ภาพยนตร์สนทนา: ข้อสังเกตว่าด้วย "การเมือง" ในหนังไทย
ศิริชัย ลีเลิศยุทธ์ รายงาน
เก็บความจากงานภาพยนตร์สนทนา "อุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ฯ เมื่อ 23 มิ.ย. 55 ศาสวัต บุญศรี นักวิชาการด้านภาพยนตร์ และ ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ
หนังไทยประกาศตัวเป็น "หนังการเมือง" ชัดๆ ไม่ค่อยได้ ต้องแอบๆ ซ่อนๆ
ศาสวัตกล่าวว่า ได้ลองไล่สำรวจหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างจริงจังร่วมกับเพื่อนๆ นักวิจารณ์หนัง แล้วพบว่าหาได้ยากมาก ช่วงหลังรัฐประหารปี 49 ก็มีหนังหลายเรื่องที่แฝงกลิ่นการเมือง แต่การเป็นหนังการเมืองนั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลับพบความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยปรากฏอยู่ในหนังมากกว่า
ชญานินวิเคราะห์หนังการเมืองไทยว่า หนังไทยจะแสดงตัวว่าเป็น "หนังการเมือง" ชัดๆไม่ค่อยได้ ต้องปกปิดแอบซ่อน ส่วนหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์การเมืองชัดเจน เท่าที่พบนั้นอาจแยกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือหนังยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยก่อนที่รัฐให้การสนับสนุน เช่น เรื่อง "หนักแผ่นดิน" เมื่อ พ.ศ.2520 กำกับและแสดงนำโดย สมบัติ เมทะนี ส่วนกลุ่มที่สอง จะเป็นกลุ่มที่แสดงอุดมการณ์การเมืองชัด แต่ไม่ถูกรับรู้ว่าเป็นหนังการเมือง คือหนังแนวประวัติศาสตร์รบรา และหนังเชิดชูสถาบันกษัตริย์
"หนักแผ่นดิน" พ.ศ.2520
นอกเหนือไปจากนี้ หากหนังแสดงเนื้อหาทางการเมืองชัดเจน ก็มักถูกมองว่าเป็นภัย อย่างเรื่อง Shakespeare Must Die กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (อิ๋ง เค) ซึ่งถูกแบน เพราะฉะนั้นหนังการเมืองไทยต้องซ่อนตัวเอง จนต้องเป็นผู้ชมที่ติดตามการเมืองและดูหนังมามากประมาณหนึ่งจึงจะเข้าใจ
ถ้าเป็นหนังการเมืองที่ไม่ซ่อนตัวเอง เนื้อหาก็จะไม่ได้ลงลึกถึงระดับอุดมการณ์ หรือวิพากษ์วิจารณ์ระบบ แต่เนื้อหาจะติดอยู่แค่ว่านักการเมืองเลว สกปรก คอร์รัปชัน ขี้โกง มั่วเซ็กส์ ธุรกิจสกปรก ฯลฯ นี่คือจุดที่ไกลที่สุดที่ประเทศนี้จะรับกับคำว่า "หนังการเมือง" ได้ ภายใต้เงื่อนไขนี้ ผู้สร้างหนังอาจจะซ่อนนัยอะไรในหนังหรือไม่ก็แล้วแต่
สำหรับหนังสั้น ชญานินกล่าวว่าพอจะมีหนังสั้นที่พูดถึงการเมืองบ้าง ด้วยธรรมชาติของหนังสั้นในปัจจุบันที่สามารถทำได้รวดเร็วและง่าย แต่ที่พูดถึงอุดมการณ์การเมืองอย่างจริงจังและลึกก็หาได้ยากเช่นกัน เพราะเรื่องเหล่านี้หากจะพูดให้ลึกในเวลาเพียงน้อยนิดก็จะไม่รู้เรื่อง หนังสั้นจะพูดถึงการเมืองได้ชัดมากกว่าอยู่แล้วเพราะไม่มีเซ็นเซอร์ แต่ในความชัดนั้นก็มักเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ ประเด็น หรือกระแสข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าที่จะเจาะลงไปถึงเรื่องอุดมการณ์ หรือแกนความคิดหลักที่ควบคุมเรื่องนั้นอยู่
ศาสวัตเสริมว่า ในกลุ่มหนังสั้น นึกถึงหนังสั้นการเมืองที่ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี 2 เรื่อง คือ เรื่องหนึ่งที่ชื่อ "I'm fine สบายดีค่ะ" ของ กอล์ฟ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หนังบอกว่าความจริงคนไทยเราอยู่ในกรงขัง ไม่ได้มีเสรีภาพจริงๆ แต่คนก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา และอีกเรื่องหนึ่งคือ สารคดีสั้นเรื่อง "คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์" ของ เต๋อ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กล่าวถึงช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 สินค้าในห้างคาร์ฟูร์หมดเกลี้ยง แต่หนังไม่ได้ตั้งคำถามถึงอุดมการณ์ความคิดอะไร เป็นปฏิกิริยาต่อเรื่องการเคอร์ฟิวโดยหยิบความรู้สึกในช่วงเวลานั้นมาเล่ามากกว่า
