภาษณ์น.พ.ชัยยุทธ ในฐานะผู้รับเหมาช่วงก่อสร้างสะพานแขวนดาวคะนอง-วัดไทร ผู้สื่อข่าวถามว่า "งานนี้เราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นหรือไม่" น.พ.ชัยยุทธตอบว่า "ได้ครับ ความเป็นจริงเราก็สามารถรับงานนี้ได้ แต่ที่รับงานไม่ได้ เพราะเขาเสนอราคาต่ำกว่าบริษัทก่อสร้างไทย เนื่องจากเขาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศเขา โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำ…"

ต่อมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม  น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กล่าวถึงเรื่องนี้กับผม โดยให้รายละเอียดบางประการที่น่าจะยกขึ้นมาประกอบ ณ ที่นี้

"ญี่ปุ่นได้งานเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้ บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นคนก็รู้เขาเอาของเขามาหมด อย่างมากก็เอาคนไทยเพียงคนสองคนเอาไว้เป็นโล่ ได้กำไรเขาก็เอากลับบ้านหมด ประจวบกับญี่ปุ่นเวลานี้งานในประเทศเขามันน้อยลง เขาเลยมาบุกเราใหญ่ และก็ระบบญี่ปุ่นนี้ต่างกับบริษัทก่อสร้างอเมริกาที่มี base หรือ nucleus อยู่เพียงนิดเดียว อย่างบริษัทก่อสร้างใหญ่ที่สุดของอเมริกา-บิกเติล ซึ่งแต่ก่อนนี้ชูลท์เป็นประธาน มีคน 2-3 พันคนเท่านั้น แต่ว่าทำงานมูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท คือว่าจ้างเฉพาะงาน เอาคนที่มี Management Head Office เท่านั้น ญี่ปุ่นไม่ใช่อย่างนั้น เขาจ้างและเลี้ยงคนตลอดชีวิตที่ทำงานได้จนอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้น อันนี้ล่ะครับ เมื่องานในประเทศเขาน้อยจึงมาทุ่มในบ้านเรา นอกจากนี้ถ้าขาดทุนก็ไปหักภาษีได้อันนี้เป็น big advantage แต่แผนการเขาไกลกว่านั้น วันนี้เขาสำเร็จไปส่วนใหญ่แล้ว แย่งงานใหญ่ไปพวกเขาก็ต้องอ่อนลงๆ ไม่มีงานใหญ่ก็ต้องลด volume ลงไป จนถึงระยะหนึ่งก็เป็น sub-contract เขา เมื่อเขาแน่ใจว่าเมืองไทยหมดน้ำยาแล้ว เขาก็จะขึ้นราคาไปสูงๆ ได้…อันนี้ผมเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของเขา"

เมื่อถามว่าการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในแผ่นดินยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเป็นอย่างไรสมกับที่ทำมา 2-3 ปีหรือไม่ "ไม่มีผล…มันเหมือนกับเอาหัวชนฝา หรือเอาก้อนอิฐโยนลงน้ำ มันเป็นคลื่นเข้ามาแล้ว ก็หายไปชั่วพริบตา…" เขาส่ายหน้าตอบสั้นๆ กับผม

สอง-Joint Venture น.พ.ชัยยุทธ เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือหลายฉบับว่า ทางออกของอิตัลไทยกรุ๊ปเพื่อความอยู่รอดประการหนึ่งก็คือ ร่วมทุน (Joint Venture) กับต่างประเทศ โดยพุ่งเป้าไปในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักร หรือด้านอื่นๆ เช่น บริษัทอัลคาเทล (ประเทศไทย) ร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมแห่งฝรั่งเศสในการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือดังกล่าว บริษัท อควาไทย ร่วมทุนดำเนินกิจการปรับสภาพน้ำ เมื่อกลางปี 2528 และเมื่อต้นปีนี้เสนอตัวของสัมปทานทำน้ำประปาในเขตฝั่งธนบุรี โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 860 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 25 ปี ร่วมทุนกับบริษัทแชมเปี้ยนจากแคนาดาตั้งบริษัทแชมเปี้ยนไทย ผลิตชิ้นส่วนรถขุดดิน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะผลิตทั้งคันส่งออกต่างประเทศ เป็นต้น

ช่วงปี 2527-2529 เป็นช่วงเวลาที่อิตัลไทยกรุ๊ปทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศจำนวนมาก โดยเน้นหนักไปใน connection เดิมทางยุโรป

