ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาทำให้ 'พระ'
กลายเป็น 'อภิสิทธิชน' ยิ่งกว่า 'เจ้า'
หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 23 ก.พ.55 รายงานว่า สำนักงานพระพุทธพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กลับไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว โดย พศ.เห็นด้วยกับการที่จะมีกฎหมายนี้ และขณะนี้ทราบว่าทางนายกรัฐมนตรีได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้งหมดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนที่จะส่งกลับมาที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จากนั้นต้องอยู่ที่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีว่าจะเสนอบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมของสภาหรือไม่
ตามรายงานข่าว ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 ฉบับ คือ
ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์
ฉบับของพรรคเพื่อไทย และ
ฉบับของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาเป็นเวลา 4 ปี แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการบรรจุเข้าในวาระการประชุมของสภาได้
ปัญหาคือ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับ "ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ..." ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค คมช.หรือไม่ หากมีเนื้อหาเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกันก็ต้องถือว่าเป็น "กฎหมายเผด็จการ" ที่น่ากลัวยิ่งกว่า ม.122 เสียอีก
เพราะเป็นกฎหมายที่ยกสถานะของ "พระ" ให้เป็น "อภิสิทธิชน" ยิ่งกว่า "เจ้า" และกำหนดลักษณะความผิด "ครอบจักรวาล" และกำหนดอัตราโทษไว้สูงมาก เช่น
มาตรา 9 การจาบจ้วง ละเมิด ลอกเลียน บิดเบือน หรือการกระทำอื่นใดให้พระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง หรือวิปริตผิดเพี้ยน จะกระทำมิได้
จะเห็นว่า ลักษณะความผิดตามมาตรานี้ "ครอบจักรวาล" มาก คำว่า "จาบจ้วง ล่วง ละเมิด บิดเบือน เสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง วิปริตผิดเพี้ยน" หากเทียบกับ ม.112 ที่ว่า "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย..." ยังชัดเจนกว่า แต่ขนาดชัดเจนกว่าก็เกิดปัญหาในเรื่อง "การตีความ" ตลอดมา และกลายเป็น "อาวุธ" ให้ "พวกคลั่งเจ้า" ล่าแม่มดได้อย่างน่ากลัว
คำถามคือ ถ้ามีกฎหมายที่ระบุลักษณะความผิดอย่างคลุมเครือ สามารถตีความได้ครอบจักรวาลเช่นนี้ กฎมายแบบนี้จะเป็น "อาวุธ" ให้ "พวกคลั่งศาสนา" ล่าแม่มดจนก่อให้เกิดความวุ่นวายมากขนาดไหน
มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับพระศาสดาและศาสนธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
การ "จาบจ้วง" "ล่วงละเมิด" พระศาสดาคืออะไรหรือ ถ้าเป็นการด่า การทำร้าย ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกด่า ถูกใส่ร้ายว่าทำให้สตรีตั้งครรภ์ก็มี ถูกทำร้ายก็มี แต่ท่านไม่ด่าตอบ ไม่เคยเรียกร้องให้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการ
ทว่าวางหลักการเอาไว้ว่า "ถ้ามีใครบริภาษหรือด่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พุทธบริษัทไม่ควรโกรธ ควรมีสติ ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลไปตามควรแก่กรณี" นอกจากนี้ท่านยังเตือนสติว่า "ใครก็ตาม มีความโกรธต่อผู้ทำร้ายตน ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของตถาคต"
แล้ว "จาบจ้วง" "ล่วงละเมิด" "บิดเบือน" ศาสนธรรมจะตัดสินจากเกณฑ์อะไร? เพราะในประวัติศาสตร์ก็มีการตีความคำสอนของพุทธศาสนาไม่ตรงกันมาตลอด ตอนที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ก็มีการตีความเรื่อง "อัตตา-อนัตตา" ไม่ตรงกันแล้ว และหลังจากท่านปรินิพพานแล้ว ก็ยิ่งมีการตีความคำสอนในเรื่องอื่นๆ ต่างกัน จนเกิดการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ กว่าร้อยนิกาย
ที่สำคัญหลักกาลามสูตรก็เปิดให้ผู้ศึกษาพุทธมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ คือจะไม่เชื่อแม้แต่ครูหรือศาสดาเลยก็ได้ ให้เชื่อความจริงที่ตนพิสูจน์ได้แล้วเท่านั้น