ภาพยนตร์สั้น "I'm fine สบายดีค่ะ" โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
สารคดีสั้น "คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์" โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
มองหนังการเมืองของต่างประเทศ
เมื่อพูดถึงตัวอย่างหนังต่างประเทศที่สามารถตีโจทย์เรื่องการเมืองได้แตก ชญานินยกตัวอย่างหนังเรื่อง Secret Ballot (2001) ของประเทศอิหร่าน ซึ่งพูดถึงช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฉากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ของอิหร่านติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแหล่งเข้าออกของพวกขนของหนีภาษี ประชาชนแถบนั้นอยู่อย่างยากจนกลางทะเลทราย วันหนึ่งมีเฮลิคอปเตอร์พา กกต. สาวที่ถือหีบเลือกตั้งมาเพื่อเก็บคะแนนเสียงเลือกตั้งที่นี่ ด้วยความที่ผู้คนอยู่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญมาก หลายคนจึงไม่สนใจจะเลือกตั้งเพราะรู้สึกว่าเลือกประธานาธิบดีคนไหนก็เหมือนกัน กกต. สาวมีหน้าที่ถือหีบเลือกตั้งไปตามบ้าน ตามชุมชน ให้คนลงคะแนนเสียง โดยมีทหารลาดตระเวนติดตามไปด้วย เจอผู้คนหลากหลาย เช่น ผู้คนในชุมชนหนึ่งที่ปกครองกันเอง 4-5 ครอบครัว มองว่าเลือกตั้งประธานาธิบดีไปก็เท่านั้น บ้างก็เจอหัวคะแนนพาคนมาเลือกตั้ง บ้างก็เจอคนอ่านหนังสือไม่ออก
ชญานินกล่าวว่า คนอาจมองว่าหนังเรื่องนี้ว่าเสียดสีความเละเทะของการเลือกตั้ง แต่ส่วนตัวมองว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนจะสนใจเลือกตั้งหรือไม่ แม้จะอ่านหนังสือไม่ได้ ตาบอด หูหนวก แก่ชรา อย่างน้อยทุกคนก็มีสิทธิที่จะเลือกประธานาธิบดีของตัวเอง คนอาจมองว่าเลือกประธานาธิบดีแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ กกต. สาวที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบเลือกตั้งก็พยายามจะรักษาสิทธิของประชาชนไม่ว่าประชาชนจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ภาพจากภาพยนตร์อิหร่าน เรื่อง Secret Ballot (2001)
ส่วนหนังการเมืองต่างประเทศที่ศาสวัตยกตัวอย่างคือเรื่อง Lions for Lambs (2007) โดยกล่าวว่าหนังเรื่องนี้เหมือนจะถกเถียงกับคุณค่าบางอย่างที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ผ่านตัวละคร 3 คู่ คู่แรกเป็นวุฒิสมาชิกไฟแรง (Tom Cruise) กับนักข่าวอาวุโส (Meryl Streep) เถียงกันเรื่องมุมมองต่อการโจมตีตาลีบันครั้งใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเรียกคะแนนเสียง คู่ที่ 2 คืออาจารย์รัฐศาสตร์ผู้เคยผ่านสงครามเวียดนาม เถียงกับนักศึกษาเรื่องประโยชน์ของวิชารัฐศาสตร์ นักศึกษาคนนี้ไม่ยอมเข้าเรียนเพราะมองว่ารัฐศาสตร์ในห้องเรียนกับชีวิตจริงไม่เหมือนกัน คู่ที่ 3 คือนักศึกษาผิวสีกับนักศึกษาลูกครึ่งเม็กซิกันที่เป็นเพื่อนกัน และออกจากมหาวิทยาลัยไปเป็นทหารที่อิรัก หนังทิ้งปมให้คนดูไปตั้งคำถามต่อเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ ตั้งคำถามต่อความจริงที่เราเคยเชื่อ บางครั้งประชาธิปไตยก็มีช่องโหว่ให้ถกเถียงได้
ภาพจากภาพยนตร์ Lions for Lambs (2007)
ทำไมหนังไทยถึงพูดการเมืองตรงๆ ไม่ค่อยได้?
