ถกแก้รัฐธรรมนูญ นักวิชาการชี้ ควรตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างฯ มากกว่าตั้งคณะกรรมการ เพราะมีที่มาจากประชาชน แนะ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น "โคทม" เสนอ เลือกตั้งแบบ 8 กลุ่มจังหวัด
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ทางเลือกยกร่างรัฐธรรมนูญ : เลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือ ตั้งกรรมการ?" ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ด.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง นักวิชาการอิสระ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ และ รศ.ดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นวิทยากร ศ.ดร.ลิขิต กล่าวว่า เหตุที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เพราะมาจากกระบวนการปฏิวัติรัฐประหาร มีที่มาที่ไปไม่ถูกต้องเพราะเกิดจากการล้มรัฐธรรมนูญ 2540 จึงไม่เกิดความชอบธรรมทางการเมือง นอกจากนี้ ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลายครั้ง ส.ส.ร.เข้าประชุมไมม่ครบองค์ประชุม แต่กลับใช้เสียงข้างมากในการโหวตแล้วมั่วๆ จนผ่าน แต่วิธีแก้ปัญหาก็คือให้ลงประชามติ เอาเสียงข้างมากของประชาชนมายืนยันว่าเป็นความชอบธรรม ดังนั้น หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทุกมาตราต้องลงประชามติทั้งหมด ชี้ตั้ง'อรหันต์'ยกร่างฯมีปัญหาที่มา
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาตรา 291 นั้น ไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร.ได้ จนกว่าจะมีการแก้มาตรา 291 เสียก่อน โดยกำหนดในร่างแก้ไขว่าจะกำหนดสัดส่วน ส.ส.ร.กี่คน แล้วให้มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถ้าไม่ทำเช่นนี้จึงทำไม่ได้ ส่วนข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ) ที่เสนอให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 34 คนนั้น มีปัญหาอยู่อย่างเดียวคือเลือกคนมาอย่างไร ศ.ดร.ลิขิต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ละเอียดมากจนรัฐบาลทุกรัฐบาล ถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญจริงก็คงจะล้มหมด เพราะละเอียดจนกระทั่งกระดิกไม่ได้เลย ดังนั้น สำหรับมาตราในรัฐธรรมนูญที่คิดว่าต้องแก้ไขใหญ่ๆ คือ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค ทำให้มีการยุบพรรคการเมืองหลายพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคหลายคน ด้วยการทำให้มีการออกกฎหมายย้อนหลังถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักสากล ส่วนมาตรา 309 เรื่องการนิรโทษกรรม จึงเขียนขึ้นมาเพื่อจะล็อคสิ่งที่ทำทั้งหมด เช่น เรื่องยุบพรรค ให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมือนเป็นการเอาสิ่งที่ผิดมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวล้างมลทิน เพราะถ้าไม่ล้างมลทิน หากเรื่องคดียุบพรรคการเมืองหลุดหมด ก็อาจจะมีการฟ้องคดีแพ่งเป็นพันล้านบาทได้ "มาตรา 309 มันเป็นรัฐธรรมนูญเหนือรัฐธรรมนูญ การใดที่ทำก่อนประกาศรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าชอบตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือ การกระทำที่ทำให้แต่เกี่ยวเนื่องก็ถือว่ายังชอบอีก กระทำในอนาคตทำผิดก็ยังถูกอีก ลึกๆ คือคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อนให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพราะถ้าไม่ออกมาตรา 309 คตส.ก็ต้องโมฆะ คดีทั้งหมดก็ต้องกลับไปสู่ศาลแพ่ง และศาลอาญา รัฐธรรมนูญแบบนี้มีในโลกที่ไหน ทั้งมาตรา 237 และ 309 ไม่สามารถจะพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม"ศ.ดร.ลิขิต กล่าว รธน.ใหม่ต้องมีปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของประชาชน
ศ.ดร.ลิขิต กล่าวอีกว่า หากจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องมีการกำหนดเรื่องของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของประชาชนเข้าไปด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีบรรจุไว้ โดยจะต้องประกาศให้ชัดเลยว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมีอะไรบ้าง และจะละเมิดสิทธินั้นไม่ได้ หากใครรัฐประหารถือว่าผิด ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
