วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นักวิชาการเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแก้ขัดแย้ง

 

นักวิชาการเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแก้ขัดแย้ง


วันพฤหัสบดี ที่ 21 มิ.ย. 2555
  Bookmark and Share

รร.รามาการ์เด้นส์ 21 มิ.ย.-นักวิชาการ คอป.เสนอผลวิจัยรากเหง้าความขัดแย้ง เสนอแนะสังคมสร้างระบบให้คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันให้ได้ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาความขัดแย้ง ค้านออก กม.ปรองดองนิรโทษกรรม ไม่ควรเร่งรัด เกรงกระทบการเยียวยาผู้เสียหาย ปรับอุดมคติ โครงสร้างกองทัพเปิดโอกาสให้ประชาสังคมตรวจสอบได้

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จัดเสวนา โดยนำเสนองานวิจัยศึกษาปัญหารากเหง้าความขัดแย้ง เพื่อนำเสนอแนวทางสู่ความปรองดอง ครั้งที่ 2 นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. กล่าวว่า การศึกษาของ คอป.ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 5 กรอบ คือ โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย, องค์กรด้านความมั่นคงต้องการการปฏิรูป, พลวัตทางสังคมที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมือง, บทบาทของกระบวนการยุติธรรมต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในการเสนอข้อมูลข่าวสาร คอป.หวังว่าเนื้อหาผลการศึกษาของ คอป.จะช่วยสังคมได้ คอป.จะพยายามใช้เวลาที่เหลืออยู่ศึกษาและหาทางออกให้สังคมอย่างดีที่สุด

รศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เสนอผลการวิจัย เรื่อง โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย ว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจ นำมาซึ่งความขัดแย้ง จากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกันนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน สุดท้ายทำให้สังคมประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เป็นธรรม ตราบใดที่สังคมยังคงมีความเผด็จการอำนาจอยู่จะเห็นภาคประชาสังคมเกิดการตั้งเป้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนำมาซึ่งกระบวนการเคลื่อน ไหว ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นผลมาจากความขัดแย้งของชนชั้นนำทางการเมืองกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงมีคนร่วมเรือนแสน

รศ.ธเนศ กล่าวอีกว่า ทางออกจากความขัดแย้งจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จะต้องทำให้เกิดกระบวนการต่อรองแลกเปลี่ยนกัน ความขัดแย้งในตอนนี้คือความขัดแย้งในอุดมคติทางการเมือง จึงต้องทำให้กลุ่มต่างๆ สามารถยอมรับความแตกต่างทางความคิดนี้ให้ได้ เพราะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่มีเสถียรภาพทางการเมือง การแก้ไขปัญหาต้องทำเป็นระยะยาว ไม่เสร็จสิ้นในเร็ววัน แต่ต้องเริ่มต้นจุดเริ่มต้นเหมาะสมคือการใช้อำนาจทางการเมืองจากนี้ไปต้องเป็นการใช้ผ่านไปยังสังคม ไม่ใช่อำนาจไปสู่สังคม

ศ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวั่นแก้ว นำเสนองานวิจัยเรื่อง ความรุนแรงทางการเมือง : พลวัตสังคมและวัฒนธรรม ว่า พลวัตทางสังคมขณะนี้เกิดจากการแบ่งฝ่าย เดิมจะเห็นการแบ่งฝ่ายเป็นเหลืองและแดง การรัฐประหารทำให้การแบ่งฝ่ายมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เงื่อนไขที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคือการผสานพลังระหว่างพรรคการเมืองและสังคม พรรคการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ดูดเอาพลังมวลชนเข้ามาอยู่ภายใต้พรรค การแข่งขันของพรรคการเมืองอยู่ภายใต้ตรรกะคือการแข่งขันต้องชนะ ถ้าไม่ชนะจะไม่ได้เป็นรัฐบาล การดึงมวลชนเป็นเรื่องสำคัญ การจะออกจากกับดักนี้อาจใช้แนวคิดแปรเปลี่ยนความขัดแย้งโดยปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ปรับปรุงความเป็นธรรมในสังคม ปรับปรุงให้เกิดความชอบธรรมและการยอมรับความแตกต่างในสังคม แต่ในภาวะที่ความไว้วางใจในสังคมตกต่ำจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนในสังคมทำงานร่วมกันได้ สิ่งที่ต้องทำก่อนคือการหาวิธีการทำงานร่วมกันให้เกิดขึ้นให้ได้