ชญานินกล่าวว่าหนังกลุ่มที่แสดงทัศนคติทางการเมืองแบบตรงๆ ได้ เท่าที่เห็นจะไม่ถูกพูดว่าเป็นหนังการเมืองดังที่ได้กล่าวไป เรามีภาพลบกับคำว่าการเมือง ไม่รู้ว่ามายาคติชุดนี้มีมาตั้งแต่สมัยไหน แต่มันทำงานสำเร็จและส่งผลในการรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวางว่าการเมืองเท่ากับความสกปรก เราถึงมีคำเรียกคนแกล้งป่วยว่า "ป่วยการเมือง" พอมีคำว่าการเมืองแล้วคนมักถอยผงะ
ศาสวัตกล่าวว่า หากมองในแง่ดี อาจจะมีผู้กำกับที่อยากทำหนังแนวการเมือง แต่ต้องเอาโครงการไปเสนอนายทุนทั้งในและนอกประเทศ โอกาสที่จะได้นายทุนในประเทศก็น่าจะเป็นศูนย์ หรือไม่ก็ได้หนังซูเปอร์ฮีโร่กัดจิกนักการเมืองอย่าง อินทรีแดง ซึ่งกว่าจะได้ก็ยากอยู่เหมือนกัน หรืออาจจะได้หนังตลกสอดแทรกเรื่องขบกัดนักการเมือง แต่หากเป็นไปได้ นายทุนก็คงไม่อยากให้มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง เพราะมันมีโอกาสถูกต่อต้านขัดขวาง ถ้าไปขอทุนต่างประเทศก็ได้น้อย และยุ่งยาก สู้ทำหนังที่ไม่ต้องเสี่ยงมากจะคุ้มกว่า ผู้กำกับมีหลายความคิด หลายอุดมการณ์ แต่มักเลือกที่จะไม่พูดออกมา เพราะไม่อยากเสี่ยง กลัวจะซวยในวันข้างหน้า หรือกลัวโดนแบนเหมือน Shakespeare Must Die ความจริงแล้วผู้กำกับหลายๆ คนคงอยากเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง
ชญานินตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าการทำหนังการเมืองมันไม่ปกติ หรืออาจทำให้ตัวเองซวย หนังการเมืองที่พูดถึงอุดมการณ์อาจไม่จำเป็นต้องไปกระทบกระแทกหรือรุนแรงแบบ Shakespeare Must Die ซึ่งส่วนตัวดูแล้วก็รู้สึกว่ามันแรงอยู่ หรือแบบที่ไปอ้างถึงคนที่มีตัวตนจริงอย่างเรื่อง "นักโทษประหาร 2482" ของยุทธนา มุกดาสนิท หนังการเมืองไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในระดับนั้นเสมอไป แต่เราพบว่าการที่อเมริกาทำหนังเกี่ยวกับประธานาธิบดีนิกสันเป็นเรื่องปกติมาก การที่ฝรั่งเศสทำหนังด่าประธานาธิบดีนิโคลัส ซาโคซี่ ก็เป็นเรื่องปกติมาก แต่ในประเทศเรา ทำไมถึงกลายเป็นความไม่ปกติ
ชญานิน พูดถึงหนัง "นักโทษประหาร 2482" ว่าถูกระงับการสร้าง เพราะทายาทจอมพล ป. บอกหากสร้างก็จะฟ้อง การทำเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติของคนไทย ขณะที่หนังที่ด่าซาโคซี่ของฝรั่งเศส ก็มีคนที่ไม่พอใจเช่นกัน แต่เขาไม่ฟ้อง การไม่ฟ้องเป็นเรื่องปกติของฝรั่งเศส
ศาสวัต เสริมว่าอาจเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมรอมชอม มีอะไรก็เก็บไว้ดีกว่าเอาออกมาพูด และเหมือนพร้อมที่จะซ่อนอะไรบางอย่างไว้ใต้พรมเสมอ ไม่แน่ใจว่ามันจะกลายเป็นธรรมชาติของเราหรือเปล่า สมมติโอลิเวอร์ สโตน เป็นคนไทย สงสัยว่าเขาอาจจะอยากเสนอทฤษฎีสมคบคิดในประเทศเรา แบบที่เสนอว่าประธานาธิบดีเคเนดี้ถูกคนใกล้ตัววางแผนฆ่าหรือเปล่า ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นในเมืองไทย คนสร้างจะถูกรุมด่าว่ากล้าพูดแบบนี้ได้อย่างไร เลยซ่อนทุกอย่างไว้ใต้พรม ไม่พูดเสียดีกว่า
คติเรื่อง "คนดี" "ธรรมะปราบอธรรม" บนแผ่นฟิล์ม
เมื่อถามว่า "อินทรีแดง" เวอร์ชันล่าสุด ของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่นำเสนอการเมืองตรงๆ เหมือนกัน มีการพูดถึงนักการเมืองว่าเป็นตัวแทนกลุ่มก่อการร้าย แต่ทำไมถึงนำเสนอได้ ชญานินกล่าวว่าการพูดถึงนักการเมืองว่าเลวเป็นเรื่องปกติของหนังไทยและสังคมไทย พูดร้อยปีก็จริงร้อยปี นอกเสียจากถ้าเขาเจาะลงไปที่ใครถึงจะเริ่มมีปัญหา
