ปีศาจแห่งอำนาจ ตอนที่ 2 เลือดข้นกว่าน้ำ
ธะนิต พิศาลบุตร นั่งเก้าอี้ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ นานถึง 40 ปี อาจจะนานเกินไปแล้วสำหรับนายธนาคารที่อนุรักษ์นิยม ยิ่งเมื่อธนาคารแห่งนี้ มีผลประกอบการตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย แม้ "อินทรทูต" ไม่ไล่ บางคนก็ว่า เขาก็ควรจะไป แต่ที่สำคัญกว่านั้น ทำไม "อินทรทูต" ต้องปฏิบัติการล้มเก้าอี้เขาอย่างไม่ให้เกียรติกันเลย
"อย่าคิดว่าแบงก์นี้โตขึ้นมาเพราะพระพินิจฯ มันโตขึ้นมาเพราะพนักงานทุกคน…"ธะนิต พิศาลบุตร กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 28 มีนาคม 2529
"เมื่อก่อนหุ้นแบงก์ราคาตลาดถึง 230 บาท ปัจจุบันแค่ 130 บาท/หุ้น ก็ไม่มีใครซื้อ ผู้ถือหุ้นเขาจึงร้อนใจที่คุณธะนิตบริหารงานสาละวันเตี้ยลง"นิติพัฒน์ ชาลีจันทร์ กล่าวกับผม (17 เมษายน 2529)
"คนที่ทำงานกับหม่อมคึกฤทธิ์ นานถึง 40 ปีนั้น หาไม่ใช่ง่าย ๆ คุณธะนิต เขาทำมา แต่หลังจากวันที่ 28 มีนาคม 2529 ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว…" ผู้รู้เรื่องดีสรุป
ได้รับการยืนยันว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 ที่ทำเอาวัย 65 ปี ของธะนิต พิศาลบุตร พลุ่งพล่านนั้น เขามิได้ล่วงรู้มาก่อนว่า จะเกิดกับตัวเอง และที่สำคัญคนที่ควรจะบอกหรือกระซิบเขากลับไม่ทำ นั่นคือ สิ่งที่ธะนิตและคนตระกูลหวั่งหลีไม่พอใจ
และก็ได้รับการยืนยันอีกเช่นกันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการธนาคาร และประธานการประชุมครั้งนั้นก็รู้อยู่เต็มอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ว่ากัน ว่าก่อนจะถึงวันนั้น อินทรทูตได้รบเร้าเชิงขออนุญาตขอปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง โดยที่ครั้งแรก ๆ หม่อมคึกฤทธิ์ปรามเอาไว้ และทุกครั้ง ที่มีการรบเร้า หม่อมคึกฤทธิ์ก็ไม่เคยปริปากกับธะนิตเลย
"คงจะมีการเตรียมการมาก่อนมั้ง" นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ บอกอย่างไม่เต็มปากเต็มคำกับผม เมื่อถูกถามหลังการโหวตของผู้ถือหุ้นในการประชุมประจำปีของธนาคาร เอา ธะนิต พิศาลบุตร ออกจากตำแหน่งกรรมการจัดการ
นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เรียนมาทางด้านธรณีวิทยา ตำแหน่งสุดท้ายในราชการ คือเลขาธิการสำนักงานพลังงานแห่งชาติ ลาออกจากราชการก่อนครบเกษียณ 5 ปี เพราะอยากเล่นการเมือง โดยเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เขาเข้าสู่ วงการเมืองและโตอย่างรวดเร็ว ปี 2518 ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล นิธิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม อยู่ในตำแหน่งเพียง 1 เดือนนั้น เขาได้สร้าง ปรากฏการณ์ ที่สำคัญแก่วงการอุตสาหกรรมบ้านเราโดยออกคำสั่งยกเลิก สัมปทาน บริษัทเท็มโก
รัฐบาลเสนีย์คว่ำเพราะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลิ่นการเมืองหอมหวนและเริ่มจะฝังเข้าสายเลือด นิธิพัฒน์ สมัครลงรับเลือกตั้งสส.กรุงเทพที่เขตบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในเดือนกันยายน 2519 เขาได้รับ การแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีถึงสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม
รัฐบาลอยู่ได้เพียง 3 วัน เพราะเกิดการรัฐประหารโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