สาม-ร่วมทุนกับญี่ปุ่น อาจจะกล่าวได้ว่า ที่ผ่านมาอิตัลไทยกรุ๊ปนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจไทยที่ร่วมทุนกับธุรกิจจากยุโรปเกือบทั้งหมด "เราดำเนินมาตั้งแต่แบร์ลิงเจียรีเขาอยู่ ภรรยาของเขาก็เป็นฝรั่งเศส…แต่เราไม่ได้ติดต่อฝรั่งเศสอย่างเดียว อิตาลีก็มี เยอรมนีก็มี อังกฤษ แต่มากที่สุดคือฝรั่งเศส เนื่องจากแบร์ลิงเจียรีเป็นคนริเริ่มไว้ แล้วผมทำตาม และเผอิญผมเรียนอัสสัมชัญเรียนฝรั่งเศสมาพูดภาษาฝรั่งเศสได้ มันง่ายหน่อย…" น.พ.ชัยยุทธกล่าว  อีกเหตุผลหนึ่งเขากล่าวว่าเนื่องจาก Agency ดีๆ ของญี่ปุ่น ก็ทำเองหมด

แต่เมื่อเดือนเมษายนปี 2528 วงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง "ช็อก" กันมาก เมื่ออิตัลไทยกรุ๊ปประกาศร่วมทุนกับญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่าบริษัทโตโยไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

"ผมเป็นบริษัทเอกชน ผมต่อสู้มาพยายามออกทุกวิถีทาง พยายามพูดให้เคลียร์ มันไม่มีผล… ผมคิดว่าเราต้องอยู่ถ้าไม่มีงานก็อยู่ไม่ได้" น.พ.ชัยยุทธโยงไปถึงการต่อสู้กับบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นอีกครั้งก่อนให้เหตุผลการตัดสินใจแบบหักมุม 180 องศาครั้งนี้

"ที่นี่มันมีงานหนึ่ง ก่อสร้างโรงแยกแก๊สที่มาบตาพุด เราเป็นซับ-คอนแทคงานกับโตโย เอ็นจิเนียริ่ง (ทีอีซี) เขาเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่รับเหมางานนี้ งานทำไปเรียบร้อยดี ผมรู้จักผู้จัดการใหญ่เขา เคยไปดูงานที่บริษัทเขา เราก็เห็นว่าบริษัทโตโยมีงานทั่วโลก โดยเฉพาะงานก่อสร้างโรงงานใหญ่ โดยเมื่อเราร่วมกับเขาก็มีโอกาสได้งานด้านโยธา…"

หมอชัยยุทธขยายความว่าบริษัทโตโยเอ็นจิเนียริ่งแห่งญี่ปุ่นนั้น แตกต่างกับบริษัทก่อสร้างอื่นๆ 1. เป็นบริษัทญี่ปุ่นมีลักษณะคล้ายๆ กับบริษัทก่อสร้างในอเมริกา กล่าวคือ ที่สำนักงานใหญ่โตเกียวมีพนักงาน 2,000 คนเท่านั้น โดยที่เป็นวิศวกรถึง 80% นอกนั้นเป็นฝ่ายธุรการ และฝ่ายบัญชี บริษัทนี้ซื้อสิทธิบัตร (Patent) ของบริษัทก่อสร้างตะวันตกไว้ในมือจำนวนมาก เช่น ของฟอสเตอร์วีลเลอร์ งานที่ทำจะทำเฉพาะงานก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงปุ๋ย เคมีภัณฑ์ โรงแยกแก๊ส โดยที่ไม่ทำงานด้านโยธาฯ เมื่อได้งานที่ไหนก็จะไปจ้างบริษัทก่อสร้างในประเทศเหล่านั้นทำงานด้านโยธา เช่น ถนนหนทางให้ 2. บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นโดยทั่วไป ดำเนินกิจการไปไกลกว่าบริษัทที่ก่อสร้างไทย นอกจากจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) และออกแบบก่อสร้างแล้ว ยังรับเทิร์นคีย์ โดยหาเงินให้เรียบร้อย "เวลาที่เขามาทำงานเมืองไทย เขาเห็นอันหนึ่งว่าวิศวกรคนไทยเราเก่งเหมือนกัน และก็เงินเดือนถูกกว่าเขา แต่ว่าขาดประสบการณ์ เขาเอาคนของเขาที่มีประสบการณ์มาสอนให้คนไทย 3-4 เดือน พอเห็นเราเป็นงานก็ค่อยๆ ลดจำนวนคนของเขาลง ในที่สุดเหลือเพียง 2-3 คนเท่านั้นเอง" น.พ.ชัยยุทธอธิบายถึงความแตกต่างจากบริษัทก่อสร้างใหญ่ของญี่ปุ่นอื่นๆ ของบริษัทโตโยเอ็นจิเนียริ่ง