ชญานินกล่าวถึงหนังเรื่อง "ผู้แทนนอกสภา" (พ.ศ.2526) ว่าเป็นหนังไทยที่เคยดูเรื่องเดียวที่พูดถึงการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น แกนหลักของเรื่องคือการเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มี ส.ส. เป็นเจ้าพ่อนายทุนคุมพื้นที่มาเป็นเวลานานมาก หนังนำเสนอการทุจริตของเหล่าผู้สมัคร ส.ส. ตัวเอกคือ สรพงษ์ ชาตรี เล่นเป็น ส.ส. ชั้นดีที่ไม่ทุจริตและตั้งใจทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ช่วงต้นเรื่องมีฉากที่น่าสนใจคือ สรพงษ์ต้องไปพบกับหัวหน้าพรรคที่รับบทโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการอธิบายนโยบายพรรคที่ดูยูโทเปียมาก ตอนดูจบใหม่ๆ ตนเองได้คุยกับเพื่อนว่า มันดูคล้ายทักษิณจังเลย ถ้าลองเปลี่ยนคำจะพบลักษณะที่คล้ายกับการหาเสียงของพรรคไทยรักไทยประมาณหนึ่ง ตอนท้าย สรพงษ์ไปขัดขากับเจ้าพ่อและถูกลอบสังหาร หนังเชิดชูความดีงามของ ส.ส.ชั้นดีว่าแม้สรพงษ์จะตายไปแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังเลือกให้เขาชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้
"สุดท้ายแล้วหนังไม่ได้พูดชัดเจนว่า เราต้องศรัทธาในการเลือกตั้ง อาจมีฉาก ส.ส. ซื้อเสียงแบบตลกๆ เช่น แข่งกันเอาหนังขายยาไปฉายให้ดู เอารองเท้าแตะไปให้ชาวบ้านก่อนข้างหนึ่ง หากเลือกตนเองจะเอามาให้อีกข้างหนึ่ง แต่ว่าตอนท้ายหนังจะบอกว่ายังมีคนดีอยู่นะ เราต้องศรัทธาคนดี ไม่ได้พูดถึงตัวระบบ แต่พูดถึงตัวมนุษย์ เหมือนกับที่เรามักจะวิพากษ์ทุกสิ่งในประเทศนี้ตลอดเวลาว่าถ้าคนมันดีทุกอย่างก็ดี เราก็อย่าให้คนเลวเข้ามามีอำนาจ ให้คนดีจัดการเดี๋ยวมันก็ดีเอง"
ศาสวัตกล่าวว่า หนังที่พูดถึงการเมืองที่เราดูกัน เช่น ฝนตกขึ้นฟ้า อินทรีแดง หมาแก่อันตราย จะมีจุดร่วมกันคือศัตรูในเรื่องนี้คือนักการเมืองเลว อย่างเช่น "หมาแก่อันตราย" ของ ยุทธเลิศ สิปปภาค ศัตรูคือนักการเมืองที่กำลังจะสมัครรับเลือกตั้ง มีภาพลักษณ์คือพูดไม่ชัดซึ่งอาจดูเป็นมุขของเขา แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วมันคือการลดทอนความน่าเชื่อถือ ตัวเอกเป็นมือปืนฆ่าคน แต่ขณะเดียวกันก็ด่านักการเมืองว่าเลว ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ส่วนเรื่อง "ฝนตกขึ้นฟ้า" ตัวเอกของเรื่องรับจ็อบเป็นมือปืนที่ไปยิง ส.ส. มีเหตุการณ์ที่เขาเห็นภาพกลับหัวคือตอนที่ไปยิงนักการเมืองแล้วพลาด ตัวเอกจะมองว่ากฎหมายและระบบต่างๆ ไม่สามารถกำจัดนักการเมืองเลวได้ จึงยอมเป็นมือปืนเพื่อไปกำจัดนักการเมืองเลว และคิดในใจว่าตัวเองมีคุณธรรม ส่วนเรื่อง "อินทรีแดง" ก็มีตัวร้ายคือองค์กรมาตุลีที่ชักใยนักการเมือง
ศาสวัตวิเคราะห์ถึงวิธีคิดที่พบในพล็อตหนังที่คล้ายคลึงกันนี้ว่า คนไทยอาจได้อิทธิพลจากวรรณกรรมหรือวรรณคดีสมัยก่อนอย่าง "ธรรมาธรรมะสงคราม" ที่เราเคยเรียนกันสมัยเด็ก เทวดาไปรบกับมาร เทวดาชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเทวดา คือเป็นคนดีอยู่แล้ว คล้าย "รามเกียรติ์" พระรามก็มีสถานะเป็นคนดีตั้งแต่เกิดอยู่แล้วเพราะเป็นร่างอวตารของเทพ หนังไทยหลายๆ เรื่องอาจจะไม่เชิงว่าตัวเอกเป็นคนดีตั้งแต่เกิด แต่ก็คิดว่าตัวเองดีกว่าตัวร้าย ถึงแม้จะเป็นมือปืนที่ชอบใช้ความรุนแรง ตัวเองยิงคนอื่นตายเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว แต่ในขณะเดียวกันถ้าตัวเอกตายเพราะคนอื่นยิง กลับเป็นเรื่องไม่สมควร ตรงนี้คือภาพสะท้อนของวิธีคิดในสังคมไทย
"อยากชวนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือวัดคนดี เวลาเราย้อนไปดูหนัง จะเห็นว่าจริงๆ แล้วตัวละครที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดีมักเข้าลักษณะว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง แกเป็นคนเลวเพราะฉะนั้นฉันจะฆ่าแก แต่วิธีการกระทำก็ไปฆ่าเขาเหมือนกัน ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งก็ไม่ต่างกัน ทุกวันนี้เราจะเห็นคนในสังคมจำนวนมากมองว่าตัวเองเป็นคนดีจะมาปราบยักษ์มาร ต่อไปจะเป็นปัญหาหากเราติดกับกับคำว่าคนดีไปเรื่อยๆ ในทางประชาธิปไตย เราต้องการคนดีหรือเปล่า เราเลือก ส.ส. เข้าไปเพื่อไปเป็นปากเสียงแทนเรา ถ้าเราเลือกคนที่เป็นคนดีมาก เข้าวัดฟังธรรม ไม่ผิดลูกผิดเมีย ไม่โกงใครเลย แต่กลับไม่เคยพูดแทนปากเราเลย แบบนั้นจะโอเคหรือไม่" ศาสวัตกล่าว
ชญานิน วิเคราะห์ว่า "คนดี" ในสื่อต่างๆ ของไทยมักจะถูกนำเสนอให้ "ดี" เป็นแพ็คเกจ เช่น สรพงษ์ ชาตรี ใน "ผู้แทนนอกสภา" ไม่ซื้อเสียง ไม่ทุจริต คิดจะทำเพื่อประเทศชาติจริงๆ มันก็จะไม่หยุดแค่นี้ แต่จะต้องขยายไปถึงชีวิตส่วนตัวว่า เป็นคนรักเมียมาก ซื่อสัตย์กับเมีย เป็นพ่อที่ดี สมมติสรพงษ์ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ว่าเที่ยวผู้หญิงตลอดเวลา มันก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นนักการเมืองโกง หนังไทยจะต้อง "ดี" เป็นแพ็คเกจ เรื่องนี้ดีแล้วอีกอย่างต้องดีด้วย ไม่เช่นนั้นคนดูจะรู้สึกตะขิดตะขวงอึดอัดที่จะยอมรับว่าดี
ศาสวัตกล่าวถึงเทศกาลหนังสั้น "เล่าเรื่องโกง" ซึ่งได้ทุนแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.) โดยมีข้อสังเกตว่าหนัง 10 เรื่อง จากผู้ประกวด 10 ทีม มีแนวของเนื้อหาคล้ายกัน มีวิธีการเล่าเรื่องคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เด็กคนหนึ่งไปสมัครเป็นประธานนักเรียน ฝ่ายตรงข้ามซื้อเสียง เอาขนมมาล่อรุ่นน้องประถม แต่เธอก็ยึดในหลักการความดี ในที่สุดเธอก็ได้เป็นประธานนักเรียน และคิดในใจว่านี่เป็นเพราะความดีของเธอ แต่ที่จริงแม่แอบไปฮั้วกับครูใหญ่ ส่วนหนังอีกเรื่อง พล็อตคือคุณพ่อเป็นทหารภาคใต้อยากจะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ย้ายไม่ได้ซะทีเพราะทางการไม่ให้ย้าย พ่อเป็นคนดี ไม่ยัดเงิน ไม่ยอมไปขอร้องใคร จนวันหนึ่งพ่อได้รับจดหมายจากกรุงเทพฯ แจ้งว่าได้รับการย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว พ่อก็ดีใจ แต่เรื่องหักมุมว่าลูกไปยัดเงินให้กับผู้พัน ศาสวัตกล่าวว่าทำไมหนังไม่ตั้งคำถามถึงเรื่องระบบราชการว่าทำไมพ่อไม่ได้ย้าย ทำไมครูไม่จัดการกับพวกซื้อเสียง
ชญานินกล่าวว่าหนังอีกกลุ่มประมาณ 5-6 เรื่องทั้งที่นักศึกษาทำส่งประกวดและของผู้กำกับอิสระพูดถึงเรื่องการโกง คอร์รัปชัน โดยเล่าวงจรความอุบาทว์สกปรก ชี้ให้เห็นว่าเงินก้อนหนึ่งถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ อย่างไรบ้าง พอเราจะตั้งคำถามกับระบบเราก็จะตั้งได้แค่ในระดับผิวเปลือก เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าวงจรการรับเงินเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้ถามว่าวงจรนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังของวงจรนี้ อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดแบบนี้ คนไทยไม่ค่อยซีเรียสกับระบบ สุดท้ายแล้วเราตัดปัญหาไปอยู่ว่า "ปัญหาอยู่ที่คน แก้ที่คน" ระบบดีไม่ดีนั้นไม่รู้ แต่ถ้าคนดีทุกอย่างจะดีเอง จึงเกี่ยวข้องกับการที่ไม่ค่อยมีหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์หรือระบบ
"การนิยามคนดีนั้นใช้ลักษณะทางศีลธรรม ซึ่งศีลธรรมเป็นเรื่องที่ปัจเจกมากๆ อาจจะมีหลักศาสนาของแต่ละคนเป็นที่ยึด เมื่อเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่แน่ไม่นอน ความคิดส่วนตัวเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ปัญหาคือเราเอาสิ่งที่ไม่แน่นอนมากมาใช้ตัดสินหรือมองว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาของสังคมไปเสียหมด" ชญานินกล่าว
