วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระ-ชาวบ้านสูบน้ำตลาดดอนหวายเร่งเปิดขาย

 

พระ-ชาวบ้านสูบน้ำตลาดดอนหวายเร่งเปิดขาย

ชาวบ้านนครปฐมในอ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน และอ.พุทธมณฑล เริ่มยิ้มได้หลังระดับน้ำในภาพรวมเริ่มลดลงเกือบ 30 ซม.จากเดิม 1 เมตร ส่วนถนนเพชรเกษมสาย 4-7 คาดรถเล็กจะสัญจรได้ใน 2 วัน ขณะที่วัดโรงเรียนและตลาดดอนหวาย ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมขังกว่า 70 ซม.เจ้าอาวาสร่วมกับชาวบ้านเตรียมกู้สถานการณ์ พร้อมเปิดตลาดเร็วๆนี้...

สถานการณ์น้ำท่วมในจ.นครปฐม เริ่มดีขึ้นต่อเนื่องล่าสุด ในอ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน และอ.พุทธมณฑล น้ำได้ลดระดับลงเหลือ 20-30 ซม.จากที่เคยสูงกว่า 1 เมตร รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ โดยขณะนี้ถนนสายเพชรเกษม ตั้งแต่ สาย 4-5-6-7 รถยนต์บางชนิดเช่น รถยกสูงและรถบรรทุก สามารถวิ่งได้แล้ว มีน้ำท่วมขังในบางจุดซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ ส่วนรถยนต์เล็กคาดว่าภายใน 2 วันนี้ น้ำจะลดลงอีกจนสามารถวิ่งได้  อย่างไรก็ตามพื้นที่ถนนสายบรมราชชนนี ตั้งแต่พุทธมณฑลสาย 4 จนถึงพุทธมณฑลสาย 7 เส้นทางการจราจรยังปิดในบางช่วงรถไม่สามารถวิ่งฝ่าไปได้ เพราะระดับน้ำยังลึกระหว่าง 1-1.50 เมตร ส่วนถนนบรมราชชนนีตัดถนนเพชรเกษม พุทธมณฑลสาย 5 ระดับน้ำท่วมสูงระหว่าง 80 ซม.-1.50 เมตร ต้องใช้เรือสัญจรแทนรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีถนนวัดไร่ขิง ตัดถนนบรมราชนนี ที่รถยนต์เล็กสามารถวิ่งไปได้ถึงแค่วัดดอนหวายเท่านั้น ส่วนระยะต่อจากวัดดอนหวาย ไปออกถนนบรมราชชนนี น้ำยังท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถวิ่งได้

สำหรับพื้นที่วัดดอนหวาย ตลาดน้ำดอนหวาย รร.วัดดอนหวาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันยังคงมีน้ำท่วมขังกว่า 70 ซ.ม. ทำให้ตลาดน้ำดอนหวายที่เป็นตลาดที่มีชื่อเสียงและแหล่งท่องเที่ยวของ จ.นครปฐม ไม่สามารถเปิดบริการได้มาร่วม1 เดือน จนกลายเป็นตลาดร้าง อย่างไรก็ตามด้านพระเมธีธรรมานันท์ เจ้าอาวาสวัดดอนหวาย พร้อมชาวบ้านและแม่ค้าพ่อค้าในตลาด เตรียมกู้น้ำวัดดอนหวาย รร.วัดดอนหวายและตลาดน้ำ ให้กลับมาอีกครั้ง โดยจะระดมคนนำกระสอบทรายจำนวนนับแสนทำคันกั้นและระดมเครื่องสูบน้ำ มาสูบน้ำออกในอีก 2 วันข้างหน้า เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้ากลับมาขายเช่นเดิม

นอกจากนี้พื้นที่หมู่บ้านประภัสสรวิลล่า ตั้งอยู่หมู่ 6 ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ยังอยู่ในสภาพจมอยู่ในน้ำระดับน้ำอยู่ที่ 80 ซม.- 1 เมตร มีรถยนต์จมน้ำจำนวนหลายคันต้องใช้เรือเป็นพาหนะอย่างเดียว โดยชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากน้ำเน่าเหม็น ขาดน้ำดื่มและอาหาร รวมถึงมียุงจำนวนมาก ซึ่งคาดหวังให้หน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

โดย: ทีมข่าวภูมิภาค

27 พฤศจิกายน 2554, 02:03 น.

http://m.thairath.co.th/content/region/219486

นิทรรศการภาพถ่ายต่อต้านเผด็จการเรียกร้องอิสรภาพ

นิทรรศการภาพถ่ายต่อต้านเผด็จการเรียกร้องอิสรภาพ

'เจมส์ แมคคาย' ช่างภาพสารคดีชื่อดังของโลก เปิดนิทรรศการภาพถ่าย "อภัยมุทรา" หรือภาพถ่ายของอดีตนักโทษการเมืองชื่อก้องโลก ที่กล้าออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการปกครองระบอบเผด็จการ ซึ่งทุกคนในภาพพร้อมใจยกมือเลียนแบบพระพุทธรูปปางอภัยทาน