ด้าน ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า สถิติการลงคะแนนประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2550 มีทั้งสิ้น 57.81 น่าสนใจว่าจะเป็นเครื่องมือที่เป็นตัวแทนความเห็นของประชาชนจริงๆ ได้หรือไม่ เพราะโดยทั่วไปรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือแม่บทให้ประชาชนได้ใช้ในการแก้ไขปัญหา แต่ตามผลสำรวจของโพลกลับพบว่า ร้อยละ 57.5 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเลย มีเพียง 3.8 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่อ่านรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด จึงสะท้อนว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจริงๆ หรือไม่ "แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2540 จะมีการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเยอะแยะ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความคิดของประชาชนจริงๆ อาจมีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะในเมือง ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็จะต้องทำให้เป็นของประชาชนจริงๆ เพราะหากเป็นเนื้อหาที่เป็นของสะท้อนเสียงของประชาชนจริงๆ น่าจะยั่งยืนกว่า จึงขอเสนอว่าเสนอว่า เวลาเราเลือกตั้งใช้งบประมาณ 2.5 พันล้านบาท ถ้าเอางบมาจัดสรรใหม่ เพื่อสร้างเวที ส.ส.ร.ตำบล เอาเรื่องรัฐธรรมนูญลงสู่ระดับตำบล จัดเวทีฟังความคิดหลากหลาย ถกเนื้อหากันให้ตกผลึก แล้วเอาความเห็นต่างๆ มาสังเคราะห์ ประมวล โดยให้สถาบันการศึกษาในจังหวัดไปรวบรวมขึ้นมาเสนอในระดับจังหวัด แล้วมาเสนอในระดับประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมา"ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าว เห็นด้วยตั้งส.ส.ร.-ห้ามการเมืองยุ่ง
ขณะที่นางสุนี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ควรแก้ไข เพราะทำให้เกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองที่ดุเดือดขึ้นมากในสังคมไทย เพราะการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้ทุกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ถ้าในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งรุนแรง แล้วมีกระบวนการแก้ไขไม่ชัดเจนตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นบนความรวบรัด และมาโดยกระบวนการที่ไม่ชอบ ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ไม่จบสิ้น แต่ทั้งนี้ หากมีการจัดกระบวนให้ดีเหมาะสมก็เห็นด้วยที่จะแก้ไข ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. แต่สำหรับที่มาจะต้องจำแนกออกจากกระบวนการทางการเมือง เช่น จะต้องไม่ใช่กระบวนการหาเสียงเลือกตั้งแบบนักการเมือง เพราะหากมีการเลือก ส.ส.ร.คำถามคืออะไรคือความต่างระหว่างเลือก ส.ส.ร.กับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. "2 เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เป็นที่ยอมรับคือ 1.เงื่อนไขที่จำกัดไม่ให้สภามีสิทธิแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จนสภาเปลี่ยนท่าทีไม่แก้ไข ซึ่งทำให้ประชาชนยอมรับ 2. ส.ส.ร. ไม่ใช่กรรมการชุดใดชุดหนึ่ง เราต้องไม่ย้อนกลับไปสู่อดีตยุคเผด็จการ ที่มีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญมาร่าง ต้องปิดประตูตายเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะว่ามันหมดยุคสมัยของการย้อนกลับไปแล้ว"นางสุนี กล่าว นางสุนี กล่าวว่า ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการกำหนดประเด็นขึ้นมาให้ประชาชนถกเถียงให้ชัดเจนกันในสังคม เพราะหากไม่มีการหารือกันอย่างจริงจัง อาจทำให้ประชาชนไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น วิธีที่พอใช้ได้คือร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็กลับไปฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกครั้ง สำหรับประเด็นที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง อาจมีการโหวตกันเฉพาะเรื่อง อย่าใจร้อน เพื่อนำไปสู่การยอมรับที่กว้างขวาง ที่สำคัญสภาต้องไม่มีส่วนเข้ามาแก้ไขรายมาตราในการร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะนำไปสู่การทำประชามติ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าประเด็นที่สมควรแก้ไขมากที่สุดคือที่มาขององค์กรอิสระ เนื่องจากที่มาขององค์กรอิสระนั้นมาจาก ส.ว. และ ส.ว.ก็ตรวจสอบองค์กรอิสระ มันจึงกลายเป็นวงจรเล็กๆ แคบๆ ที่มีบุคลากรจำกัด มีหน้าที่แต่งตั้งและถอดถอน การแก้รธน.ต้องให้การศึกษาแก่ปชช.
