เผลอแป๊บเดียว TPBS หรือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็ก่อตั้งมาได้ 5 ปีแล้วนะครับ ซึ่งแปลว่าเราได้ใช้เงิน "ภาษีบาป" สร้างทีวีของคนชายขอบ ริมขอบ ตกขอบ ไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท
แต่แหม แค่ได้ดู ณาตยา แวววีรคุปต์ เอา NGO กับชาวบ้านมาออกเวทีสาธารณะวันละโหล ก็คุ้มแล้วครับ รายการอย่างนี้จะไปหาสปอนเซอร์ได้ที่ไหน เพราะจัดช่องไหนก็ไม่มีคนดู (อ้าว)
รายการดีๆ อย่างนี้ TPBS ทุ่มทุนสร้างอย่างคุ้มค่าภาษีบาป กระทั่งมีเสียงเล่าอ้างว่า เมื่อตอนน้ำท่วมภาคใต้ บังเอิ๊ญทีมช่างภาพขาด ไม่พอถ่ายทำ "เวทีสาธารณะ" ทางสถานีต้องเรียกทีมรายงานสดน้ำท่วมภาคใต้ขึ้นมา ยกเลิกรายงานสดไปเลย ภูมิปัญญาชาวบ้านสำคัญกว่า คริคริ
เผลอแป๊บเดียว เทพชัย หย่อง ก็จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ TPBS ครบวาระในวันที่ 9 ตุลาคม 2555 นี้ ซึ่งอันที่จริง "เฮียสิ่ว" แกรับตำแหน่งมาตั้งแต่ 15 มกราคม 2551 แต่ตอนนั้นแค่รักษาการ แล้วจึงได้รับเลือกให้เป็น ผอ.อย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ตุลาคม.2551
ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่รัฐบาลขิงแก่ยึดไอทีวีมาตั้ง TPBS ต้องสรรหา ผอ.ใหม่ พี่หมอพลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย ออกประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ผอ.TPBS ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2555 โดยกำหนดระยะเวลารับสมัครคั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งแปลว่าปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้ว
แม้ TPBS จะยังไม่ประกาศเป็นทางการว่ามีใครสมัครบ้าง แต่ก็รู้กันแซ่ด ว่ามี 4 คน ได้แก่ เฮียสิ่วเจ้าเก่า, สมชัย สุวรรณบรรณ ณ BBC ผู้สร้างเซอร์ไพรส์ ลาออกจากกรรมการนโยบายมาสมัคร ผอ.ทั้งที่เหลือวาระดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี, วสันต์ ภัยหลีกลี้ รอง ผอ.ด้านปฏิบัติการ อดีต ผอ.อสมท.และ ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ ภาควิชาศิลปะการละคร อักษรศาสตร์ จุฬาฯ มือเขียนบทละครช่อง 3 เจ้าของรางวัลนับไม่ถ้วน หนึ่งในกรรมการบริหาร TPBS
คนในล้วนๆ เลยครับ จะเปรียบเป็น "ศึกสายเลือด" ก็ได้
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระดับแม่บ้าน TPBS ยังรู้ว่า ศึกครั้งนี้ชิงชัยกันระหว่างสมชัยกับเทพชัย BBC Vs Nation เท่านั้น โดยฝ่ายแรกต่อครึ่งควบลูก ไม่มีใครรอง ขณะที่วสันต์ ภัยหลีกลี้ ต้องหลีกลี้หนีภัยสถานเดียว วสันต์ได้เป็นรอง ผอ.เพราะเฮียสิ่วหิ้วมา ขณะที่สมชัยก็เป็นหัวหน้าเก่า ณ BBC เพียงแต่ตอนแรก ทั้งคู่กั๊ก ไม่บอกว่าจะสมัคร วสันต์ถามเฮียสิ่วครั้งแล้วครั้งเล่า ก็กบไต๋อยู่นั่นแหละ วสันต์จึงยื่นใบสมัครไปก่อน แต่พอสมชัยลาออกลงสมัคร เฮียสิ่วก็ประกาศ กรูอยู่เฉยไม่ได้แร้ว ขอลุย
เจอรุ่นใหญ่เขาดวลกันอย่างนี้ ก็น่าเสียดาย วสันต์ไม่ถอนตัวก็เหมือนถอน วสันต์เนี่ยถึงใครจะมองว่ารุ่งมณี เมฆโสภณ ส่งเข้าประกวด แต่เป็นมืออาชีพด้านข่าว ทัศนะส่วนตัวส่วนเมียอาจมีผลบ้าง แต่ไม่ถึงกับสุดขั้วสุดโต่ง แถมวสันต์ยังไม่เล่นการเมืองในสำนักงาน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ไม่สร้างอาณาจักร
