วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

The China Syndrome : ปิดข่าวไว้ก่อน เจ้าของสื่อสั่งไว้

The China Syndrome : ปิดข่าวไว้ก่อน เจ้าของสื่อสั่งไว้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับจีนตามชื่อหรือมีจีนเป็นผู้ร้ายเหมือนผลงานฮอลลีวู๊ดหลายเรื่องแต่อย่างไร

ภาพจาก Wikipedia

หากแต่เป็นเรื่องของสื่อ ผู้บริหารสื่อ กับวิจารณญาณจรรยาบรรณว่าประชาชนควรจะได้รับข้อมูลข่าวสารหรือไม่ อย่างไรเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ซึ่งในที่นี้คือ อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ความปลอดภัยในอาหารและอื่นๆ ไปอีกหลายชั่วคน โดยทั้งนี้มีสาเหตุมาจากการปกปิดบิดเบือนความจริงของผู้บริหารโรงไฟฟ้า และการเอนเอียงเข้าข้างโรงไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอเข้าชิงหลายรางวัลหลังจากออกฉายเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1979 และยิ่งถูกทำให้โด่งดังขึ้นไปอีกเมื่อเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นจริงๆที่ Three Mile Island ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุสาธารณะที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพียง 12 วัน หลังจากหนังออกสู่สายตาสาธารณะชนในสหรัฐอเมริกา และถูกนำกลับมากล่าวถึงใหม่หลังจากเหตุการณ์อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Fukushima ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความคล้ายของเหตุการณ์ ยังไม่นับว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ไกลตัวคนไทยนักตราบเท่าที่ผู้วางแผนนโยบายพลังงาน เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าต่างๆ สภาอุตสาหกรรม บรรณาธิการ นักข่าวสายพลังงานและอุตสาหกรรมยังเดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างประเทศตามคำเชิญของเหล่านักอุตสาหกรรมนิวเคลียร์เป็นว่าเล่น โดยเฉพาะยุคนี้ที่พลังงานนิวเคลียร์ถูกเอากลับมาปัดฝุ่นชูเป็นทางออกของการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

เรื่องเริ่มจากนักข่าวทีวีสาว Kimbery Wells ที่แสดงโดยดาราชื่อดัง Jane Fonda ผู้มีหน้าที่แสวงหาข่าวสีสันเบาสมองมาออกช่วงปิดท้ายข่าวประจำวัน ได้รับการมอบหมายให้ไปเยี่ยมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองที่สถานีตั้งอยู่และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าให้พูดถึงความสำคัญและความปลอดภัยของการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานนิวเคลียร์ โดยเธอมี Michael Douglas สมัยเป็นหนุ่มหล่อในบทของ Richard Adams ช่างภาพมือดีของสถานีไปด้วย เจ้ากรรมขณะที่ทั้งคู่กำลังสัมภาษณ์และมองไปยังห้องควบคุมปฏิกรณ์ ก็เกิดการสั่นไหวในอาคาร และเห็นเจ้าหน้าที่ในห้องแสดงอาการตกใจและพยายามแก้ไขสถาการณ์ นักข่าวสาวได้รับคำอธิบายเพียงว่านี่เป็นเหตุการณ์ปกติของการเดินเครื่องปฏิกรณ์ แต่ช่างภาพผู้มากประสบการณ์ได้กลิ่นว่านี่อาจเป็นข่าวใหญ่ จึงแอบบันทึกภาพความโกลาหลในห้องควบคุม ทั้งๆที่โรงไฟฟ้ามีกฏห้าม แต่เมื่อทั้งคู่กลับมาถึงสถานีและรายงานต่อบรรณาธิการว่ามีข่าวใหญ่กลับถูกห้ามออกอากาศโดยผู้บริหารระดับสูงของสถานี โดยมีฉากผู้จัดการประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าได้เข้าพบผู้บริหารสถานีก่อนหน้านั้น ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ในไทยที่ผู้บริหารสื่อมีความสนิทสนมและได้รับงบประมาณจากหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศมาจัดกิจกรรมลดโลกร้อนต่างๆนานา

