สบท. ถกองค์กรผู้บริโภค แก้ปัญหาวันหมดอายุมือถือเติมเงิน
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. เปิดเผยระหว่างการเสวนาหัวข้อ "การแก้ปัญหากำหนดวันหมดอายุมือถือระบบเติมเงิน ยังนิ่งเรื่องจริงเป็นอย่างไร" ว่า แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ส่งหนังสือแจ้งมติปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ถึงการบังคับใช้ประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ข้อ 11 ห้ามกำหนดวันหมดอายุระบบเติมเงิน หรือ พรีเพด ยกเว้นแต่ได้รับความเห็นจาก กทช. แต่ผู้ให้บริการมีหนังสือกลับมายังสำนักงาน กสทช. ว่าไม่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบุว่า การไม่กำหนดวันหมดอายุนั้นจะกระทบกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และอ้างว่าเคยเสนอทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้มายังปฏิบัติหน้าที่แทนกสทช. แล้วว่า ได้กำหนดให้ผู้ใช้ระบบเติมเงินเบอร์ใหม่ เติมเงินที่ 200 บาท จะได้วันใช้งาน 90 วัน หลังจากนั้นให้เป็นไปตามโปรโมชั่น รวมทั้งแจ้งด้วยว่าประกาศฉบับดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
"หากผู้ให้บริการเห็นว่าประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ควรฟ้องร้องเพื่อให้ยกเลิกการใช้ประกาศ แต่ไม่ใช่การกล่าวอ้างด้วยตนเอง ทั้งที่ประกาศนี้มีผลมา 3-4 ปีแล้ว แต่ค่ายมือถือกลับนิ่งนอนใจ ขณะที่ผู้บริโภคตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น" น.พ.ประวิทย์กล่าว
สำหรับสถิติเรื่องร้องเรียน 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ที่เกี่ยวกับการใช้บริการโทรศัพท์มือถือมีจำนวน 475 เรื่อง อันดับแรกเป็นปัญหาเรื่องระบบเติมเงิน ซึ่งมีจำนวนถึง 255 เรื่อง และจะรวบรวมข้อมูลการเสวนาครั้งนี้ เสนอต่อการหารือร่วมกับ กสทช. ผู้ให้บริการ ตามที่สำนักงานกสทช.จะมีกำหนดจัดขึ้นในเร็วๆ นี้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นจะนำแนวทาง 2 ข้อให้ที่ประชุมพิจารณาคือ การกำหนดวันขั้นต่ำการใช้งาน เช่น 3 หรือ 6 เดือน และรูปแบบการคืนเงินว่า จะเป็นการคืนเป็นค่าโทร หรือเงินสด เพื่อสร้างความชัดเจน และสื่อสารต่อประชาชนทั่วประเทศต่อไป
ขณะที่ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธานกทช.ปฏิบัติหน้าที่แทนกสทช.กล่าวว่า กสทช.จะไม่เข้าไม่ก้าวก่ายเรื่องการรักษาวงโคจรดาวเทียมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที โดยจะดูเฉพาะเรื่องการออกใบอนุญาต หรือ ไลเซ่นส์ดาวเทียมดวงใหม่เท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงไอซีทีเรื่องการขออนุญาตในการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับดาวเทียมทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ได้เคยปรึกษากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีถึงการลงทุนในกิจการดาวเทียมนั้น เป็นกิจการที่ต้องใช้งบประมาณที่สูง โดยต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 8 ,000 ล้านบาท และจะเห็นได้ว่ากิจการดาวเทียมทั่วโลกประสบปัญหาขาดทุนตามๆ ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการหาผู้ลงทุน จึงควรจะพิจารณาเป็นจุดๆ ในส่วนที่ไทยคมยังไม่ได้ดำเนินการ
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง: สบท.บี้ผู้ให้บริการมือถือเมินคำสั่งกสทช. - ASTV ผู้จัดการออนไลน์