ส่วน ผศ.นลินี เจอ 2 บิ๊กประกบแบบนี้ก็เป็นแค่ไม้ประดับ คนในเล่าว่า TPBS อยากให้เธอเข้ามาช่วยงานละคร ที่ไหนได้ เธอกลับอยากคุมข่าว เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับนคร ชมพูชาติ ทนายความก๊วน สุวัตร อภัยภักดิ์, นิติธร ล้ำเหลือ (เคยเป็นทนายให้กบฏไอทีวี) เป็น 2 ตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการของพี่น้องเอ๊ยฮาร์ดคอร์ในคณะกรรมการบริหาร
คนดีเขาเตะตัดขากัน
ถามว่าทำไมสมชัยต่อครึ่งควบลูก ก็ต้องย้อนไปดูว่า กรรมการนโยบายของ TPBS มี 9 คน ตามกฎหมายเมื่อครบ 2 ปีต้องจับสลากออก 2 คน โดยกรรมการชุดแรกตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 ได้แก่ อ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ประธาน, อ.จอน อึ๊งภากรณ์, สมชัย สุวรรณบรรณ, เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, จินตนา พันธุฟัก, มัทนา หอมละออ , รศ.อรศรี งามวิทยาพงศ์ และกมล กมลตระกูล
เมื่อครบ 2 ปีวันที่ 2 สิงหาคม 2553 สี่คนแรกถูกหวยต้องออกไป แต่สมชัยได้รับเลือกเข้ามาใหม่ พร้อมกับ ผศ.จุมพล พูลภัทรชีวิน, รศ. มาลี บุญศิริพันธ์ และศิริชัย สาครรัตนกุล คราวนี้ หมอพลเดชเป็นประธาน ฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2555 ห้าคนที่เหลืออยู่จากชุดแรกก็ต้องครบวาระ และต้องสรรหาใหม่
ซึ่งตอนนี้ก็มีประกาศรับสมัครกรรมการนโยบายแล้ว คณะกรรมการสรรหาจาก 15 องค์กรที่กฎหมายกำหนด เลือก สัก กอแสงเรือง เป็นประธาน อ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เป็นเลขานุการ เปิดรับสมัครกรรมการนโยบาย ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม ปิดรับสมัครไปแล้วยังไม่รู้ผลว่ามีใครสมัครมั่ง
แต่มีตลกร้ายจะเล่าให้ฟัง คือมีคนไปสมัครวันที่ 7 กรกฎาคม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับสมัคร เพราะเป็นวันเสาร์ วันที่ 8 เป็นวันอาทิตย์ พอพลิกไปดูประกาศก็บอกว่าให้สมัครได้ "ทุกวัน (เว้นวันหยุดราชการ)" เออ แล้วจะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 8 ทำไมให้ป่วยการ
คุณสักแกชอบนับวันผิดอย่างนี้ มิน่าเล่า ถึงโดน กกต.แจกใบแดง คริคริ
คณะกรรมการสรรหาจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งผู้ผ่านการพิจารณาจะต้องไปแสดงตนและวิสัยทัศน์ด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ในวันที่ 27 กรกฎาคม
สังเกตอะไรไหมครับ คณะกรรมการนโยบายชุดใหม่จะเข้ามาวันที่ 2 สิงหาคม ขณะที่เฮียสิ่วจะครบวาระวันที่ 9 ตุลาคม เหลือเวลาอีกตั้ง 2 เดือน 7 วัน ทำไมคณะกรรมการนโยบายชุดเดิมจึงต้องรีบสรรหาผู้อำนวยการ ก่อนที่ตัวเองจะพ้นจากตำแหน่ง
มิหนำซ้ำ สมชัย สุวรรณบรรณ ยังลาออกจากคณะกรรมการนโยบายมาลงสมัครเอง ถามว่ากรรมการนโยบายที่เหลือ 8 คนจะเลือกใคร ระหว่างคนกันเองอย่างสมชัยกับเฮียสิ่ว ซึ่งแหล่งข่าวระดับแม่บ้านคนขับรถยังรู้ว่า กินเกาเหลากับกรรมการนโยบายอยู่เนืองๆ
