กองทุนวายุภักษ์
คอลัมน์ที่ 13
กองทุนรวมวายุภักษ์ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2546
รัฐบาลในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้กองทุนนี้เป็นเครื่องมือของรัฐในการเข้าไประดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยลดภาระของรัฐในการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อนำไปลงทุน
ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกของประชาชนผู้ออมเงินในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ตลาดทุนของประเทศขยายตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
จากเดิมการลงทุนของรัฐใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การกู้เงิน หรือการมอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐลงทุนแทน ซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมาย และขาดความคล่องตัวในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
กองทุนนี้มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ทำหน้าที่ถือครองและบริหารจัดการหลักทรัพย์และการใช้สิทธิของกระทรวงการคลังตามที่กระทรวงการคลังจะมอบหมาย
มีลักษณะของกองทุนรวมแบบยืดหยุ่น (Mutual Fund Flexible Port folio) ประเภทไม่รับซื้อคืนก่อนสิ้นอายุโครงการ (Closed and Fund) อายุโครงการ 10 ปี และอาจขยายอายุโครงการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
วงเงินของการจัดตั้งกองทุนรวมเบื้องต้น 100,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไป และกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของกองทุน
เงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนจะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินที่รัฐถือครองอยู่ รวมทั้งหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิและตราสารอนุพันธ์อื่นตามหลักการที่กระทรวงการคลังจะกำหนด ซึ่งจะอนุมัติโดยครม. เบื้องต้นกำหนดเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการ คือ
1.ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิ และตราสารอนุพันธ์อื่น โดยซื้อหรือรับโอนสิทธิของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต
2.ลงทุนในหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรสภาพ
3.ลงทุนในธุรกิจพื้นฐานที่สำคัญและมีปัจจัยพื้นฐานดี มั่นคง เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สำหรับการลงทุนของกองทุนรวมในระยะแรกเห็นสมควรให้ลงทุนเฉพาะการลงทุนในหุ้นของสถาบันการเงินหรือการลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปเป็นหลัก
ล่าสุดในปี 2555 กองทุนรวมมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นกว่า 3 แสนล้านบาท มีกำหนดครบอายุในปี 2556 โดยมีแนวโน้มว่ารัฐบาลอาจต่ออายุกองทุนออกไปอีก หรืออาจให้ดำเนินการแบบกองทุนเปิดที่ไม่มีวันหมดอายุ
รัฐบาลเพื่อไทยต้องการให้กองทุนนี้เข้าไปซื้อหุ้นของบมจ.ปตท.และบมจ.การบินไทยในสัดส่วนแห่งละ 2% เพื่อทำให้ภาระหนี้ของทั้ง 2 หน่วยงานไม่ต้องไปรวมอยู่ในหนี้สาธารณะ เพื่อใช้ช่องว่างตรงนี้กู้เงินไปฟื้นฟูประเทศ
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่าพร้อมจะดำเนินการ โดยขณะนี้กองทุนมีสภาพคล่องที่สามารถนำมาใช้ดำเนินการได้ ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
แต่แนวคิดนี้มีเสียงคัดค้านมาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จึงประกาศว่า
ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในช่วงปี 2555-2556
หน้า 6
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น