เขาผิดหวังทางการเมือง เลยอำลาชีวิตการเมืองตั้งแต่นั้นมา เขาบอกกับผมว่า เขาไม่ได้ทำธุรกิจอะไร ธนาคารที่ภรรยาบริหาร ก็ไม่ยุ่ง เขาคิดว่าถึงไม่ทำ ก็มีกิน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้บั้นปลายชีวิตเหงา จนเกินไป นิธิพัฒน์ จึงไปซื้อที่เชียงใหม่หลายร้อยไร่ ทำสวนลิ้นจี่
ชีวิตชาวสวนลิ้นจี่ของเขาที่ควรจะอยู่กับความร่มเย็น สงบ ไร้ความทะเยอทะยานทางธุรกิจ แต่เขาบอกว่า เขาทนไม่ได้ที่จะให้ธนาคาร ที่เขาถือหุ้นอยู่ด้วย สาละวันเตี้ยลง ๆ ไปทุกวัน
วันที่ 28 มีนาคม 2529 นั้น ว่ากันว่าเขาคือ "หัวหอก" และผู้วางแผนการล้มธะนิต พิศาลบุตร
สถานการณ์ธนาคารไทยเวลานั้น มีสองด้าน ด้านหนึ่ง ธนาคารสำคัญปรับตัว ปรับยุทธ์ศาสตร์สร่างฐานธุรกิจเครือข่ายขยายตัวออกไปอย่างกว้าวขวาง แม้เผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในช่วงปี2522-2524 ก็ผ่านมาได้ ท่ามกลางความล้มสลายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ไม่มีธนาคารหนุนหลัง โดยเฉพาะธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียว เช่นธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารกสิกรไทย ยิ่งกว่านั้น ธนาคารเหล่านี้กำลังเตรียมการนำ"ทายาท"เข้ามาบริหารธนาคารด้วย หรือแม้แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็กำลังพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ธุรกิจธนาคารกลายเป็นแกนกลางของสังคมธุรกิจไทยขึ้นมา
แต่อีกด้าน มีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางสำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็ก หลายแห่งกำลังเผชิญการต่อสู้ของผู้ถือหุ้น ในการแย้งชิงความเจ้าของธนาคาร ในเวลาเดียวกันกฎเกณฑ์ที่กำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดูเข้มข้นขึ้น ความผันแปรของธนาคารเหล่านั้นสั่นสะเทือนไปทั่ว ไม่ว่ากรณี ธนาคารแหลมทอง สหธนาคาร หรือธนาคารเอเชีย แรงสั่นไหวกระทบมาถึงธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เปิดประชุมวิสามัญขอมติยกเลิกข้อบังคับของธนาคารที่ระบุว่า "ข้อ 11 หุ้นของบริษัทจะโอนให้บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกรรมการ และคณะกรรมการไม่จำต้อง ให้เหตุผลในกรณีที่ไม่สมควรให้อนุญาต"
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการแถลงในการประชุมครั้งนั้น เหตุผลในการยกเลิกว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 15 จัตวาแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ การ ธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าข้อบังคับ ของธนาคาร พาณิชย์ ต้องไม่มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น
วันที่ 20 ธันวาคม 2525 ธะนิต พิศาลบุตร กรรมการจัดการแถลงในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 22 ว่า "เงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่อาจจะขยายเงิน ให้กู้ยืมได้เต็มที่ เพราะมีกฎหมายควบคุมกำหนดอัตราส่วนเงินให้กู้ยืมกับ เงินกองทุนไว้ได้พยายามแก้ไขหลายวิธี ตลอดจนชี้แจงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนคลายข้อกำหนดลงบ้าง ขณะนี้ราชการกำลังพิจารณาอยู่ แต่ไม่อาจรอต่อไปได้ เพราะจะกระทบถึงรายได้ของธนาคาร จึงมีความจำเป็นเพิ่มทุนธนาคารขึ้นอีก 200 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวสนับสนุนพร้อมย้ำว่า "การเพิ่มทุนครั้งนี้ธนาคารจะพิจารณาออกหุ้นเป็นคราว ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งระมัดระวัง มิให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเดือดร้อน"