นี่ถึงแม้แหล่งข่าวระดับสูงหน่อย 170 ซม.จะยืนยันว่า สมชัยนิสัยฝรั่ง BBC ไม่ได้ล็อบบี้ใครเลย ก็ยังต่อครึ่งควบลูกไม่มีคนกล้ารอง
ศึกครั้งนี้สนุกแน่ เพราะพนักงานระดับสูง ยกเว้นฝ่าย Admin ส่วนใหญ่เฮียสิ่วเอาเข้ามา ก็ถือหางเฮียสิ่ว แต่พวกพนักงานระดับล่าง ว่ากันว่าถ้าให้พนักงานโหวตเลือก ผอ.ได้ สมชัยเป็นต่อถึง 10-1 (แทง 10 จ่าย 1 ไม่รวมทุน) เพราะพนักงานระดับล่างอึดอัดเต็มแก่ อยากให้ใครก็ได้เข้ามา "ล้างบาง" พวก นขต.(หน่วยขึ้นตรง)
แต่แม้สมชัยจะเป็นต่อทุกด้าน ก็ใช่ว่าจะคล่องคอ เพราะอาการรุกลี้รุกลนไม่ยอมรอกรรมการชุดใหม่ของกรรมการนโยบายดังกล่าว ทำให้เฮียสิ่วลั่นวาจาไว้แล้วว่า แพ้เมื่อไหร่กรูฟ้องแน่
มีอย่างที่ไหน กรรมการนโยบายจะพ้นวาระ 2 สิงหาคม ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหา 24 กรกฎาคม แต่ปิดรับสมัคร ผอ.วันที่ 4 กรกฎาคม จะประกาศชื่อ ผอ.คนใหม่ภายในวันไหนก็ไม่บอก งุบงิบงุบงิบ ตำแหน่งนี้เฮียสิ่วแกหวงของแกนะเออ เพราะเป็นเก้าอี้เทวดาประทาน พรบ.ที่ร่างโดยอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ณ TDRI ไม่ยักกำหนดคุณสมบัติ ผอ.ว่าต้องจบปริญญาตรี ทั้งที่ปกติ ผอ.องค์กรระดับนี้ต้องจบปริญญาตรี คนในวงการสื่อที่พอจะทำหน้าที่นี้ได้ ก็มีแต่เฮียสิ่วนี่แหละที่ไม่จบปริญญาตรี
อย่างว่า ความรู้ความสามารถไม่ได้วัดกันด้วยปริญญา ใบตองแห้งก็ไม่จบปริญญา สมัคร ผอ.TPBS ได้เหมือนกัน 555
จิ้งจกข้างตึก TPBS ทักว่า หลังจากพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดตึกในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้แล้ว หมดพิธีมงคล ก็จะเป็นวันดีเดย์ ลุยกันตึกระเบิดแน่ โดยพนักงานระดับล่างที่อึดอัด ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการแบ่งก๊กแบ่งเหล่ามา 4-5 ปี กำลังรอโอกาส รอสุญญากาศอำนาจ เพื่อเสนอปัญหาต่อสังคมเช่นกัน
ไม่มีที่ว่างให้คนนอก
ที่บอกว่าสงครามคนดี เพราะเรื่องนี้ไม่มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเลยนะครับ แล้วก็ไม่มีสีแดงเข้าไปปะปน เพราะเป็นที่รู้กัน เฮียสิ่วมาจากค่ายเนชั่น สมชัย สุวรรณบรรณ ก็เป็นเจ้าของวาทกรรมประณามสื่อใหม่เป็น "สื่อชนเผ่า"
ใน TPBS ไม่มีสีแดง ถ้ามีก็แตงโม หลบๆ ซ่อนๆ เพราะถึงแม้เฮียสิ่วโพสต์เฟซบุคกลางๆ แต่ "คนพิเศษ" ที่บ้าน ว่ากันว่าโพสต์เฟซบุคยังกะวรกร จาติกวณิช (เฮียสิ่วเคยเขียนถึง "บุคคลพิเศษ" ในคำนำหนังสือบทสุดท้ายทีวีเสรีปี 2543 ไปหาอ่านกันเอง โคตรซึ้งเลย)
ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 นักข่าวสาวรายหนึ่ง รายงานสถานการณ์ตามความจริงสี่แยกคอกวัว หยิบลูกกระสุนขึ้นมาชูหน้ากล้อง บอกว่าเป็นกระสุนที่ยิงมาจากทหาร โดนฝ่ายบริหารด่ายับ เบรคต่อมา ถูกบังคับให้รายงานข่าวตามที่โต๊ะข่าวเขียนให้ วันรุ่งขึ้นเธอลาออกเลย
พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ฉบับสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ล็อกสเปกกรรมการสรรหากรรมการนโยบายไว้แล้ว ว่าต้องมาจากองค์กรสื่อ และองค์กร ส.ในเครือข่ายหมอประเวศ แบบเดียวกับ สสส.นั่นเอง