เพราะการตกลงปลงใจร่วมทุนกับญี่ปุ่นครั้งแรกนั่นเองก็ได้ส่งผลมาถึงโครงสร้างการบริหารของอิตัลไทยกรุ๊ป  เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2528 อิตัลไทยกรุ๊ปประกาศโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญ เปลี่ยนแปลงสิ่งที่แบร์ลิงเจียรีทำมานับสิบปี โดยแต่งตั้งคนไทยเป็นผู้จัดการทั่วไป ประกบกับฝรั่ง

"เพราะว่ามันไม่เหมาะในข้อที่ว่าเราไม่ได้ติดต่อฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว งานส่วนใหญ่ก็เป็นการอนุมัติการขาย พูดไทยไม่ได้มันก็ไม่สะดวก ก็ให้เขารับผิดชอบเท่าผู้จัดการทั่วไป แต่เฉพาะกิจการของฝรั่งเศส" น.พ.ชัยยุทธพูดถึงบทบาทใหม่ของแม็ตเตอเวท หลังจากเดือนตุลาคม 2528 ให้ฟัง

อิตัลไทยกรุ๊ปมิเพียงแทบจะไม่เหลือร่องรอยของแบร์ลิงเจียรีมากนัก ยังได้สร้างอาณาจักรของตนเองกว้างขวางไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้น   และทางเดินที่รุกคืบอย่างไม่หยุดยั้งของอิตัลไทยกรุ๊ปหลังจากปี 2524 จนถึงปัจจุบัน คือผลิตผลจากหยาดเหงื่อและมันสมองของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต

นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ประธานอิตัลไทยกรุ๊ปต้องทำงานหนักในช่วงสุดท้ายของชีวิตกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่า ไม่เพียงต้องบริหารงาน 25 บริษัทที่แทบไม่มีใครผ่อนเบาภาระเท่าใดนัก เขายังจะต้องมีบทบาทความเป็นผู้ถ่ายทอดวิทยายุทธ์แก่ผู้สืบทอดอย่างเร่งรีบอีกด้วย

โดยเฉพาะเปรมชัย ซึ่งนายแพทย์ชัยยุทธจัดวางบทบาททายาทไว้อย่างชัดเจน  เขาตระหนักดีอย่างมากๆ ถึงปัญหาในเวลาก็คือ "ความต่อเนื่อง" ของผู้บริหารอิตัลไทยกรุ๊ป ขณะที่หมอชัยยุทธ-ผู้ก่อตั้ง บุกเบิกธุรกิจของกลุ่มมาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันนี้กว่า 30 ปี แต่ผู้บริหารรองๆ ลงมากลับเพิ่งจะทำงานในอิตัลไทยกรุ๊ปกันเพียง 5-6 ปี เท่านั้น ขณะที่หมอชัยยุทธมีประสบการณ์กับวัย 65 ปี แต่ทายาทของเขาอายุเพียง 30 กว่าปีหรือเพียงครึ่งหนึ่งของเขาเท่านั้น มันช่างเป็นช่องว่างที่กว้างเหลือเกิน

แม้ว่าเปรมชัย กรรณสูต ซึ่งนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต หมายมั่นปั้นมือให้เข้ามากุมบังเหียนอิตัลไทยกรุ๊ปต่อจากเขาจะมีฝีมือหรือความรู้ในการบริหารงาน แต่เขาไม่มีประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างเต็มเปี่ยม พอที่จะดำเนินธุรกิจ 5,000 ล้านบาทได้อย่างราบรื่น และที่สำคัญบารมี และ connection ที่หมอชัยยุทธสะสมมาตลอดชีวิตนั้น เขาไม่อาจจะถ่ายทอดได้

นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต คงเป็นคนมีกรรมที่ต้องทำงานหนักไปตลอดชีวิต?

"ไม่ใช่กรรมหรอกคุณ…เป็นบุญ คือผมทำงานอย่างมีความสุข ผมทำงานแปดโมงถึง 2 ทุ่ม ทุกนาทีที่ผ่านไปผมแฮปปี้ คือถ้าผมไม่มีงาน ผมกลุ้มใจ บางทีผมไปตากอากาศตั้งใจจะอยู่ 3 วัน อยู่วันเดียวก็กลับ เวลาที่ผมมีอาชีพนี้ ธุรกิจนี้เพราะใจมันรักจริงๆ" หมอชัยยุทธตอบข้อสงสัยที่ผมถามขึ้นอย่างตรงๆ

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

ปรับปรุงเพียงเล็กน้อย จากนิตยสารผู้จัดการ  มิถุนายน 2529

http://goo.gl/GzFU6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น