วันที่ 30 สิงหาคม 2527, ประชุมสามัญ, ธะนิต พิศาลบุตร แถลงว่า "การที่ปรากฏตามงวดงบดุลที่แล้ว ธนาคารเรามีกำไรน้อยมากเพียงล้านบาทเศษ เนื่องจากเรามีเงินกองทุนน้อย คือเงินทุนจดทะเบียนในงวดธันวาคม 2526 เพียง 275 ล้านบาท เรามีเงินฝากสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทเศษ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 12.5 เท่าของเงินกองทุน"
"เราได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดอัตราส่วนสินเชื่อกับเงินกองทุน โดยเคร่งครัด จึงมีเงินฝากเกินอัตราส่วนตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนมากที่ธนาคารจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแล้วปล่อยกู้ไม่ได้ และในงวดนี้ ธนาคารจำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อเกินอัตราส่วน…และเป็นเหตุให้ถูกปรับวันละ 400 บาท รวมเงินที่เราถูกปรับในข้อนี้และข้ออื่นด้วย เช่นเรื่องการรับ โอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินมาชำระหนี้แล้วจะจ่ายคืนเจ้าของเดิมจึงได้เช่าไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิครอบครองเป็นต้น ไปแล้ว 4 แสนบาทเศษ แต่เราก็ต้องยอมให้ปรับ มิฉะนั้น กิจการธนาคารจะต้องขาดทุน เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้น"
"ปัญหาดังกล่าวเราจะแก้ไขโดยการเพิ่มทุนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเราจะเริ่มเพิ่มทุน 100 ล้านบาทในเร็ว ๆ นี้ และจะต้องเพิ่มขึ้นอีกในไม่ช้า"
วันที่ 22 มีนาคม 2528 ธะนิตย้ำถึงปัญหาเดิมอีก "ระหว่างนี้อัตราส่วน สินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนก็เกินกว่าอัตราส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ธนาคารเราจึงไม่ได้ขวนขวายหาเงินฝากนัก จำนวนเงินฝาก ได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 100-200 ล้านบาท … เพื่อให้ธนาคารมีกำไรจ่ายเงินปัน ผลตามปกติ เราจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนอีก"
วันที่ 30 กันยายน 2528 ประชุมสามัญครั้งที่ 42 อันเป็นวันประชุม ครั้งที่ "โหมโรง" ก่อนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 นี้
ธะนิต พิศาลบุตร ถูกซักอย่างหนักเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แต่เขาก็ยืนยันว่าปัญหา ส่วนใหญ่ของธนาคารอยู่ที่เงินกองทุนไม่พอ จนถึงขั้นไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้เป็นครั้งแรก "ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้ธนาคาร ต้องเพิ่มทุนก่อน แล้วให้แบ่งเงินปันผลครึ่งหนึ่งของเงินทุนที่เรียกเก็บเพิ่มได้" เขากล่าว
จุดนี้เองที่ทำให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายอินทรทูตไม่พอใจอย่างยิ่ง
นิธิพัฒน์ออกโรงซักทันที "ธนาคารมีหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกค้า ที่เป็นนิติบุคคลและบริษัทจำนวน 1,138 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันประมาณอยู่เพียง 431 ล้านบาทเท่านั้น ธนาคารจะเรียกเก็บหนี้ถึง 1,000 กว่าล้านบาทได้อย่างไร?"