แล้วกำหนดไปได้อย่างไร "โทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท" คนที่คิดมาตรานี้ไม่รู้คิดกันขึ้นมาได้จากหลักการอะไร ไม่ "ละอาย" ต่อพระพุทธเจ้าบ้างหรือครับ
เพราะพระพุทธเจ้าทำตัวเป็น "คนธรรมดา" ถูกด่าได้ วิจารณ์ได้ เมื่อมีคนทำร้าย (เช่นเทวทัตลอบสังหาร) ก็ไม่เรียกร้องให้เอาผิดทางกฎหมายใดๆ
คือหากคิดจากมุมมองของพระพุทธเจ้า เรื่องการด่า หรือเรื่องประเภทจาบจ้วง ล่วงละเมิดอะไรพวกนี้ มันไร้สาระมากเลย แค่จะเก็บมาเป็นอารมณ์ก็ไม่ควรแล้ว จะไปคิดเรื่องจะเอาผิดเอาโทษทางกฎหมายไปทำไม เพราะถ้าไม่เป็นอย่างที่เขาด่า หรือจาบจ้วง มันจะเสียหายอะไร
พระพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการทำให้ธรรมะเป็น "ของศักดิ์สิทธิ์" ไม่ต้องการให้ศาสดาหรือครูเป็น "บุคคลศักดิ์สิทธิ์" ฉะนั้น ใครจะตั้งคำถามกับธรรมะ หรือศาสดาอย่างไรก็ได้ ด่าได้ วิจารณ์ได้ ไม่ถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงละเมิดที่ต้องมีความผิดทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น (หากจะผิดก็เป็นเรื่องทางศีลธรรม ที่มีผลทางศีลธรรมเช่นการถูกตำหนิติเตียนเป็นต้นเท่านั้น) นี่คือ "เสรีภาพ" ทางความคิด ความเชื่อที่พระพุทธเจ้ารับรอง
แต่มาตรา 21 ในร่าง พ.ร.บ.นี้กำลังทำให้เสรีภาพที่พระพุทธเจ้ารับรองไว้แล้วกลายเป็นความผิดร้ายแรงที่ "ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท" คิดจากจุดยืนของพระพุทธเจ้าแล้วเป็น "โทษที่อำมหิต" เหลือเกินครับ ถึงจะคิดว่าผู้ร่างกฎหมายมี "เจตนาดี" แต่เป็นเจตนาดีที่ทำลายหลักการที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง
คือถ้าชาวพุทธคิดว่าใครจาบจ้วงล่วงละเมิดพระพุทธเจ้าและพระธรรมต้องจับเขาไปติดคุกขั้นต่ำสุดตั้ง 10 ปี เราจะอธิบาย "กรุณาคุณ" ของพระพุทธเจ้าอย่างไรไม่ทราบ จะอธิบายคุณธรรมเรื่องปัญญาและกรุณาอย่างไร จะอธิบายเมตตาธรรมที่อภัยได้แม้กระทั่งศัตรูอย่างไร
มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท
ถามว่า "ศาสนบุคคล" คือพระภิกษุ สามเณร หรือชี ใช่หรือไม่ หากตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แม้แต่พระพุทธเจ้าเองยังถูกด่าได้ วิจารณ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ ทำไมพระภิกษุ สามเณร หรือชีในยุคปัจจุบันจะต้องเป็น "อภิสิทธิชน" ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า
มาตรานี้กำลังยกให้พระภิกษุ สามเณร หรือชีมีสถานะเป็น "อภิสิทธิชน" ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย พระภิกษุ สามเณร หรือชีนั้นอีกสถานะหนึ่งคือ "ประชาชน" ในรัฐที่ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกับบุคคลอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็คุ้มครองถึงบุคคลที่เป็นภิกษุ สามเณร ชี อยู่แล้ว
การบัญญัติกฎหมายเช่นนี้กำลังสถาปนาสถานะทางกฎหมายของ "พระ" ให้เหนือกว่า "เจ้า" ด้วยซ้ำ เพราะพระมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะพูด หรือแสดงความเห็นทางการเมือง และก็ทำกันเช่นนี้อยู่ตลอดมา
สมมติต่อไปมีกฎหมายแบบนี้จริง ถ้ามีพระออกมาพูด "ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน" ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองแล้วมีคนทนไม่ได้กับคำพูดแบบนี้แล้วด่ากลับ และถูกตีความว่า "จาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำให้เสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง" เขาต้องติดคุกห้าถึงสิบปี หรือโดนปรับเป็นแสนเลยหรือ
คือพระจะพูดอะไรก็พูดได้ใช่ไหมครับ "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" "ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน" เกรียนกับความทุกข์ของชาวบ้านทางเฟซบุ๊ค หรือด่าสีกาว่านมเหี่ยว ฯลฯ พระมีเสรีภาพพูดได้หมดเลย แต่ถ้าชาวบ้านด่ากลับจะต้องถูกตีความว่า "จาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำให้เสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง" มันไม่เป็นกฎหมายที่ "เสียสติ" หรือ "อยุติธรรม" เกินไปหรือครับ!