กรรมการสรรหามาจาก 15 องค์กร ได้แก่
- ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
- นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
- นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
- ประธานสภาสถาบันนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
- ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
- ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
- ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
- นายกสภาทนายความ
- ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปลัดกระทรวงการคลัง
- ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
- ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
มีตัวแทนราชการที่ฝ่ายการเมืองอาจสั่งได้คือ 4 ปลัดกระทรวง นอกนั้นมาจาก "ภาคประชาสังคม" ทั้งหมด
โอเค ภาพลักษณ์เหมือนดูดี แต่คำถามคือ 11 องค์กรที่ว่านี้เป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศจริงหรือเปล่า แม้แต่จะบอกว่าเป็นตัวแทนสื่อและ NGO ก็เหอะ เป็นตัวแทนจริงหรือเปล่า
ทำไมต้องเด็ก เยาวชน คนพิการ ถามว่าผู้ใหญ่ไม่พิการไม่ได้เป็นเจ้าของ TPBS หรือ พูดอย่างนี้อาจจะสุดขั้วไปหน่อย แต่ถ้าคุณเริ่มต้นจากเป็นทีวีของคนชายขอบ ก็แปลว่าคุณไม่สนใจเข้าถึงผู้ชมกระแสหลักเลยหรือไร
ทำไมต้องนายกสภาทนายความ ทำไมไม่ใช่แพทยสภา หรือวิศวกรรมสถาน หรือองค์กรวิชาชีพครู ฯลฯ วิชาชีพทนายความเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะมากกว่าวิชาชีพอื่นหรือ
ถ้าพูดเฉพาะองค์กรวิชาชีพสื่อ เอาละ ดูเหมือนเราจะมีประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กับนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จริงๆ แล้วมาจากผู้บริหารหนังสือพิมพ์นะครับ ไม่ได้มาจากนักหนังสือพิมพ์ทั้งหมด สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พูดให้ถึงที่สุดก็ยังเป็นแค่ "สมาคม" ของนักข่าวส่วนหนึ่ง นักข่าววิทยุโทรทัศน์ไม่ได้เป็นสมาชิกทุกคน คล้ายๆ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ คือมีนักข่าวก๊วนเดียวทำกิจกรรมอยู่ ผลัดกันเป็นนายกสมาคม ผลัดกันเป็น ผอ.สถาบันอิศรา
ทั้งสององค์กรไม่ได้เป็นผู้แทนวิชาชีพสื่ออย่างเป็นทางการ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ แต่กลับมีอำนาจมาสรรหากรรมการนโยบาย ดูแลงบประมาณทีวีสาธารณะปีละ 2,000 กว่าล้าน
ผมเชื่อว่าต่อไป เก้าอี้ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ เก้าอี้นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ จะหอมหวานมีความหมายขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อมีอำนาจซะขนาดนี้ (แต่ต้องเป็นให้ถูกปีนะครับ เขาสรรหากันปีเว้นปี)
นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นี่ยิ่งไปกันใหญ่ ปัจจุบันก็คือจำนรรค์ ศิริตัน จาก JSL ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนวิชาชีพละครหลังข่าวและรายการลุ้นโชคชิงแชมป์ สมาพันธ์นี้มีงานประจำคือแจกรางวัล "นาฏราช" ที่คงจำกันได้ว่าพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ขึ้นเวทีเมื่อ 2 ปีก่อน
ในอีกแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นตัวแทนผู้ผลิตรายการเชิงพาณิชย์เพื่อผู้ชมกระแสหลัก แต่มันก็ตลกพิกลที่เศรษฐีเศรษฐินีทีวีมานั่งอยู่กลางวง NGO (น่าจะส่งปัญญา นิรันดร์กุล มาเป็นตัวแทน Got Talent กรรมการนโยบาย)
ตัวแทนองค์กรเกี่ยวกับสื่อรายสุดท้าย ที่ทำให้งงที่สุด คือประธานสภาสถาบันนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ลอง search อาจารย์กูดูสิครับ ผม search ดูพบว่าสภาสถาบันฯ เคยมีเว็บไซต์ชื่อ www.cmct.or.th แต่เว็บเจ๊งไปแล้ว ปัจจุบันใครเป็นประธานก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า อ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี เคยเป็นประธาน ค้นข่าวดูว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง ก็มีแต่ร่วมกับทรูวิชั่นจัด AF เอ๊ยไม่ใช่ คัดเลือกนักศึกษาไปฝึกงานกับ BBC
ผู้รู้ให้ข้อมูลว่า องค์กรนี้ตั้งขึ้นหลังพฤษภา 35 ในกระแสปฏิรูปสื่อ เป็นเสมือนที่ประชุมคณบดีด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ 80 สถาบัน ช่วงหนึ่งเคยมีบทบาทในการสรรหา กสช. ปัจจุบันกลายเป็นองค์กรตายซาก แต่ยังมีอำนาจสรรหากรรมการนโยบาย TPBS อยู่
นี่เป็นตัวอย่างของการกำหนดองค์กรที่ไม่มีกฎหมายรองรับไว้ในตัวบทกฎหมาย โอเค องค์กรนั้นๆ อาจเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมในระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาก็เสื่อมสภาพไป แบบเดียวกับสมาคมนักข่าวฯ สภาการหนังสือพิมพ์ เมื่อก่อนสื่อกระแสหลักคือผู้ชี้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่รัฐประหาร 19 กันยา เจ๊หยัด-บัญญัติ ทัศนียเวช, ภัทระ คำพิทักษ์, สมชาย แสวงการ ใช้องค์กรสื่อเป็นบันได เข้าไปเป็น สนช.หน้าตาเฉย
องค์กรเหล่านี้กำลังเสื่อมถอยในกระแสสื่อใหม่ สภาการหนังสือพิมพ์ ก็พูดไม่ได้ว่าเป็นตัวแทนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เพราะค่ายมติชนถอนตัวแล้ว เผลอๆ อีก 4-5 ปี กป.อพช.ก็อาจไม่ถือเป็นตัวแทน NGO ทั้งประเทศก็ได้
ช่องทางพิเศษคนดี
ด้วยองค์ประกอบกรรมการสรรหาข้างต้น เราจึงได้กรรมการนโยบายแบบพี่หมอพลเดช ที่เห็น TPBS
เป็นกระบอกเสียงลัทธิประเวศ ได้กรรมการนโยบายอย่างมัทนา หอมลออ ...อย่าสงสัยทำไมนามสกุลคุ้นๆ อ้าว ก็เมียพี่สมชาย หอมลออ ของเรานี่เอง แต่เธอมีผลงานทำโครงการตาวิเศษ
กรรมการทั้ง 2 ชุดไม่มี "สื่อแท้" เลยซักคน สมชัยอาจเคยทำ BBC แต่เทียบกับสื่อไทยแล้วเหมือนมาจากนอกโลก คนอื่นๆ นอกจาก NGO ก็มีแต่นักวิชาการนิเทศศาสตร์กางตำรา เข้ามาใช้ TPBS กระจายคลื่นความดีที่ไม่มีคนดู แบบทำหนังชีวิตพี่หงวน สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ "บิดา 30 บาท" หมอหงวนแกคนดีจริงๆ นั่นแหละ แต่การทำหนังให้คนอยากดูมันต้องมีอะไรมากกว่าท่องคาถาหมอประเวศ
