'นิว แมนดาลา' เปิดตัวซีรีส์ 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' (1)
Fri, 2011-10-07 16:57
เว็บไซต์นิวแมนดาลา ซึ่งเป็นเว็บไซต์อภิปรายเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดตัววีดีโอซีรีส์ชุดใหม่ในหัวข้อ 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' เปิดพื้นที่พูดคุยในประเด็นสามเสาหลักของประเทศไทย ผ่านมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยมีผู้ร่วมสนทนาเป็นนักวิชาการแถวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิเช่น ผาสุก พงษ์ไพจิตร, คริส เบเกอร์, แอนดรูว์ วอล์กเกอร์, เดส บอล, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ประชาไท จึงขอนำเสนอวีดีโอดังกล่าวแก่ผู้อ่าน โดยมีคำบรรยายภาษาไทย พร้อมพูดคุยกับ 'นิโคลัส ฟาร์เรลลี่' นักวิจัยประจำวิทยาลัยเอเชีย แปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ 'นิวแมนดาลา' ถึงที่มาของวีดีโอชุดนี้ด้วย
ตอนที่ 1 ของซีรีส์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์"
(ผู้ชมสามารถเลือกคลิก 'cc' เพื่อเปิดคำบรรยายภาษาไทย)
ดร. นิโคลัส ฟาเรลลี่ เล่าถึงที่มาวีดีโอชุดนี้ว่า ซีรีส์ดังกล่าวมีทั้งหมดสามตอน ในแต่ละตอนประกอบไปด้วยการอภิปรายว่าด้วยชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ตามลำดับ โดยมีนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและบทวิเคราะห์ที่ตรงไปตรงมา เพื่อที่จะตั้งคำถามต่อ 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' ซึ่งฟาร์เรลลี่มองว่า เป็นหลักการที่ส่งอิทธิพลต่ออุดมการณ์ทางการเมืองอย่างในสังคมไทยกว้างขวาง จึงต้องการจะเปิดประเด็นเพื่อนำไปสู่การถกเถียงในสิ่งที่เราอาจเคยเชื่อกันมาในแบบเดิมๆ
ในตอนที่หนึ่งของซีรีส์ จะเป็นการอภิปรายเรื่อง 'ชาติ' โดยมีวิทยากรคือแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องชนบทไทย, ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย และดำเนินรายการโดยนิโคลัส ฟาร์เรลลี โดยในตอนนี้ จะอภิปรายในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไทย และอนาคตของประเทศในภาวะช่วงเปลี่ยนผ่าน
ส่วนในตอนที่สอง เป็นการอภิปรายเรื่อง 'ศาสนา' ซึ่งมีวิทยากร เช่น เดส บอล นักวิชาการประจำศูนย์ยุทธศาสตร์และความมั่นคงศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มาพูดคุยในเรื่อง ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวโน้มของภูมิภาคดังกล่าวในอนาคต
ส่วนในตอนที่สาม ว่าด้วย 'พระมหากษัตริย์' ฟาร์เรลลี่กล่าวว่า เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของซีรีส์ชุดนี้เลยก็ว่าได้ เพราะจะมีการอภิปรายถึงความเกี่ยวข้องของสถาบันกับการเมือง
"ผมคิดว่าทุกคนคงจะอยากรอชมตอนสุดท้าย ที่จะเน้นการอภิปรายเรื่องวังและการเมืองที่รายล้อมราชวงศ์ มันประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างเต็มๆ และตรงไปตรงมา ว่าด้วยอนาคตของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์ มันจะคุ้มค่าการรออย่างแน่แท้" ฟาร์เรลลี่กล่าวในอีเมลล์กับผู้สื่อข่าว
ในการจัดทำและนำเสนอวีดีโอซีรีส์ชุดนี้ ฟาร์เรลลี่หวังว่า จะนำมาซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยที่ดีขึ้น และในฐานะนักวิชาการและสถาบันการศึกษา เขาเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องเปิดพื้นที่และจุดประเด็นการถกเถียงแม้แต่ในเรื่องที่อ่อนไหวมากที่สุด
"สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องประเทศไทย มันหมายความว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการพูดถึง 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยชี้อนาคตของประเทศไทย" ฟาร์เรลลีกล่าว
สำหรับผู้อ่านที่ชมแล้วอยากจะร่วมแสดงความคิดเห็นกับผู้จัดทำ สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์นิวแมนดาลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น