ศ.ฉันทนา กล่าวอีกว่า ทางออกที่ต้องทำเฉพาะหน้าคือการฟื้นฟูความไว้วางใจกัน โดยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม เริ่มจากการนำคนที่มีทรรศนะเปิดกว้างมาทำงานร่วมกัน หากทำงานร่วมกันได้ภายใต้กฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับจะทำให้เกิดการมุ่งไปที่ผลประโยชน์และเป้าหมายร่วมกันได้

ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง กระบวนการยุติธรรมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรง : ปัญหาและแนวทางแก้ไข ว่า ความรุนแรงทางการเมืองและสังคมส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการยุติธรรมทางมหาชนและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ควรใช้หลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายที่ทุกคนจะมีความเท่าเทียมกัน ได้รับการปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน ขณะที่ฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมจะต้องอยู่บนความเป็นอิสระและหลักความเที่ยงธรรม ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้าแทรกแซงการทำงานของฝ่ายตุลาการไม่ได้ ท้้้้งนี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางมหาชน ด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง โดยควรยกเลิกมาตรา 237 วรรคสองการยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิการเลือกตั้ง, การแก้ไขให้ศาลสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ถูกกระทบจากการใช้อำนาจของกกต., การให้อุทธรณ์โต้แย้งการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินสามารถทำได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวอีกว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กฎหมายอาญาคือการรักษาความสงบซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ กรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังมีความจำเป็น แต่ควรมีการบังคับใช้ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ หากไม่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะไม่เป็นความผิดอาญา ทั้งนี้ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงกว่าความผิด ดังนั้น พนักงานสอบสวนต้องประสานงานกับอัยการให้ทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มคดีเพื่อให้อัยการแจ้งข้อหาแต่ต้น

ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า ส่วนการออก พ.ร.บ.ปรองดอง ด้วยการนิรโทษกรรมส่วนหนึ่งและยกเลิกกระบวนการดำเนินคดีที่มาจากการรัฐประหาร ผู้วิจัยมองว่าเป็นกระบวนการที่เร่งรัดเกินไป ไม่สอดคล้องกับหลักการกระบวยการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะความจริงยังไม่ปรากฏ ยังไม่มีการดำเนินคดี และอาจกระทบกับการเยียวยาผู้เสียหาย อีกทั้งไม่มีการป้องกันเหตุในอนาคต

น.ส.สุภนิดา พวงผกา เสนอผลการวิจัยเรื่อง การปฏิรูปองค์กรด้านความมั่นคง บทบาทของรัฐสภาและภาคประชาสังคมต่อกองทัพในบริบทประชาธิปไตย ว่า บทบาทของรัฐสภาต่อกองทัพที่ชัดเจนคือการกำกับดูแลในเชิงนโยบายโดยอาศัยกลไกตรวจสอบในสภา ผ่านการทำงานของกรรมาธิการ รวมถึงควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่ของกองทัพแม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

น.ส.สุภนิดา กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ผู้วิจัยพบประกอบด้วย ปัญหาเชิงโครงสร้างและมิติทางอุดมการณ์ ทหารมีความผูกพันกับอุดมการณ์ดั้งเดิมที่เน้นการปกป้องระบบการปกครองมากกว่าความมมั่นคงของชาติ การปฏิบัติการของทหารยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ในสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ข้อจำกัดของกองทัพไทยยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงควรแก้ด้วยการปรับโครงสร้างของกองทัพใมห้มีความเหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน สร้างการบูรณาการการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นวิชาชีพขึ้นในกองทัพ โดยมุ่งให้เกิดอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามใหม่ในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น