ด้านนายสุนัย กล่าวว่า คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าเราสามารถทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการสร้างความปรองดอง และยกระดับภิวัฒน์สังคมไทยที่มีอยู่บนความขัดแย้งทางความคิดทั้งสิงขั้วที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี และยังหาทางออกไม่ได้ มันก็คุ้มที่จะทำ เพราะมวลชนที่เกิดขึ้นสองขั้ว ทั้งเสื้อเหลือง และเสื้อแดง สะท้อนให้เห็นฐานรากของปัญหาในสังคมไทย ที่เป็นวงจรอุบาทว์คือ วงจรการโกงกินของนักการเมือง และวงจรรัฐประหาร เมื่อทั้งสองวงจรถูกปลุกให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนผ่านสื่อ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ทางเดียวที่หลุดได้คือต้องยกระดับสังคมการเมืองไทย สู่ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถผลักดันได้ ถ้าเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แล้วใช้กระบวนการการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาแก่ประชาชน ก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้รู้สึกว่าเป็นสัญญาประชาคมของคนในชาติ ก็จะทำให้พ้นวิกฤติได้ ถ้าแก้เพื่อคนใดคนหนึ่งบ้านเมืองลุกเป็นไฟ
นายวิรัตน์ กล่าวว่า ต้องถามว่าที่จะแก้ แก้เพื่อประชาชน หรือแก้เพื่อใครบางคนหรือไม่ แต่สิ่งแรกในกระบวนการแก้ไขคือ ต้องให้ความรู้กับประชาชนจริงๆ อย่างเท่าเทียมกันว่ารัฐธรรมนูญในมุมที่เขาอยากได้นั้น อยากได้อะไร และเกิดประโยชน์อะไรบ้างเมื่อให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว จากนั้นตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อศึกษาทั้งระบบดูผลดี ผลเสีย แล้วสอบถามประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศว่าเขาอยากจะแก้ประเด็นไหน "ถ้าเห้นว่าแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้เร่งรัดจะเกิดความขัดแย้ง แล้วรีบทำไม ทำไมไม่เปิดให้ประชาชนเข้าใจ ศึกษาถ่องแท้ รู้ประเด็นชัดเจน แก้ทั้งระบบ แล้วให้ประชาชนรับรู้รับทราบ แต่เมื่อไหร่สังคมคลางแคลงใจว่าแก้เพื่อใคร รับรองว่าบ้านเมืองลุกเป็นไฟ สิ่งที่จะต้องมีในรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบถ่วงดุลต้องยังอยู่ องค์กรอิสระไม่ดีในส่วนไหนก็ต้องแก้ รัฐธรรมนูญต้องแก้ให้เหมาะกับคนไทย เพราะประเทศไทยไม่เหมือนประเทศใดในโลก ยังพลิกแพลงได้ตลอด แก้ให้เหมาะ คนไทยไปได้ทุกเรื่อง ไปได้ทุกทิศ รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่เอาเวลาไปจัดการเรื่องน้ำท่วมให้ประชาชนรับรู้รับทราบจริงๆ อนุมัติ ไม่ใช่ทำเพื่อใครหรือตอบสนองใครบางคน"นายวิรัตน์ กล่าว ส.ส.ร.ต้องเป็นตัวแทนทุกกลุ่มอาชีพ
รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นหลักประกันอะไร ที่จะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ และมีนักการเมืองที่มีคุณภาพ แต่ต้องกลับมาสร้างวัฒนธรรมการเมืองของคน และของประเทศ เรื่องการให้ความรู้แก่ประชาชน ที่สำคัญสังคมไทยจะต้องมีบทเรียนทางการเมืองที่สำคัญในการดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งจะต้องไม่นำมาซึ่งความแตกแยกใหม่ อีกทั้ง จะต้องถือโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ส่วนที่มาของส.ส.ร.นั้น หลักการสำคัญกระบวนการต้องยึดโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ ถ้าเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทุกจังหวัด ถามว่าคนที่เป็นตัวแทนกลุ่มคนพิการ หรือ ตัวแทนชาติพันธุ์ก็ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา ดังนั้น องค์ประกอบของผู้ที่ยกร่างนั้น ฝ่ายหนึ่งจะต้องมาเพื่อบอกสาระและความต้องการ ส่วนฝ่ายที่สองเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาเพื่อออกแบบที่เป็นฝ่ายเทคนิคก็ต้องจำเป็น เพื่อให้ยึดโยงรัฐธรรมนูญทั้งระบบ "สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการกำหนดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ชัดเจน หลายมาตรามันตีความได้หลายอย่าง จึงต้องดูว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์อย่างไร เพราะสิ่งนี้จะเป็นบรรทัดฐานของการวินิจฉัยประเด็นความขัดแย้งในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550มันยังไม่ชัดเจน ที่สำคัญจะต้องไม่รังเกียจนักการเมือง ต้องให้เข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหาวิจารณ์ว่าคนร่างไมได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง"รศ.วุฒิสาร กล่าว ส.ส.ร.เลือกตั้งจะไม่มีข้อครหา