บางครั้งก็เห็นด้วยนะครับ เช่นตอน อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ตาย TPBS สดุดีอยู่ 3 วัน (นี่ถ้าหมอประเวศตาย คงสดุดี 7 วัน) ผมเห็นด้วยว่าต้องทดแทนสื่อทั่วไปที่ไม่ให้ความสำคัญกับคนดี แต่รูปแบบการนำเสนอควรดึงดูดใจหน่อย
พอคิดกันได้แค่นี้ ก็เลยมีแต่รายการของณาตยา แวววีรคุปต์ (แซวกันว่า ณาตยาเป็น "บิ๊ก" ใน TPBS ใครๆ ก็เกรงใจ เพราะเธอทำรายการให้ผู้มีบารมีเหนือ TPBS ดู ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านดูนะเออ)
นิสัยคนดีอีกอย่างคือ ไม่ไว้วางใจใคร นอกจากคนดีที่ติดสอยห้อยตามกันมา TPBS เดิมก็คือไอทีวี-ของทักษิณ ฉะนั้นเราสามารถแบ่งก๊กใน TPBS ได้ง่ายๆ ว่าพวกไอทีวีเดิมคือ "สมุนคนชั่ว" ไม่ใคร่จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เพียงแต่ที่มีงานทำก็เพราะต้องพึ่งพาทางเทคนิค ส่วนพวกที่เข้ามาใหม่คือสมุน เอ๊ย พวกพ้องคนดี นอกจากนี้ก็ยังมีพวกไม่รู้ I โหน่ I เหน่ส่วนหนึ่ง ที่สมัครเข้ามาตามระบบ ไม่ได้มาตาม "ช่องทางพิเศษสำหรับคนดี"
ที่จริงก็ไม่แปลกหรอกครับ ยกตัวอย่างสาย Admin ฝ่ายการคลัง ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เป็นผมก็ต้องเลือกคนซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ และคนดีคนซื่อส่วนใหญ่ก็อยู่ในเครือข่ายลัทธิประเวศ คริคริ รู้จักพี่หมอพลเดชมาตั้งนาน ไม่ยักแนะนำให้รู้จักน้องสาว เพิ่งรู้ว่ามีน้องสาว เสียดายแต่งงานแล้วเลยเปลี่ยนนามสกุล คือพรพิมล เสนผดุง เป็น ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ TPBS มาแต่ต้น (ย้ำ เป็นมาก่อนพี่หมอพลเดชเป็นประธานนะครับ)
พนักงานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีร่วมยี่สิบ ส่วนใหญ่ก็มาจากพยาบาล ในเครือ 4 ส.5 ส.ของหมอประเวศนั่นแหละ คนดีทั้งนั้น แต่พนักงานฝ่ายอื่นตาร้อน ลักลอบนินทาว่าจ้างพยาบาลมาจับตั๊กแตน เพราะคุณพยาบาลต้องเงินเดือนสูงลิ่วกว่าพนักงานธุรการทั่วไปอยู่แล้ว
หันมาดูฝ่ายข่าว เราก็ว่าไม่ได้อีกนั่นแหละ เพราะเฮียสิ่วแกต้องมีมือมี teen ก็ต้องดึงเอา
ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ จากค่ายเนชั่นที่เคยทำไอทีวีด้วยกัน มาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว
แล้วก็ดึงโสภิต หวังวิวัฒนา มาเป็นผู้จัดการฝ่ายอำนวยการ สำนักบริหาร ทีวีไทย เป็นต้น
(เป็นต้นแปลว่ามีอีกเพียบ คริคริ)
ก่อเขตอุตสาหะทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าวอยู่เกือบ 3 ปีนะครับ เพราะหา ผอ.สำนักข่าวตัวจริงไม่ได้ซักที ตามระเบียบ TPBS ต้องมีการสอบ และต้องมีผู้เข้าสอบอย่างน้อย 3 คน ห้ามสอบวิธีพิเศษ ก่อเขตก็เลยไม่ได้เป็น ผอ.สำนักข่าวซักที เพราะไม่มีใครยอมเข้าสอบแข่งกับก่อเขต (อ้าว) จนเมื่อไม่กี่วันนี้เอง จึงมีคำสั่งตั้งก่อเขตเป็น ผอ.สำนักข่าว ท่ามกลางความฉงนฉงาย แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดยืนยันว่าก่อเขตสอบผ่านแล้ว แต่คนนอกพากันสงสัยว่าเขาจัดสอบกันเมื่อไหร่ (วะ) เพราะประกาศในเว็บไซต์ TPBS ลงวันที่ 10 พ.ค.2555 แจ้งผลการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าว ยังบอกว่าผลการสอบคัดเลือกวันที่ 6 ม.ค.2555 สอบสัมภาษณ์วันที่ 20 เม.ย.2555 นั้น ไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือก
ถ้าจริงก็ถือเป็นผลกรรมดีที่ก่อเขตทำไว้ สอบได้เป็น ผอ.ก่อนนายหมดวาระไม่กี่วัน ขอแสดงความยินดีด้วย ฮิฮิ
โสภิตสิ ตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอำนวยการ สำนักบริหาร จะต้องพ้นตำแหน่งไปพร้อมกับเทพชัย แต่ล่าสุดก็มีข่าวว่าโสภิตจะไปเป็นผู้ชำนาญการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารสังคม ทีแรกมีข่าวว่า ผอ.ฝ่ายสื่อสารสังคมจะ (สมัครใจ) ลาออกก่อนเกษียณ ให้โสภิตเสียบ แต่ไปๆ มาๆ ผอ.กลับไม่ยอมสมัครใจออกเสียนี่
ข่าวนี้ยังไม่ค่อยชัวร์ พรรคพวกก็ยังเป็นห่วงโสภิตกันอยู่ ฝากถามเฮียสิ่วว่า หาที่ลงให้โสภิตได้หรือยัง ถ้าได้แล้วจะได้โล่งอก
อยู่องค์กรใหญ่ก็ต้องทำใจละครับ พวกนินทาว่าร้ายมีเยอะ คลื่นใต้น้ำเพียบ ผมมองโลกแง่ดีว่า TPBS เป็นองค์กรก่อตั้งใหม่ ระเบียบการต่างๆ ยังไม่แน่นอน การคัดเลือกคน การสอบ ประเมินผล หลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจน อัตราเงินเดือนก็ถ่างกว้างมาก เฮียสิ่ว ผอ.เงินเดือน 2.5 แสน รอง ผอ.หรือ ผอ.สำนัก น่าจะเงินเดือนแสนปลายๆ ถึงสองแสน ที่เหลือก็เป็นพนักงานตั้งแต่หมื่นกว่าไปถึงแสนกว่า เลยมีปัญหาอัตราเงินเดือนที่ลักลั่น แล้วแต่ใครเข้ามาจังหวะไหน ช่องทางไหน พนักงานส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ นขต.ก็อึดอัด ไม่พอใจกับสภาพที่ดำรงอยู่ เป่าหูกันไปเป่าหูกันมา
TPBS ไม่มีความชัดเจนในการประเมินและสอบคัดเลือก หลายคนที่ถูกเคียะออกไปจึงไม่พอใจ ไปตั้งป้อมด่าอยู่ข้างนอก เช่น เถกิง สมทรัพย์ ซึ่งเคยเป็น รอง ผอ.มีบทบาทสำคัญทั้งตอนร่าง พรบ.และตอนก่อตั้ง หวังจะเข้ามาจัดรายการเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ไหนได้ กลับถูกประเมินไม่ผ่าน ทุกวันนี้เฟซบุคเถถิงยังด่า TPBS รายสัปดาห์ สลับกับด่าเสื้อแดงรายวัน (ดีเท่าไหร่แล้วที่ไม่ด่าออกบลูสกาย) ล่าสุดก็สนทนากับอัญชลี ไพรีรัก วิพากษ์ "นักค้าความจนใต้หน้ากากเอ็นจีโอ"
"..ไม่อยากสนับสนุนอาจารย์หรือใครก็ตามที่มีความสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเองสูงไปสมัครที่นั่น..ถ้าอำนาจในการสรรหายังคงถูกกำหนดโดยผู้มีบารมีนอกไทยพีบีเอส..แต่ถ้าอำนาจนั้นไม่มีแล้วและต้องการคนเก่งเข้าไปทำงานให้เข้าเป้าทีวีสาธารณะถึงอยากสนับสนุนเข้าไปทำงาน ไม่งั้นเสียเวลาเพราะเขาจะไม่เอา"
"มีเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนมาขอให้แนะนำว่าถ้าจะเสนอรายการไปทีวีไทยทำอย่างไรจะได้รายการ..ตอบโจทย์นี้ไม่ได้เลย เพราะเขามีกรรมการคัดเลือก..แต่น่าจะลองส่งเข้าประกวดเพราะไม่น่าจะยาก..บางรายการได้เพราะพิธีกรๆบางคนมีรายการที่นี่ตั้งแต่ตั้งสถานี เปลี่ยนรายการไปเรื่อยเพราะคอนเนคชั่นดี..บางบริษัทอาศัยมีพิธีกรมารับจ้อบก็ได้โอกาสเสนอรายการและได้โชว์ฝีมือ..บางรายมาด้วยใจและความสร้างสรรค์ล้วนๆก็ได้โอกาส..บางรายการดีไม่ดีไม่ใช่ปัญหาแค่โดนใจก็ได้ทำ..และมีรายการจำนวนมากต่างพิธีกรต่างบริษัทแต่มาจากเครือข่ายของคนเดียวกัน.."