ขณะที่นักข่าวสาว Kimbery ได้รับการปลอบใจผู้บริหารของสถานีว่าเธออาจจะได้หลุดจากแวดวงข่าวเบาๆและเลื่อนขั้นไปทำข่าวที่มีเนื้อหาสาระอย่างที่เธอใฝ่ฝัน ช่างภาพ Richard กลับไม่ยอมแพ้ โดยขโมยม้วนฟิลม์ที่ถูกห้ามออกอากาศไปให้นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ดูเพื่อหาคำยืนยันในความอันตรายของเหตุการณ์และความจำเป็นในการให้ผู้คนได้รับรู้ข้อมูลเพื่อเตรียมตัวรับมือ ซึ่ง Richard ก็ได้รับการยืนยันว่าหากควบคุมไม่ได้นี่อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า China Syndrome

ปรากฏการณ์ China Syndrome สถานการณ์จินตนาการในหนังที่เชื่อว่าเมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร้ายแรงจนถึงจุดหนึ่งแท่งปฏิกรณ์จะหลอมละลายทะลุเปลือกโลกไปโผล่ที่ทวีปฝั่งตรงกันข้ามกับอเมริกาซึ่งก็คือตำแหน่งของประเทศจีนอันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง

Kimbery กลับมาสนใจขุดคุ้ยเรื่องอุบัติเหตุนี้อีกครั้งเมื่อหัวหน้าวิศวกรผู้ควบคุมโรงไฟฟ้าแสดงความกังวลเมื่อคำขอที่ให้เปลี่ยนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าถูกปฏิเสธโดย้ผู้บริหารเพราะไม่ยอมลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นเขาพบว่าก่อนหน้านั้นมีการปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าโดยแผนกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะส่งผลร้ายแรงต่อการเดินเครื่องต่อไป แต่เมื่อหัวหน้าวิศวกรพยายามพูดความจริงกลับถูกขู่เขาจึงเข้าหานักข่าวอย่าง Kimbery ซึ่งก็ถูกผู้บริหารโรงไฟฟ้าขัดขวางทุกวิถีทางที่จะให้เกิดการรายงานข่าวจนถึงกับนำไปสู่การที่หัวหน้าวิศวกรถูกตำรวจยิงตายก่อนจะได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ

เป็นที่น่าสะกิดใจว่าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างมากว่า 30 ปีแล้ว ข้อปะทะถกเถียงระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นไม่มีวิธีการเก็บกากเชื้อเพลิงที่มีกัมมันตรังสีอันตรายที่แน่ใจได้ถึงความปลอดภัยในระยะยาว การผิดพลาดโดยฝีมือมนุษย์ที่เกิดได้ตลอดเวลาทั้งจากการรู้และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ว่าเทคโนโลยีจะทันสมัยแค่ไหน และอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แทบทุกครั้งที่เกิดขึ้นทั้งที่ไม่เป็นข่าวและเป็นข่าวเพราะใหญ่จนปิดไม่ไหวก็มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดโดยคนแทบทุกครั้ง ผู้ไม่เห็นด้วยกับการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยพูดอยู่เสมอว่ารัฐบาลไทยแค่จะสร้างสนามบินให้รันเวย์และทางวิ่งไม่แตกบ่อยๆ ยังทำไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับอะไรที่มีความเสี่ยงกว่าหลายร้อยเท่าอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่ส่วนใหญ่จะเป็นไปในด้านเดียวจากผู้สนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนที่มีกำลังทรัพย์ ยังมีใครจำได้ไหมว่ารัฐบาลไทยเคยจัดสรรงบกี่ร้อยล้านบาทเพื่อประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์แม้โครงการยังอยู่ในขั้นศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น

การที่ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่นั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องผ่านสงครามข้อมูลข่าวสารขนานใหญ่ ซึ่งบทบาทสื่อมีความสำคัญอย่างมาก ขอเพียงสื่อมวลชนและผู้บริหารสื่อทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามจรรยาบรรณ (ซึ่งก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่าจะทำได้ขนาดไหนในยุคนี้ที่ผู้บริหารสื่อท่องคาถาว่าสังคมไม่ต้องการเนื้อหามากจากข่าวคุณภาพเชิงลึก) สังคมไทยก็น่าจะเกิดการถกเถียงอย่างมีข้อมูลและนำไปสู่การตัดสินใจเรี่องสำคัญนี้อย่างชาญฉลาดต่ออนาคตของประเทศ

http://www.mediainsideout.net/commentary/2012/07/19
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น