บุกสำรวจ"ฟาร์มตัวเงินตัวทอง" แห่งแรกของประเทศไทย เปิดโฉม"สัตว์เศรษฐกิจ"โกอินเตอร์ส่งนอก
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09:30:00 น.
อธิการบดี ม.เกษตร "รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์" สมโภชน์ ทับเจริญ นักวิชาการเกษตร8 (ชำนาญการ) ผู้ดูแลโครงการ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังตัววารานัส โครงการก่อสร้างฟาร์มตัวเหี้ยแห่งแรกของไทย บ้านใหม่ของเหี้ยทั้งหลาย |
ตัวเงินตัวทองหรือ "เหี้ย"!! เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยต่างคุ้นเคยดี แต่ยังไม่รู้จักดีพอ
ก่อนหน้านี้มีความพยายามเปลี่ยนชื่อ "ตัวเหี้ย" ให้สุภาพขึ้นว่า "วรนุช" มีชื่อสามัญทางวิทยาศาสตร์ว่า "Varanus salvator" อาจเรียกได้ว่า "ตัววารานัส"อย่างที่เราทราบดีว่าตัว "วารานัส" เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของคนไทยอย่างมากเนื่องจากเดิมสมัยที่คนไทยยังทำการเกษตรเลี้ยงสัตว์กันเสียส่วนมาก ตัว "วารานัส" นี่จะเข้าไปลอบกินเป็ด ไก่ หรือลูกหมู ของชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างมาก จึงเป็นที่มาของคำด่าคนที่ทำไม่ดี ทำตัวเลวว่าเป็น "เหี้ย" นั่นเอง และถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งอัปมงคลเรื่อยมา
แต่วันนี้จากสัตว์ที่ทุกคนรังเกียจ จะกลายเป็นสัตว์มีค่าดุจทอง ดังชื่อ "ตัวเงินตัวทอง" เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เตรียมผลักดันให้กลายเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ"ด้วยการสร้าง "ฟาร์มตัวเหี้ย" แห่งแรกของไทย
เดินทางนั่งรถไปเพียงแค่ 80 กิโลเมตรกว่าๆ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตบางเขน ไปยังวิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เรียกได้ว่าหลับอิ่มหนึ่งตื่นพอดีก็ถึงที่หมาย เห็นพื้นที่สีเขียวครึ้มพร้อมต้นไม้ใหญ่ลานตา แดดที่ว่าเปรี้ยงก็รู้สึกร่มไม่ร้อนอย่างที่คิด มีอธิการบดี ม.เกษตร "รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์" มาคอยท่า พร้อมกับเจ้าบ้านอย่างรองอธิการบดี "รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์" และคณะมารอต้อนรับ
อธิการ ม.เกษตร เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะสร้างฟาร์มตัวเหี้ยแห่งแรกในประเทศไทย ว่า อย่างที่ทราบกันว่าความที่มันมีจำนวนมาก และหลายครั้งก็สร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย อาจจะไปเพ่นพ่านตามบ้านเรือนคนทำให้ชาวบ้านหวาดผวา เพราะเป็นเหมือนกับสัตว์อัปมงคลก็ดี ในส่วนของเกษตรกรก็ไปกัดกินสัตว์ที่เลี้ยงเอาไว้ทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งหากเราทำให้สัตว์พวกนี้อยู่ในที่ๆ ของมันโดยไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายได้ก็เป็นเรื่องดี และจะยิ่งดีไปกว่านี้อีกหากมันสามารถสร้างรายได้ หรือทำเงินให้กับประเทศไทย
"ทาง ม.เกตร จึงคิดที่จะผลักดันให้ตัวเงินตัวทอง หรือตัววารานัส เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ด้วยการจัดทำฟาร์มเพื่อศึกษาวิจัยในการนี้โดยเฉพาะ เพราะครั้งหนึ่งนั้นกบสัตว์ครึ่งบครึ่งน้ำธรรมดา ก็ทำให้กลายเป็นสัตว์มีค่าเป็นสัตว์เศรฐกิจได้มาแล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าตัววารานัสจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญต่อไปในการช่วยส่งเสริมการค้าให้กับประเทศไทย ดีกว่าให้ไปเผ่นผ่านในสภา" อธิการ มก.ตบท้าย ได้อย่างคันๆ
