วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

‘นิว แมนดาลา’ ปล่อยตอน 2: 'ศาสนา' กับสามจังหวัดชายแดนใต้

'นิว แมนดาลา' ปล่อยตอน 2: 'ศาสนา' กับสามจังหวัดชายแดนใต้

เว็บไซต์นิวแมนดาลา ซึ่งเป็นเว็บไซต์อภิปรายเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดตัววีดีโอซีรีส์ชุดใหม่ในหัวข้อ 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' เปิดพื้นที่พูดคุยในประเด็นสามเสาหลักของประเทศไทย ผ่านมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยมีผู้ร่วมสนทนาเป็นนักวิชาการแถวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิเช่น ผาสุก พงษ์ไพจิตร, คริส เบเกอร์, แอนดรูว์ วอล์กเกอร์, เดส บอล, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ในตอนที่สองของซีรีส์ชุดนี้ มีวิทยากรรับเชิญ อาทิ ศาสตราจารย์เดส บอลล์ จากศูนย์ยุทธศาสตร์และความมั่นคงศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอันเดอรส์ เองวัลล์ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งสต็อกโฮล์ม โดยมุ่งอภิปรายปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังดำเนินอยู่อย่างยืดเยื้อ ผ่านมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ตอนที่ 2 ของซีรีส์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์"

(ผู้ชมสามารถเลือกคลิก 'cc' เพื่อเปิดคำบรรยายภาษาไทย)

นิโคลัส ฟาร์เรลลี นักวิจัยประจำวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์นิวแมนดาลา ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่ผู้จัดทำเลือกที่จะหยิบเอาประเด็นสามจังหวัดภาคใต้มาอภิปรายในหัวข้อ 'ศาสนา' เพราะเขาเห็นว่าปัญหานี้เป็นความท้าทายหลักทางศาสนาและวัฒนธรรมที่รัฐบาลไทยทุกสมัยต้องเผชิญและจัดการ ดังจะเห็นจากในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงแล้วกว่า 4,000 คน รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบและบอบช้ำอีกนับไม่ถ้วน

"พื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จึงเปรียบเป็นเหมือนแผลลึกของชาติไทย ซึ่งเปราะบางต่อการถูกใช้ประโยชน์จากกลุ่มที่มีวาระคุลมเครือ" ฟาร์เรลลี่กล่าว เขาเสริมด้วยว่าปัญหานี้ ยังอยู่ในความสนใจของแวดวงนักวิชาการ ไม่เพียงแต่ในออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของนักวิชาการทั่วโลกด้วย เนื่องจากเป็นความสนใจสากลในประเด็นการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งที่มาในทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ เขาชี้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว มีลักษณะที่น่าสนใจ คือมีลักษณะเป็นสงครามกลางเมืองที่มีผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มอาชญากรรมทางการเมือง มีการฆ่าแบบอุกอาจ ซึ่งมีที่มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยส่วนหนึ่ง

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในวิทยากรของซีรีส์ตอนนี้ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และได้สัมผัสกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักการเมือง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และเจ้าหน้าที่รัฐ เธอเสนอว่า รัฐบาลควรหันมาให้ความสนใจกับปัญหานี้จริงจัง โดยมุ่งการปฏิรูปโครงสร้างทางการปกครอง เปิดเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ และเห็นปัญหาของการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัด

"นี่เป็นปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุด แต่มันกลับเป็นเรื่องที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ไม่อยากจะแตะ ถ้าหากรัฐบาลไหนมีความกล้าหาญพอที่จะจัดการกับข้อเสนอดังกล่าวได้ มันอาจจะแก้ปัญหาทางศาสนา เชื้อชาติ และความคับแค้นให้บรรเทาลงได้" ดวงยิหวากล่าวในเว็บไซต์นิวแมนดาลา

ฟาร์เรลลี่กล่าวส่งท้ายว่า เช่นเดียวกับการอภิปรายในตอนอื่นๆ นักวิชาการเหล่านี้ จะให้มุมมองที่อิสระและตรงไปตรงมาต่อประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้อ่านสามารถนำไปขบคิดต่อ และเป็นรากฐานในการอภิปรายในเรื่องต่อไปที่ว่าด้วย "กษัตริย์" ซึ่งเป็นตอนที่สามของซีรีส์ชุดนี้ด้วย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น