วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน นอกจากน้ำท่วมแล้วเราต้องระวังอะไรอีก ... แผ่นดินไหว?

นอกจากน้ำท่วมแล้วเราต้องระวังอะไรอีก ... แผ่นดินไหว?

ประเทศไทยค่อนข้างปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ไม่มีพายุไต้ฝุ่นอย่างจัง ภูเขาไฟระเบิด หรือแผ่นดินไหวใหญ่อย่างที่หลายประเทศประสบกัน ซึ่งบางครั้งทำให้เราคิดไปเองว่าที่ตั้งของเรานั้นมีความพิเศษที่จะแคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติทั้งปวง อย่าลืมว่าประเทศไทยก็อยู่บนเปลือกโลกบางๆ เช่นเดียวกับทุกประเทศในโลก หากอุปมาให้โลกมีขนาดเท่าลูกฟุตบอล เปลือกโลกแข็งๆ ที่เราท่านยืนอยู่จะมีความหนาเพียง 1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น ใต้เราลงไปคือหินหนืดที่เลื่อนที่ได้ตลอด แม้จะเคลื่อนไปอย่างช้าๆ แต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง

จากแผนที่แสดงการเกิดแผ่นดินไหวในรอบ 8-30 วันที่ผ่านมาของ US Geological Survey จะเห็นว่าแผ่นดินไหวระดับความแรงต่างๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นธรรมดา โดยเกิดมากแถบใกล้รอยต่อของเปลือกโลกที่แสดงไว้โดยเส้นสีขาว จะเห็นว่าทางตะวันตกของไทยไปทางพม่าก็มีรอยแยกนี้อยู่อันหนึ่ง ทำให้มีแผ่นดินไหวให้เราได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ จำนวนแผ่นดินไหวและความรุนแรงมีการกระจายเป็นแบบ power law คือ ยิ่งความแรงมากก็จะมีความถี่น้อย เช่น จะมีแผ่นดินไหวระดับ 7 แมกนิจูดครั้งหนึ่งโดยเฉลี่ยทุกๆ 1000 ครั้งที่มีการเกิดแผ่นดินไหวระดับ 5 แมกนิจูด ฯลฯ ซึ่งแสดงว่าไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องมีแผ่นดินไหวที่ใหญ่พอสมควรเกิดในบ้านเรา แม้จะไม่ใหญ่ระดับที่เกิดที่ญี่ปุ่นบ่อยครั้ง แต่หากเราไม่เตรียมพร้อมรับมือก็ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นได้ 

นี่ไม่ใช่ความผิดของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ของมันมาแต่ไหนแต่ไรก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของบุญกรรม ไม่ใช่ฟ้าดินลงโทษ ไม่ใช่ธรรมชาติเอาคืน แต่เป็น "ธรรมชาติ" ทางเดียวที่คุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น คือเราต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติและปรับตัวเข้ามามัน

ในหมู่นักเดินป่า ปีนเขา ผจญภัยมีคำกล่าวว่า "สภาพอากาศแย่น่ะไม่มีหรอก มีแต่คุณเตรียมเสื้อผ้ามาไม่ดี" ถ้าเราเตรียมการพร้อมและคิดล่วงหน้าสำหรับความเป็นไปได้ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ความสูญเสียก็จะไม่เกิด ดังที่ได้กล่าวไปเมื่อวันก่อน - อย่าหยุดคิดเรื่องน้ำท่วมเมื่อน้ำลด อย่าหยุดคิดเรื่องน้ำแล้งเมื่อฝนตก - และอย่าลืมเรื่องแผ่นดินไหวแม้มันยังไม่เกิด
 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน สถิติแผ่นดินไหวในรอบ 8-30 วันที่ผ่านมาของ US Geological Survey: http://neic.usgs.gov/neis/qed
neic.usgs.gov
USGS Earthquake Hazards Program, responsible for monitoring, reporting, and researching earthquakes and earthquake hazards

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น