ด้าน สมโภชน์ ทับเจริญ นักวิชาการเกษตร8 (ชำนาญการ) ผู้ดูแลโครงการ กล่าวถึงโครงการฟาร์มเหี้ยว่า เราต้องทำความเข้าใจกับตัววารานัสเสียใหม่ ตัววารานัสนั้น ต่างจากตัว "ตะกวด" แม้จะเป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกันแต่เป็นคนละชนิดกัน "ตะกวด" นั้น นิสัยดุร้ายกว่า ชอบกัดทำร้ายคน ส่วนลักษณะภายนอกนั้นจะมีหางสีแดง ซึ่งต่างจาก "วารานัส" ที่ไม่ชอบกัด แต่เวลาที่ต่อสู้นั้นจะใช้วิธีการปล้ำกัน เมื่อตัวไหนสามารถคร่อมร่างอยู่เหนืออีกตัวได้ก็ถือว่าชนะ ตัวแพ้ก็จะคลานหนีไป ไม่มีการทำร้ายถึงเลือดตกยางออก ที่น่าสนใจคือการจับคู่ของมันส่วนใหญ่จะไม่มีการเปลี่ยนคู่ แต่จะอยู่กันไปจนกว่าอีกตัวจะตายจากกันไป ซึ่งน่ารักมาก เพราะฉะนั้นที่คนส่วนใหญ่เห็นว่ามันเป็นตัวเลว ตัวอัปมงคล จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก
"ที่สำคัญคือในต่างประเทศพบว่ามีการนำมาเลี้ยงเช่นสัตว์เลี้ยงทั่วไป ใส่สายจูงผูกลากเดิน หรือปล่อยให้เด็กๆ มาลูบมาคลำได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก นอกจากนี้ หนังของมันยังมีมูลค่ามาก เพราะเป็นหนังคุณภาพดี ลายสวย ราคาสูง ซึ่งมีการนำมาทำเป็นกระเป๋า รองเท้า ใบละราคาหลายหมื่นบาท ส่วนพวกเครื่องใน ไม่ว่าจะเป็นดีและตับก็สามารถนำมาเป็นสมุนไพรและเนื้อยังนำมารับประทานได้ เรียกได้ว่าเราสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ได้ครบวงจรเลยทีเดียว"
นักวิชาการรายเดิม กล่าวต่อว่า ดังนั้น ทางสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มก. วิทยาเขตกำแพงแสน จึงทำโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากตัววารานัส เพื่อผลเชิงเศรษฐกิจ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยง รวมทั้งศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงตัววารานัสแปรรูป และใช้ประโยชน์ให้เกิดผลสูงสุด โดยในเบื้องต้นได้ทำการออกแบบและก่อสร้างบ่อเพาะเลี้ยง ในบริเวณสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ ขนาด 1 ไร่เศษ ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ 150-200 ตัว โดยทุกตัวจะถูกฝังไมโครชิพเพื่อการแสดงตนเองและติดตามตัวได้ง่าย
"ทั้งนี้ มก.ได้รับความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นนักวิจัยร่วมในโครงการด้วย ที่สำคัญคือทุกครั้งที่จะมีการจับตัวเหี้ยซึ่งทุกคนแสนรังเกียจนั้นจะต้องขออนุญาตกรมฯ ก่อนทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ตัวเหี้ยนั้นเป็นสัตว์คุ้มครองอยู่ในบัญชีไซเตส ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ เห็นแต่ว่ามันเพ่นพ่านไปทั่ว แต่ในต่างประเทศนั้นถือเป็นสัตว์หายาก ราคาแพงฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้หากเราทำให้มันมีมูลค่าส่งออกไปขายก็จะเป็นผลดีกับประเทศ" อ.สมโภชน์ กล่าว และบอกทิ้งท้ายว่าธันวาคมปีนี้ได้เห็นแน่ "ฟาร์มตัวเหี้ย" แห่งแรกของไทย
ต้องติดตามกันต่อไปว่า "ตัวเหี้ย" หรือ "วารานัส" จะกลายเป็น "ตัวเงินตัวทอง"อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การแก้เคล็ดอีกต่อไปหรือไม่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314013157&grpid=01&catid=05&subcatid=0503 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น