สัณห์ชัย ผู้ดำเนินรายการ กล่าวเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะหนังอย่างเดียว แต่วรรณกรรม นิยาย และละครที่เราดูทุกวันนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีฝั่งดีและฝั่งร้ายชัดเจน มีคำกล่าวว่ารัฐนี้เป็นรัฐนาฏกรรม หรือรัฐละคร แต่รัฐละครในความหมายนี้คือรัฐที่คนในรัฐสมาทานว่าทุกคนจะต้องเป็นเหมือนละคร พระเอกต้องดี 100% และมีตัวร้ายที่เลว 100% เราเสพละครเหล่านี้มาก ถ้ามองด้วยความเข้าใจ คิดว่าคนจำนวนมากอกหักกับการเชื่อในนักการเมืองหรือเชื่อในระบบ จนต้องหาจุดยึดเหนี่ยวเพื่อที่จะให้ประเทศไปต่อได้เพราะไม่รู้จะไปอย่างไร จึงยึดศาสนาหรือความดีเพราะรู้สึกไม่สามารถพึ่งใครได้
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกแบน หนัง Shakespeare Must Die บางตอนไม่ชัดเจนว่าพูดถึงใคร
ชญานินซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ดูหนังเรื่อง Shakespeare Must Die แล้ว กล่าวถึงจุดที่น่าจะโดนแบนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังแสดงความเป็นหนังการเมืองชัดเจน แต่ประเด็นคือ มันไม่ได้เป็นการเมืองที่ชัดไปในข้างที่สามารถแน่ใจได้ว่าที่คนตรวจ รัฐ คนที่มีอำนาจในปัจจุบัน หรือคนดูทั่วๆไปจะยอมรับ คนตรวจอาจรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปแล้วตนเองอาจโดนต่อว่าในภายหลัง เพราะหนังการเมืองที่คนยอมรับคือต้องพูดเรื่องนักการเมืองเลว
ท้องเรื่องในหนังคือ "แมคเบธ" แต่เขาจะเล่าเรื่องสองเส้นไปพร้อมๆ กันคือ ชีวิตของนักการเมืองที่ขึ้นเป็นใหญ่ในโลกแห่งความเป็นจริง กับละครเวทีที่แสดงเพื่อเสียดสีนักการเมืองคนนี้ โดยที่ใช้นักแสดงชุดเดียวกันและเล่าสลับกันไปเรื่อยๆ แต่พอตอนท้ายเมื่อถึงจุดที่เป็นโศกนาฏกรรม คนดูจะระบุไม่ได้ชั่วขณะหนึ่งว่าสรุปแล้วแมคเบธหมายถึงใคร บางฉากมั่นใจว่าแมคเบธเป็นทักษิณแน่ๆ แต่พอฉากต่อมากลับรู้สึกว่ามันไม่ใช่ พูดถึงอีกคนต่างหาก พอถึงอีกฉากหนึ่ง ก็ดูจะหมายถึงอีกคน ฉากลักษณะนี้อยู่ติดกันในช่วงเวลา 5-6 นาที ความไม่ชัดเจนตรงนี้ที่ทำให้คนตรวจกลัว
ชญานินกล่าวว่า คุณอิ๋ง เค ผู้กำกับ ชี้แจงว่าหนังต้องการพูดถึงผู้มีอำนาจว่าจะเป็นใครก็ตาม คนกัมพูชาดูอาจจะนึกถึงฮุนเซน คนลิเบียดูอาจจะนึกถึงกัดดาฟี แต่คนจะคิดเช่นนั้นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง คนตรวจเองก็คงไม่ได้เชื่อแบบนั้น นี่คือจุดที่ทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นภัย เพราะเมื่อมันไม่ชัดแล้วคนจะคิดได้เป็นร้อยแบบ ส่วนตัวเข้าใจได้ว่าทำไมถึงถูกเซ็นเซอร์ แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันควรโดน
สังคมประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ ก็ยังมีเรตห้ามฉายอยู่ เช่น ในอังกฤษ มีการแบนหนังเรื่องล่าสุดคือ Human Centipede 2 หนังสยองขวัญที่เกี่ยวกับชายโรคจิตจับเหยื่อหลายคนมาเย็บให้ปากติดกับทวารคนข้างหน้าเป็นทอดๆ คล้ายตะขาบ เมื่อขับถ่าย อุจจาระก็จะไหลเข้าปากคนข้างหลัง หนังถูกแบนเพราะอุบาทว์เกินไป แต่ตรรกะพื้นฐานของการจัดเรตคือการปกป้องเยาวชนไม่ให้เจอกับสิ่งที่รุนแรงไม่สมกับวัย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าความสมกับวัยของแต่ละที่เป็นอย่างไร เขาคิดว่าเรื่อง Human Centipede 2 มันรุนแรงมากจนไม่สมควรกับประชาชนประเทศนี้ ประชาชนอาจสะอิดสะเอียน หัวใจวาย ล้มป่วย เป็นอันตราย ซึ่งใช้ฐานคิดคนละแบบกับการแบน Shakespeare Must Die ที่มองว่าอันตรายคืออาจทำให้คนแตกแยก
หนังไทยกลัวเรื่องการเมือง ส่วนหนึ่งเพราะสังคมที่กลัวการโต้เถียง
