วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

'วิทยา'ปิ๊งไอเดียตั้ง'อโรคยศาล'ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังนำร่อง 5 รพ.

 


alt
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ชูไอเดีย ตั้งอโรคยศาล  พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ร่างกายพิการจากอุบัติเหตุและจากโรคเรื้อรัง

เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ทั้งในเขตเมืองและชนบท แบบครบวงจร ซึ่งในอนาคตผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีเพิ่มมากขึ้น โดยนำร่องต้นแบบในโรงพยาบาล 5 แห่งแรกในประเทศ ได้แก่ รพ.อู่ทอง รพ.ขุนหาญ รพ.จอมทอง รพ.ห้วยยอด และสถาบันการแพทย์แผนไทย ยศเส  กทม. ใช้งบลงทุน 54 ล้านบาท คาดเริ่มบริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

 

นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนารูปแบบการดูผู้ที่มีความพิการจากเจ็บป่วย โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุจราจร และจากโรคเรื้อรัง เช่นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดปัญหาตีบหรือแตก ทำให้เกิดความพิการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงผู้ดูแลตลอดวัน     ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 1 ล้านราย และแนวโน้มจะมากขึ้นในอนาคตจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประชาชนป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น และไม่สามารถทำได้ด้วยการทุ่มทรัพยากรเข้าไปในระบบเดิม จำเป็นต้องสังเคราะห์ระบบใหม่และพัฒนาทีมงานที่เอื้อต่อการดูแลโรคเรื้อรัง จากการวิเคราะห์ล่าสุดในปี 2553 จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั่วประเทศมี 1.7 ล้านกว่าราย   ขณะที่ในปี 2551 มีผู้ป่วย 1.4 ล้านกว่าราย หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 19  คาดว่าในปี 2558 ค่ารักษาโรคเรื้อรังของประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึงปีละ 52,000 ล้านบาท 

นายวิทยา กล่าวว่า ในการพัฒนารูปแบบดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ใช้ชื่อว่า อโรคยศาล  ซึ่งนำร่อง 5 แห่งในประเทศ ภาคละ 1 แห่ง ได้แก่ 

1.โรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 

2.โรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 

3.โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 

4.โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง และ

ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย  ยศเส  กรุงเทพมหานคร 

ใช้งบลงทุน 54 ล้านบาท ได้ให้กรมสนับสนุนบริการ พัฒนาอาคารสถานที่ที่เหมาะสม  เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น 

ทางด้านนายแพทย์อภิชัย  มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  รูปแบบบริการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังของอโรคยศาล จะอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือ การจัดระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ  ทั้ง สถานที่  เครื่องมือ อุปกรณ์ ทีมสหวิชาชีพในการดูแลประมาณ 12 คนเป็นอย่างน้อย  เช่น แพทย์  พยาบาล  เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นักโภชนาการ ผู้ช่วยเหลือในการดูแลจากชุมชน โดยเชื่อมโยงกับชุมชน หมอพื้นบ้าน เพื่อการสนับสนุนทรัพยากรในชุมชนให้เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยพิการ  เพื่อให้เกิดการสนับสนุนตนเอง และความสามารถในการดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม   เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน   

นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อไปว่า  ลักษณะเฉพาะของอโรคยศาล  เป็นอาคารชั้นเดียว  ระบบระบายอากาศดี และแยกเป็นการเฉพาะออกจากหอผู้ป่วยทั่วไปเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยเรื้อรังจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ  เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ภายในอาคารมีทั้งห้องผู้ป่วยรวมและห้องพิเศษ ห้องสันทนาการเพื่อทำกิจกรรม ห้องปฐมพยาบาล ห้องกายภาพบำบัด ห้องศาสนบำบัด คาดว่าจะเริ่มให้การดูแลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป  และจะประเมินผลในอีก 1 ปี เพื่อดำเนินการต่อในพื้นที่อื่น 

http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=132385&catid=176&Itemid=524

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น