ด้านนายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตนมองว่าคนไทย 60 ล้านคน จะรักษาประโยชน์ของคนไทย 60 ล้านคนได้ดีที่สุด โดยเราต้องการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์แก่คนไทย 60 ล้านคน ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น มาจากจุดตั้งต้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งอยู่บนความไม่เชื่อถือประชาชน คิดว่าประชาชนโง่ เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานนี้ อำนาจอธิปไตยสูงสุดก็ไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน แต่กลับไปอยู่ในมือขององค์กรอิสระ หรือ ศาล ซึ่งคนเหล่านั้นไม่ได้มีความน่าเชื่อถือเหมือนกันทั้งหมด ที่สำคัญยังทำให้ประเทศเดินไปทางไหนก็มีปัญหา เพราะจะประสบปัญหากับความไม่แน่นอนว่าทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่จะต้องยกร่างรัฐธรรนมูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.ที่เป็นอิสระ หาก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ก็จะไม่มีข้อครหาว่านักการเมืองเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการนั้น ต้องถามว่าที่มาจะมาจากไหน แล้วใครจะเชื่อถือ โดยเฉพาะเวลานี้นักวิชาการถูกกำหนดฝ่ายกันทั้งหมด ดังนั้น ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จะทำให้เรามั่นใจว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด แบ่งเขตเลือก ส.ส.ร.เป็น8เขต
รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าแก้เล็กก็ใช้มาตรา 291 ตามปกติ แต่ถ้าแก้ใหญ่ต้องเลือกว่าจะใช้ ส.ส.ร. หรือ ตั้งคณะกรรมการ แต่หลักการของตนมี 3 ข้อ คือ 1.ต้องเป็นกระบวนการที่มีอำนาจหน้าที่และมีความชอบธรรม 2.ต้องเป็นกระบวนการที่รวมทุกฝ่าย อย่าไปกีดกันคนส่วนน้อย 3.การตัดสินใจใดๆ ควรมีพื้นฐานบนความรู้ ความเท่าทัน ไม่ใช่ฟังใครแล้วคล้อยตาม ต้องมีการถกแถลง ซึ่งควรใช้หลักการทั้ง 3 ประกอบการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หากจะมีการคัดเลือกคณะกรรมการขึ้นมาก็จะอ่อนเรื่องความชอบธรรม แต่หากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยใช้เขตจังหวัด กำหนดให้จังหวัดละ 1 คน ต่อ 1 เขต ก็เท่ากับว่าขัดต่อการเลือกตั้งเบื้องต้น คือ 1 คน 1 เสียง 1 มูลค่า เพราะไม่ได้คำนึงถึงจำนวนประชากรที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถแก้ไขได้โดยให้จังหวัดมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่จำกัดจำนวน ส.ส.ร.ว่ามีกี่คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรที่มีในจังหวัดนั้น หรือจะแบ่งเขตเลือก ส.ส.ร. เป็น 8 เขต เหมือนครั้งเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วน โดยให้มีจำนวน ส.ส.ร.แต่ละกลุ่มใกล้เคียงกัน หรือ เท่ากันก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นพวง เพราะจะทำให้เกิดเสียงข้างมาก "เราต้องตั้งคำถามสำคัญว่า แก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มันอยู่ยั่งยืนยงหรือไม่ ดังนั้น ครั้งนี้ต้องตั้งหลักให้ดี ให้ประชาชนถกแถลงกันก่อนว่าเป้าหมายของการแก้ไขจะเอาอย่างไร และการร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรถูกจำกัดโดยเงื่อนเวลา ทำเสร็จภายในหก เจ็ดเดือน เพราะไม่ได้ของดี อยากได้ของดีใช่หรือไม่ ผมไม่อยากเห็นว่าคนขอแก้รัฐธรรมนูญจะถูกโยงเป็นพวกนั้นพวกนี้ และไม่ควรกล่าวโทษว่าคนที่แก้รัฐธรรมนูญจะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง จึงขอร้องทุกฝ่ายเข้ามาเป็นส่วนร่วมในครั้งนี้" รศ.ดร.โคทม กล่าว
http://goo.gl/fAC5t |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น