สำหรับเรื่องความแตกแยกของคนไทย ศาสวัตมองว่า เราแตกแยกน้อยเกินไปด้วยซ้ำ เมื่อไม่เห็นด้วยกับคนอื่นบางเรื่อง คนไทยมักเลือกที่จะเก็บไว้ การไม่พูดไม่เถียงกันทำให้ไม่ได้ใช้ความคิด ในการทำงานศิลปะหรือทำหนัง ขั้นตอนหนึ่งที่ง่ายที่สุดคือต้องเถียงกับตัวเองว่าสิ่งที่เราเชื่อมันจริงแค่ไหน แต่เรามักไม่กล้าเถียงกับคนอื่น เพราะรู้สึกว่าทำให้เกิดความแตกแยก สิ่งที่เราคิดจึงไม่ได้รับการต่อยอด ไม่ได้พัฒนาเหตุผลและตรรกะให้หนักแน่น เราเรียนหนังสือกันมาแบบครูบอกให้เชื่อก็ต้องเชื่อ ไม่เถียงผู้ใหญ่ มันสะท้อนออกมาในหนังที่มีท่าทีไม่ตั้งคำถาม หรือไม่ถกเถียงอะไรมากมาย ไม่ต้องการแตกแยกกับใคร จึงเลือกจะพูดในสิ่งที่ไม่กระทบใคร และเป็นที่พอใจของสังคมส่วนใหญ่
ชญานินมองว่าการไม่อยากถกเถียงอาจจะอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงไม่มีหนังที่พูดถึงระบบหรืออุดมการณ์การเมืองอย่างลึกซึ้ง สมมติเราจะสนับสนุนอุดมการณ์แบบในเรื่องสี่แผ่นดิน มันเป็นสิ่งที่ง่าย เพราะว่ามีชุดเหตุผลสำเร็จรูปที่รัฐหรือสังคมบอกว่ามันใช้ได้ ส่วนความสมเหตุสมผลจริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันอีกที แต่หากเราจะทำหนังที่บอกว่าสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็มักจะถูกซักไซ้เหตุผล วิธีคิด ถ้าทำไม่ดีพอก็ถูกตีตกง่าย ถ้าบทไม่แน่นพอก็มีปัญหา การพูดถึงอุดมการณ์บางอย่างถ้าไม่แน่นก็ไม่เป็นไรเช่นเรื่องศาสนา ความเชื่อ ลัทธิ วาทกรรม เพราะไม่ได้ถูกประกอบขึ้นด้วยเหตุผลแบบอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ในช่วงแลกเปลี่ยน มีผู้ฟังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในภาพยนตร์ว่า ไม่ได้นึกถึงประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทยว่าต้องเป็นเรื่องการเมือง ไม่ได้คิดว่าต้องมีภาพการกบฏ ปฏิวัติ หรือการปราบปรามในหนัง แต่นึกถึงหนังที่สอนการโต้แย้งด้วยวิธีการที่ให้รู้จักเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ในระบอบประชาธิปไตย ประชากรต้องเรียนรู้การโต้แย้งหรือการต่อสู้ด้วยการเคารพสิทธิผู้อื่น เพื่อรักษาสิทธิหรือปกป้องเป้าหมายที่เราเป็นผู้กำหนด บ้านเรายังไม่รู้จักการโต้แย้งเพราะเราถูกอบรมมาอีกแบบ
ผู้ฟังอีกรายกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกทำให้หวาดกลัว ไม่กล้าพูดในสิ่งที่คิด และเป็นผลกระทบที่ชัดเจนมากหลังปี 2549 มันส่งผลกับคนทำหนังไทย ทำไมผู้กำกับยุคใหม่ถึงต้องเลือกซ่อนสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่เขาต้องการพูดไว้ในหนัง มันเป็นผลของความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศเราหรือไม่ รู้สึกว่าประเทศเราเหมือนอิหร่านไปแล้ว คือทำหนังได้แต่ต้องลดเลี้ยว ต้องทำหน้าหนังแบบหนึ่ง แต่ข้างในพูดถึงอีกอย่างเพื่อให้ได้พูดในสิ่งที่อยากจะพูด หรือเพื่อให้เซ็นเซอร์จับไม่ได้ว่าต้องการจะพูดอะไร ตัวอย่างที่ชัดมากคือ "หนังสั้นสีขาว/ชั่วแสงเทียน" ของ ปราปต์ บุนปาน ซึ่งพูดถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างชัดเจนมากของศิลปิน
หอภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ความรุ่งโรจน์-จุดจบ ของปฏิวัติ 2475
นอกจากการเสวนาเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์แล้ว เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ทางหอภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรมาฉายก่อนเริ่มงานเสวนา และช่วงปิดงานเสวนา
ภาพบรรยากาศบนท้องถนนช่วงงานแห่รัฐธรรมนูญในปี 2476
จอมพล ป. พิบูลสงคราม พบปะนักข่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มหลังทำรัฐประหารในปี 2490
ช่วงเริ่มงานเสวนามีการฉายภาพยนตร์สั้นๆ ของงานแห่รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2476 ซึ่งถ่ายโดยกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติว่า
