วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"พักพิง-พักใจ" เติมพลังให้กัน

 วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7643 ข่าวสดรายวัน


"พักพิง-พักใจ" เติมพลังให้กัน





หลังจากวิกฤตมวลน้ำก้อนใหญ่ทยอยไหลเข้าท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร เป็นผลทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน เพื่อมาตั้งหลักในพื้นที่ปลอดภัย ก่อนจะวางแผนชีวิตในอนาคตกันต่อไป 

ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้อยใหญ่ตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วน บางแห่งมีปริมาณที่พักไม่เพียงพอกับผู้พักอาศัย เจ้าหน้าที่ต้องเร่งกระจายความช่วยเหลือเพื่อหาที่พักพิงให้ผู้ประสบภัย

ขณะเดียวกัน การอยู่อาศัยภายในศูนย์พักพิง ต้องจัดระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มจิตอาสาที่คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ และบรรเทาความตึงเครียดให้ผู้ประสบภัย

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในทุกช่วงวัน เสียงดนตรีสำหรับผ่อนคลาย มัก ดังขึ้นพร้อมกับเสียงร้องงอแงของเด็กอ่อน ที่เป็นไปตามวัยทั้งจากการ ง่วงนอน หิวนม หรืออื่นๆ ด้วยความเป็นแม่จึงจำเป็นต้องจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยความเกรงอกเกรงใจคนรอบข้าง ส่วนเด็กวัยซนที่โตขึ้นมาหน่อย จะมีก็แค่กระทบกระทั่งกันเองในกลุ่มเพื่อนใหม่วัยเดียวกัน สักครู่ก็กลับมาเล่นด้วยกันใหม่ตามธรรมชาติของเด็กที่โกรธกันได้ไม่นาน

ที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒะ จังหวัดนนทบุรี ด.ญ.ณัฐนิชา นาคจู วัย 5 ขวบ นักเรียนชั้นป.1 ที่อพยพมาจากย่านประตูน้ำพระอินทร์ อ.วังน้อย จ.พระนคร ศรีอยุธยา มาพักพิงพร้อมกับครอบครัว เล่าว่า ได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายคน ได้เล่นกันทั้งวันจนไม่อยากกลับบ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้บ้านจะยังอยู่ที่เดิมอีกหรือเปล่า 

"อาหารที่นี่อร่อยมาก บางอย่างไม่เคยกินที่บ้านมาก่อนเลย" ด.ญ.ณัฐนิชากล่าว 

ด้านนางวิชุดา ปิลาผล ผู้ประสบภัยจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เดินทางมาพร้อมกับด.ญ.กษิรา ลูกสาววัย 2 ขวบ เล่าว่า "มาอยู่ที่ศูนย์พักพิงฯ ได้รับความสะดวกสบายเท่าเทียมกับผู้อื่นทุกคน จะมีก็แต่ปัญหาการแพ้นมวัวของลูก ซึ่งก่อนหน้านี้จะชงนมแพะผงให้ลูกดื่มเป็นประจำ แต่เมื่อน้ำท่วมทำให้หาซื้อยาก และทางศูนย์พักพิงฯ และหน่วยแพทย์สนามก็ไม่มีนมชนิดนี้ ทำให้รู้สึกกังวลมาก ทุกๆ ครั้งที่ลูกหิวนมมักจะเอานมถั่วเหลืองให้ดื่มแทนเสมอ แต่ลูกก็ดื่มได้ไม่มาก" 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ คือการปรับตัวเข้ากับสังคมและอยู่ในขอบเขตของกฎระเบียบของสถานที่นั้นๆ เพราะผู้คนที่มาอยู่อาศัยร่วมกันต่างมีพื้นฐานการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้การดำรงชีวิตในกิจวัตรประจำวันอาจต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่หมด เพื่อง่ายต่อการดูแลของเจ้าหน้าที่ 

นางอิศริยาภรณ์ รังสิคุต อายุ 56 ปี ชาวหมู่บ้านปาริชาต เล่าว่า ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปาริชาตกับสามี ซึ่งรับไม่ได้จริงๆ กับการที่ต้องมาอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพกับคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคน แรกๆ ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ตอนนี้ได้ทำกิจกรรม ได้พูดคุยกับคนอื่นที่ เดือดร้อนเหมือนกันทำให้รู้สึกดีขึ้นมาก เจ้าหน้าที่เองก็มาดูแลแนะนำให้ทำกิจกรรมคลายเครียดอยู่ตลอด จากที่หุงข้าวทำกับข้าวไม่เป็นตอนนี้ทำเป็นหมดแล้ว เพราะได้ช่วยคนที่เป็นแม่ครัว หรือคนที่มาทำอาหารบริจาค คือจะรู้สึกไม่ดีกับการที่มาเป็นผู้พักพิงที่ไม่ทำอะไรเลย นั่งๆ นอนๆ ในขณะที่ผู้พักพิงคนอื่นตื่นแต่เช้ามาช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ 

"เสียใจที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ แต่ไม่เสียใจเลยที่ต้องมาอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในศูนย์พักพิงฯ เพราะนอกจากจะได้มิตรภาพใหม่ๆ แล้ว ยังได้รู้มุมมองของคนในหลายๆ ด้าน ได้แบ่งปันประสบการณ์ของกันและกัน รวมถึงได้ฝึกอาชีพด้วย ครั้งนี้ตั้งใจไว้แล้วว่าเมื่อน้ำลดจะนำอาชีพที่ได้ฝึกไปสร้างรายได้เพิ่มเติม และสอนคนอื่นต่อด้วย

ถ้าไม่ได้มาอยู่ที่นี่ก็จะไม่รู้เลยว่าเรายังโชคดีกว่าคนอื่นอีกมาก คนรวยคนจนเมื่อถึงที่สุดแล้วก็ต้องมาอยู่จุดเดียวกัน ซึ่งไม่ต่างอะไรกันเลย ขอเพียงเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ" นางอิศริยาภรณ์กล่าว


หน้า 25

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น