ข้อความต่อไปนี้ยิ่งน่าเกลียด
ผู้ใดร่วมประเวณีไม่ว่าทางใดและวิธีการใดกับพระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ตลอดจนผู้ชักจูง จัดหา หรือจ้างวาน ให้มีการร่วมประเวณีดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท
ตกลงแม้แต่เรื่อง "เอากัน" พระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ก็มี "อภิสิทธิ์" เหนือคนธรรมดา คือพระภิกษุ สามเณร แม่ชีเอากับชาวบ้านแล้วแค่ต้องอาบัติปาราชิก แล้วก็สึกออกมาสบายใจเฉิบ แต่ชาวบ้านต้องติดคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี ไม่ทราบว่าผู้ร่างกฎหมายใช้ "หลักการ" อะไรในการร่างข้อความที่ "วิปริต" แบบนี้
เพราะตามหลักการของพุทธศาสนานั้น การทำผิดวินัยสงฆ์ หรือผิดหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา มีแต่ "สมณเพศ" ต้องผิดมากกว่า มีโทษทางศีลธรรมหนักกว่าคนธรรมดา เพราะเป็นผู้รู้เรื่องหลักวินัยสงฆ์ และหลักศีลธรรมทางศาสนาดีกว่า และมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบรักษาวินัยและหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนามากกว่า
มาตรา 23 ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำต่อพระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ผู้นั้นต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ สามเท่า
มาตรานี้ก็ขัดต่อ "หลักความเสมอภาคทางกฎหมาย" เช่นกัน ทำไมต้องระวางโทษหนักกว่าคนธรรมดาถึง 3 เท่าครับ ใช้หลักการอะไรคิด?
ผมเข้าใจว่า ชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่ร่วมกันผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คงทำไปด้วย "เจตนาดี" แต่เป็นเจตนาดีที่ขาดความชัดเจนในหลักการดั้งเดิมของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าถือว่าพระศาสดา พระสงฆ์ เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ "บุคคลศักดิ์สิทธิ์" พระธรรมไม่ใช่ "ของศักดิ์สิทธิ์" ที่ด่าไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งหลักการเช่นนี้แสดงถึง "ความมีใจกว้าง" (Tolerance) ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ
พุทธศาสนาอยู่ท่ามกลางลัทธิความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างหลากหลายโดยไม่มีความขัดแย้งรุนแรง ก็เพราะมีหลักการรองรับความมีใจกว้างดังกล่าว (เช่นที่ปรากฏใน "โอวาทปาฎิโมกข์" เป็นต้น)
แต่ในยุคปัจจุบันพุทธศาสนาอยู่ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ให้คุณค่าสูงยิ่งกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลักสิทธิมนุษยชน และหลักความมีใจกว้างในสังคม "พหุวัฒนธรรม" จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ที่จะมี "กฎหมายเผด็จการ" คุ้มครองพุทธศาสนาอย่างเป็นพิเศษเช่นนี้
ซึ่งโดยสาระแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้สถานะของพระภิกษุ สามเณร และชี กลายเป็น "อภิสิทธิชน" ยิ่งกว่า "เจ้า" และยิ่งกว่า "พระพุทธเจ้า" ด้วยซ้ำ กฎหมายแบบนี้จึงไม่ควรมี เพราะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ แก่พุทธศาสนาและขัดต่อหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น