ธะนิต ชี้แจงว่า "หลักประกันที่ธนาคารถืออยู่นั้นเป็นที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินทั่วไป สูงขึ้นมาก หลักประกันที่มีอยู่ย่อมจะมีราคาสูงขึ้นด้วย และสำหรับหนี้ทั้งหมดนั้น ธนาคารก็ได้ติดตามอยู่ แต่จะเก็บได้มาอย่างไร? ยังไม่อาจ คาดหมายได้ แต่เชื่อว่าธนาคารจะต้องเสียหายบ้าง"
นิธิพัฒน์ รุกเข้าไปอีก "การมีหลักประกันไม่คุ้มหนี้ เป็นเพราะมีข้อบกพร่อง หรือเพราะเหตุใด?"ธะนิตเองดูเหมือนจะมีจุดอ่อนตรงนี้ที่ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ หรือผู้ฟัง ไม่ยอมฟังอธิบายก็ไม่ทราบได้ ในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงต้องออกมาห้ามทัพ และกล่าวสนับสนุนธะนิตเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป "เรื่องหนี้สินนั้น จะได้ชำระคืนเมื่อไร? จะให้รับรองเป็นหลักฐานแน่นอนนั้น ทำไม่ได้ ถ้าธนาคาร เคร่งครัดกับลูกหนี้มาก ลูกหนี้ก็ล้มง่าย ๆ ระหว่างนี้เราได ้แต่ พยายาม เข้าควบคุมรายจ่ายของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด จะให้ได้ผลทันทีทันใดไม่ได้ ถ้ากรณี จำเป็นต้องผ่อนผันเพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอดไปก่อน"
การประชุมครั้งนั้นก็จบลงไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวตบท้าย อย่างมีความหมายว่า "ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจผู้บริหาร คณะกรรมการ ยอมรับตรง ๆ ว่าการบริหารของเราที่ผ่านมามีผิดพลาด แต่เรากำลังพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง…"
ธะนิต พิศาลบุตร เชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจนั้น เนื่องจาก เขาเสนอให้เพิ่มทุนจดทะเบียนตามคำสั่งของธนาคารชาติ และเพราะไม่เพิ่มทุน ธนาคารก็ไม่สามารถทำอะไรแม้กระทั่งการจ่ายเงินปันผล การเปิดสาขาเพิ่มซึ่งหยุดมาตั้งแต่ปี 2526 ตลอดจนการพัฒนาด้านอิเลคทรอนิกส์แบงกิ้ง
เขาระบายความในใจต่อไปว่า "พอเสนอเพิ่มทุน เขาเห็นด้วย แต่เมื่อจะขายคนนอกต้องขายราคาแพง ๆ แล้วใครเขาจะซื้อ "
นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้จะแจ้งดีมาก "ปัญหาหนี้สงสัยจะสูญของผู้ถือหุ้นซึ่งเมื่อเราดูหลักทรัพย์ที่มีเพียง 1 ใน 3 นั้น เราเห็นว่าไม่ชอบมาพากล ก็ซักถาม คุณธะนิตก็ตอบวกวน ไม่เป็น ที่พอใจของผู้ถือหุ้น"
เขาขยายความว่า เขาได้ไปศึกษาปัญหาของธนาคารนี้หลังจากเหตุการณ์เมื่อ 28 มีนาคม 2-3 สัปดาห์ พบว่าระบบควบคุมสินเชื่อหละหลวมมาก ทำให้เกิด หนี้มีปัญหามากมาย "ผมจึงเห็นว่าการปรับปรุงระบบสินเชื่อจะต้องมีขึ้น ในไม่ช้า โดยหาคนที่มีความรู้มาเสริม นิธิพัฒน์ เน้นว่าปัญหาของธนาคารอยู่ที่จุดนี้ "การเพิ่มทุนใคร ๆ ก็ทำได้ มัน ง่ายเกินไป"
นายธนาคารอาวุโสกล่าวว่าเหตุเกิดที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 นั้นเป็นเพราะเจ้าของธนาคารต้องการจะบริหารธนาคาร ของเขาเอง "ถึงแม้ธนาคารจะแย่ก็ขอให้แย่กับมือตนเองเถอะ"
บางเสียงกลับค้านว่า ที่แท้จริงเจ้าของธนาคารปัจจุบันหวั่นวิตกเจ้าของเดิมจะมายึดธนาคารคืน
เรื่องของเรื่องจึงมาลงเอยที่ "หวั่งหลี" กับ "อินทรทูต"
"คุณธะนิตเคยชวน พยัพ ศรีกาญจณา มาซื้อหุ้นธนาคารจากฝ่ายอินทรทูต แต่พอรู้ว่าคุณธะนิตเป็นคนชวนมา พวกเขาจึงไม่ยอมขาย" แหล่งข่าวกล่าวสนับสนุน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธะนิต ให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ที่ยังไม่สงบเมื่อค่ำวันที่ 28 มีนาคม2529 แก่ "THE NATION" ว่า "เขากลัวว่าผมจะกว้านซื้อหุ้นกลายเป็นหุ้นใหญ่"
และแล้วการปรากฏขึ้นของหลานชายหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายคนเดียวของนิธิพัฒน์- อินทิรา ชาลิจันทร์ จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ที่สำคัญเขาเป็นทายาทของตระกูลอินทรทูต ที่มีความรู้ด้านการเงิน และกำลังทำงานที่แบงก์ชาติในบทบาทกำกับธนาคารพาณิชย์ด้วย เขาคือ เกริกเกียรติ ชาลิจันทร์
หลายคนจึงถึงบางอ้อ
เรื่องต่อเนือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น