วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เภสัชเผย'หญ้าผีบอก'ฆ่าเชื้อรา-กามโรคต้านมะเร็งไม่ได้

เภสัชเผย'หญ้าผีบอก'ฆ่าเชื้อรา-กามโรคต้านมะเร็งไม่ได้

เภสัชฯรพ.อภัยภูเบศร์ ยัน"หญ้าผีบอก" ไม่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เตือนอย่ากินมั่วเสี่ยงเป็นพิษ ชี้ใช้รักษาโรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อรา แบคทีเรีย กลากเกลื้อน ดับกลิ่น รักษากามโรค พบได้ทุกภาคของไทยเรียกได้หลายชื่อ ขณะที่แพทย์แผนไทยฯเตรียมส่งตัวอย่างเข้าตรวจสอบ ดูสารพิษวันที่ 16 มีนานี้...

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบหญ้าหยาดน้ำค้าง หรือหญ้ากาบหอยตัวเมีย ตามที่ชาวกำแพงเพชร เชื่อว่าเป็นยาผีบอกสามารถรักษาสารพัดโรค และโรคมะเร็งได้นั้น จากการค้นข้อมูลล่าสุดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2545 มีการทดสอบฤทธิ์รักษามะเร็งในหลอดทดลองปรากฏผลไม่ดี ซึ่งเมื่อไม่มีงานวิจัยรองรับ แสดงว่าหญ้าดังกล่าวไม่สามารถรักษามะเร็งได้ ที่สำคัญความเข้าใจคำว่ามะเร็งของคนสมัยก่อน กับสมัยปัจจุบันแตกต่างกันด้วย เพราะสมัยก่อนมักคิดว่า มะเร็งคือโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ตรงนี้ก็ต้องสร้างความเข้าใจเช่นกัน ดังนั้นขอเตือนประชาชนหากทานเป็นผักอยู่แล้ว แสดงว่าทราบดีว่าส่วนไหนรับประทานได้ก็ไม่น่าเป็นอะไร แต่คนที่ไม่รู้ขอให้หลีกเลี่ยงเพราะเสี่ยงต่อการรับสารพิษเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ใช้มากในการรักษาโรคผิวหนัง ทั้งกลากเกลื้อน ผิวอักเสบ แผลไฟไหม้ แมลงสัตว์กัดต่อย โดยเฉพาะแผลที่โดนเห็บป่ากัด  บ้างก็นำไปใช้ดับกลิ่นตัวด้วย สำหรับไทย มีบางพื้นที่ที่นำไปกิน แต่กินยอดอ่อน ใบอ่อนสดๆ เป็นผักแกล้ม กินกับน้ำพริก มีการใช้เป็นยาต้มดื่มหลังคลอด ใช้ต้มดื่มแก้ไข้  แก้บิดแก้ปวดท้อง ใช้เป็นยาตำรับรักษากามโรคด้วย อย่างมาเลเซียก็นำไปใช้ในสตรีหลังคลอด  อินเดียนำมาตากแห้งบดผง และละลายในน้ำดื่มในตอนเช้าเพื่อล้างท้อง ใบเคี้ยวกับน้ำมะนาวเพื่อเพิ่มการหลั่งของน้ำดี   สำหรับชื่อเรียกมีหลายชื่อ เช่น คนกรุงเทพ เรียกตะขาบไต่ดิน  คนจีนในกรุงเทพ  เรียกว่าโด๊ะดี่แก่กัง คนนราธิวาสเรียก หญ้ามันลิง คนกำแพงเพชร เรียก เหงือกปลาหมอนา เป็นต้น  

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า ในวันที่ 16 มีนาคมนี้จะนำส่งตัวอย่างหญ้าหยาดน้ำค้าง ให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ และสกัดสารออกมาว่า มีอะไรบ้าง ออกฤทธิ์แตกต่างจากสรรพคุณเดิมหรือไม่ รวมทั้งจะมีการตรวจสอบในเรื่องของความเป็นพิษด้วย

โดย: ทีมข่าวการศึกษา

16 มีนาคม 2555, 04:15 น.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น