ฟ้าทะลายโจร...สมุนไพรพิชิตไข้หวัด
ท่ามกลางกระแสของไข้หวัด 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยว ข้องกับสุขภาพทั้งในบ้านเราและในต่างประเทศต้องตื่นตัวกับกระแสดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งนอกจากการรักษาในแผนปัจจุบัน แล้ว สมุนไพรก็เป็นอีกทางเลือกที่ได้รับความสนใจ และสมุนไพรที่โดดเด่นอยู่ในขณะนี้คือ "ฟ้าทะลายโจร" ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้กันมานาน มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ท้องร่วง เป็นยาธาตุ บำรุงกำลัง และถูก บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยมีข้อบ่งชี้ว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บ คอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล ซึ่งโรงพยาบาลสามารถสั่งจ่ายทดแทนหรือเสริมการรักษาร่วมกับยาแผน ปัจจุบันได้ สำหรับงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิผลในการรักษาหรือป้องกันอาการหวัด พบว่า การรับประทานยาเม็ด ฟ้าทะลายโจร ขนาด 200 มก./วัน ติดต่อกัน 3 เดือน สามารถป้องกันการเกิดหวัดได้ถึง 33% โดยพบอัตราการเป็นหวัด เหลือเพียง 20% เมื่อรับประทานในขนาด 3-6 ก./วัน นาน 7 วัน ทำให้อาการไข้และเจ็บคอลดลง ไม่ต่างจากการใช้ยาพารา เซตามอล มีการศึกษาการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรร่วมกับสารสกัดโสมไซบีเรีย (Acanthopanax senticosus) ในขนาด 1200 มก./วัน ซึ่งมีสาร andrographolide (สารสำคัญในฟ้าทะลายโจร) 48-60 มก./วัน พบว่าสามารถรักษาอาการที่เกิดจากหวัด เช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก ไอ คอแห้ง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังลดอาการเหนื่อย นอนไม่หลับ ความรู้สึกไม่สบายตัว ทำให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น และฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียอย่างอ่อน จึงทำให้ฟ้าทะลายโจรสามารถใช้ป้องกันและรักษาไข้หวัดทั่วไปที่ไม่อาการรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานตามที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ รับประทานวันละ 3-6 ก. แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลัง อาหารและก่อนนอน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ และรับประทานวันละ 1.5-3 ก. แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน เพื่อบรรเทาอาการหวัด อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจรคือ ทำให้ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดเอว วิงเวียนศีรษะ และใจสั่น ข้อควรระวังในการใช้โดยการฉีดหรือใช้ขนาดสูงคือ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน ลมพิษ จนถึง อาการแพ้ขั้นรุนแรงและช็อค สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจให้เกิดการแท้ง ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (ไม่ควรเกิน 7 วัน) เพราะอาจทำให้แขนขาชาหรืออ่อนแรงได้ หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงระหว่างการ ใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์http://www.medplant.mahidol.ac.th/document/andrographis.asp
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร 02-354-4327
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น