"ที่จริงได้มีการถ่ายภาพยนตร์ไว้ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่น่าเสียดายที่ฟิล์มนั้นได้สูญหายไป หอภาพยนตร์พยายามติดตามหา มีความเชื่อกันว่าถ้าไม่ถูกทำลายไปก็น่าจะยังอยู่ที่ใดที่หนึ่งในโลก โดยเฉพาะในต่างประเทศที่เคยซื้อฟิล์มไป 2 ก็อปปี้
คณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับคณะราษฎร ได้รับมอบหมายเป็นการลับว่าพรุ่งนี้จะทำการปฏิวัติ ให้บันทึกเหตุการณ์ไว้ทั้งวัน ภาพการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ถูกบันทึกไว้ และคณะราษฎรได้นำภาพยนตร์ออกฉายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเพื่อโฆษณาเผยแพร่ชัยชนะของคณะราษฎร แต่เมื่อฉายไปสักพัก สถานการณ์การเมืองพลิกโดยฝ่ายอนุรักษนิยมภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นมามีอำนาจ พระยามโนปกรณ์ฯ เห็นว่าภาพยนตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความไม่เหมาะสม เพราะเป็นการซ้ำเติมพระราชวงศ์มากเกินไป จึงสั่งให้งดฉาย แต่ก็ได้ฉายอีกครั้งหลังพระยาพหลพลพยุหเสนาทำรัฐประหารพระยามโนปกรณ์ฯ ฟิล์มได้สูญหายไปในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่าสำนักข่าวต่างประเทศที่อเมริกา 2 สำนักได้เคยโทรเลขมาขอซื้อฟิล์มทั้งหมด หลังข่าวการปฏิวัติแพร่กระจายออกไปยังต่างประเทศ แต่ภาพการปฏิวัติไม่ตรงตามจินตนาการของสำนักข่าวที่คิดว่าจะมีภาพการยิงกัน จึงโทรเลขกลับมาภายหลังว่า ไม่เห็นมียิงกัน จึงไม่ได้ฉาย หากจะให้ส่งฟิล์มคืนก็ต้องเสียค่าส่งเอง (จากข้อเขียนของขุนวิจิตรมาตรา) ทางภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจึงไม่ได้รับคืนมา
เมื่อมีการปราบกบฏบวรเดช รัฐบาลได้ให้กรมโฆษณาการถ่ายทำการปราบกบฏบวรเดช และงานศพทหารที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช และให้นำออกฉายควบคู่กัน เข้าใจว่าหนังได้ถูกออกฉายไปทั่วประเทศ แต่ไม่แน่ใจว่าก็อปปี้หายไปไหน ส่วนฟิล์มต้นฉบับที่ศรีกรุงก็ถูกไฟไหม้ จึงไม่เหลือ
หนังที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หอภาพยนตร์ยังเก็บไว้คือ ภาพรัฐบาลจัดงานแห่รัฐธรรมนูญอย่างใหญ่โตในปี 2476 โดยเอารัฐธรรมนูญบนพานมาตั้งให้คนชื่นชมที่สนามหลวง มีผู้ถ่ายหนังไว้คือกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ฟิล์มที่ได้มาอยู่ในคอลเล็กชันของหอภาพยนตร์ ภาพยนตร์นี้จะทำให้เราเห็นอารมณ์ความรู้สึกของบรรยากาศในยุคนั้นซึ่งตัวหนังสือไม่สามารถให้ได้"
ส่วนช่วงปิดงานเสวนา ได้มีการฉายภาพยนตร์เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ผู้ถ่ายคือนายแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาให้กับหอภาพยนตร์ฯ ในปัจจุบัน
เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 เกิดจากกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม ได้ร่วมมือกันล้มรัฐบาลพลเรือนของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นการปิดฉากยุคของคณะราษฎร และเริ่มต้นของการกลับมามีอำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม รวมทั้งเป็นจุดการเริ่มต้นของการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญภายหลังการปฏิวัติ 2475
หมายเหตุ : ภาพยนตร์งานแห่รัฐธรรมนูญเมื่อ 2476 ของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน หาชมได้ใน DVD รวมภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ จำหน่ายที่ร้าน DVD ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา
http://prachatai.com/journal/2012/06/41309