นี่เป็นแซมเปิ้ล ก๊อปมาจากเฟซบุคเถกิง ใครสนใจไปหาอ่านดู เหลืองกับเหลืองเขาฟัดกันมันส์หยด
TPBS ตั้งกรรมการบริหารชุดแรก ได้อาจารย์เจ๋งๆ เช่น อ.นวลน้อย ตรีรัตน์, อ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีสื่อสารฯ มช.และ อ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ร่วมกลุ่มนิติราษฎร์ (ถ้าเข้ากลุ่มนิติราษฎร์ตั้งแต่ต้นคงไม่ได้เป็น) แต่ต่อมา อ.สดศรีเธอไปกินเกาเหลากับเจ้าแม่รายหนึ่งในกรรมการนโยบาย ก็มีการออกระเบียบใหม่ว่ากรรมการบริหารต้องทำงานเต็มเวลา อาจารย์ 3 ท่านนี้ต้องลาออก
ประหลาดไหมละครับ เพราะตามกฎหมายบอกว่า กรรมการบริหารต้องไม่เป็นข้าราชการประจำหรือทำงานประจำ ยกเว้นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาอุตส่าห์เปิดช่องไว้แล้วเพื่อดึงคนมีความรู้ความสามารถมาเป็นกรรมการบริหาร ท่านกลับไปออกระเบียบจำกัด ก็เลยได้แค่นี้แหละ
"ตอบโจทย์" สาธารณะ
คำถามที่สาธารณชนจะต้องถามสื่อสาธารณะ TPBS คือ ทำไมกรรมการนโยบายจะต้องเร่งรีบคัดเลือก ผอ.ใหม่ และทำไมจึงมีคนสมัครแค่คนใน 4 คน ภาพลักษณ์ TPBS มันเป็นอย่างไรไปแล้วหรือ
กรรมการนโยบายควรยกเลิกการรับสมัคร ผอ. รอให้กรรมการนโยบายชุดใหม่เปิดรับสมัครใหม่ อย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และให้สาธารณชนมีส่วนร่วม อ้าว ก็สื่อสาธารณะนี่ครับ ไม่ใช่ของกรรมการนโยบาย 9 คน กรรมการสรรหา 15 องค์กร
ถ้าจะให้ดี ก็ TPBS Got Talent จัดให้ผู้สมัครทุกคนมาแสดงวิสัยทัศน์ประชันกัน ทางรายการของ TPBS เอง (แต่ไม่เอาเวทีสาธารณะ คนเยอะไป จับประเด็นไม่ถูก) สมมติเช่น "ตอบโจทย์" ให้คนดูช่วยกันโหวต ให้คนดูกด like ให้คนดูช่วยกันส่งคำถาม ถึงแม้คนตัดสินยังเป็นกรรมการ แต่ถ้าค้านสายตาชาวบ้าน ก็มีหวังถูกโห่
อันที่จริง ควรจะทำตั้งแต่การสรรหากรรมการนโยบายเลยครับ ถ่ายทอดสด แสดงวิสัยทัศน์กรรมการสรรหาไปด้วยในตัว (บลูสกายยินดีถ่ายทอดให้ฟรีๆ ฮิฮิ)
ทีวีสาธารณะ จะไปทำกระมิดกระเมี้ยนอยู่ทำไม จัดเรียลลิตี้โชว์เลยก็ได้ ให้ชาวบ้านส่ง SMS แพ้คัดออกสัปดาห์ละราย
เผลอๆ จะกลายเป็นรายการฮิตที่สุดนับแต่ก่อตั้ง TPBS มา
แล้วถ้าจะให้ดีนะครับ TPBS ก็ควรจะถือโอกาสนี้ สรุปปัญหา ทิศทาง แนวทาง นโยบาย การบริหาร ฯลฯ โดยให้พนักงานระดับล่างมีส่วนร่วม ให้โอกาสพวกเขาเสนอปัญหาระบายความอึดอัดใจอย่างเต็มที่ พูดถูกบ้าง พูดผิดบ้าง ก็ต้องฟัง เพราะที่ผ่านมามีแต่ปิดกั้น พนักงาน TPBS ไม่สามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะมีระเบียบบังคับไว้ ก่อตั้งได้แต่สมาพันธ์พนักงาน TPBS ซึ่งพูดอะไรมากก็ไม่ได้อีก เพราะมีระเบียบกำหนดว่า ห้ามพนักงานเคลื่อนไหวให้ร้ายองค์กร
ปิดปากกันซะอย่างนี้ จะเป็นทีวีสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยได้ไงละครับ
ใบตองแห้ง
13 ก.ค.55
ปล.ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้สำนักข่าวอิศรานำไปเผยแพร่
..........................................................................
http://www.mediainsideout.net/pbs/2012/07/17