นิทรรศการภาพถ่าย "อภัย : ศานติชัยในพม่า" นำเสนอภาพถ่ายนักโทษในไทยและพม่าจำนวนหลายร้อยคน เพื่อเรียกร้องให้ชาวโลกเกิดความตื่นตัว และให้ความสนใจกับสถานการณ์อันเลวร้ายของเพื่อนนักโทษการเมืองของพวกเขา ซึ่งยังคงอยู่ในเรือนจำ อีกทั้งต้องการส่งเสียงเรียกร้องของอิสรภาพจากนานาชาติให้ปลดปล่อยคนกล้าที่พร้อมต่อสู้เพื่อประชาชน โดยทุกคนในภาพทั้งหมดถูกนำเสนอออกมาในท่ายืน ยกมือขวาขึ้นและหันฝ่ามือมาที่กล้อง ซึ่งบนฝ่ามือจะเขียนชื่อของนักโทษการเมือง เป็นเสมือนการส่งสัญญาณสื่อถึงศานติธรรมเลียนแบบท่าพระพุทธรูปปางประทานอภัย ที่เราพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ โดยจะมีภาพทั้งหมด 244 ภาพ จะอยู่ในหนังสือ Abhaya:Burma's Fearlessness จากสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊ค


เราจะลืมชื่อช่างภาพคนดังที่ถ่ายภาพที่เปี่ยมด้วยความหมายคนนี้ไม่ได้จริงๆ สำหรับ "เจมส์ แมคคาย" ช่างภาพผู้นำเสนอเรื่องราวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าและตลอดแนวชายแดน รวมถึงชาวพม่าพลัดถิ่นทั่วโลก ซึ่งผลงานของเขาได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ หนังสือ และได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ชั้นนำ นิตยสาร องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ นอกจากนี้ยังนำออกแสดงในแกลลอรี่หลายแห่งในลอนดอน นิวยอร์ก และวอชิงตัน ดี.ซี. โดยถือเป็นโอกาสพิเศษที่คนไทยจะได้มีโอกาสชมภาพถ่ายอันน่าทึ่ง เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของช่างภาพผู้นี้อย่างเต็มอิ่ม ทั้งภายในนิทรรศการที่กำลังจัดแสดงนี้ ที่เซรินเดีย แกลลอรี่ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 ธันวาคม.

 

 

โดย: ไทยรัฐออนไลน์ไลฟ์สไตล์

27 พฤศจิกายน 2554, 17:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/life/219393

 

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงความผิดพลาดของการจัดการน้ำในเขื่อน แต่วิธีวิเคราะห์ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์แบบหลักลอย ปราศจากบริบท ไม่มีการเปรียบเทียบปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นและลดลงในแต่ละเดือน ไม่มีการกล่าวถึงว่าในอดีตเขื่อนมีวัฏจักรการปล่อยและกักเก็บน้ำอย่างไร

เป้าหมายของบทความนี้คือเพื่อแสดงให้เห็นความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยตลอดสิบปีที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าความผิดปกตินี้เกิดในช่วงเวลาใด อนึ่ง ผู้เขียนจงใจใช้คำว่าความผิดปกติ ไม่ใช่ความผิดพลาด เพราะสาเหตุของความผิดปกติอาจเป็นได้ตั้งแต่สาเหตุธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความผิดพลาดโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับแผนภูมิด้านบนดี โดยเฉพาะเส้นสีแดง ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 (จาก http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/egat_graph1.php เพื่อความสะดวกในการจัดการ ผู้เขียนดึงมาเฉพาะข้อมูลรายเดือน) ส่วนเส้นประสีน้ำเงินคือปริมาณน้ำในเขื่อนเฉลี่ยของรอบสิบปี (ตั้งแต่ 2545 จนถึง 2554)

เส้นประสีน้ำเงินแสดงให้เห็นธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในเขื่อน เราสามารถแบ่งธรรมชาติของการจัดการน้ำในเขื่อนได้เป็นสามช่วง 1) ฤดูหนาวและฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน น้ำที่เหลือตกค้างจากฤดูฝนปีก่อน ลดลงไปจนถึงสิ้นสุดฤดูร้อน 2) ช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม แม้จะเริ่มมีฝนตกเหนือเขื่อน และมีน้ำไหลเข้า แต่ปริมาณน้ำยังจัดว่าน้อย เขื่อนในช่วงนี้จะพยายามรักษาระดับน้ำให้คงตัว ไม่เพิ่มหรือไม่ลดจากเดิม เพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับฤดูฝนตอนปลาย 3) ฤดูฝนตอนปลาย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน ฝนตกในปริมาณมาก ช่วงเวลานี้คือช่วงของการกักเก็บน้ำในเขื่อน เพื่อให้เหลือใช้ ผ่านฤดูหนาวและฤดูแล้งของปีถัดไปได้

จุดน่าสังเกตเกี่ยวกับเส้นสีแดงทึบ หรือปริมาณน้ำในปี 2554 คือ 


- ปี 2554 เริ่มต้นจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่น้อยเป็นประวัติการณ์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 2000 ล้านลบมม (และน้อยเกือบที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มากกว่าเพียงแค่ปี 2549 เท่านั้น) สาเหตุน่าจะเป็นเพราะความแห้งแล้งต่อเนื่องจากปี 2553 ในบริเวณพื้นภาคกลาง 


- แต่ภายหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนเริ่มอยู่ในระดับเท่าค่าเฉลี่ยสิบปี (เส้นสีแดงตัดกับเส้นประสีน้ำเงิน) จากนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินขีดจำกัดที่เขื่อนจะรับได้ (ประมาณ 13000 ล้านลบมม) และเป็นสาเหตุหนึ่งของอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่เราต้องเผชิญในปีนี้

กราฟที่ 2 คือความเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำในเขื่อน เฉพาะตั้งแต่เดือนเมษายน (ต้นฤดูฝน) จนถึงเดือนตุลาคม คำนวณจากนำปริมาณน้ำวันที่ 1 ของแต่ละเดือนลบปริมาณน้ำเดือนก่อน เช่น ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ลบด้วยปริมาณน้ำ วันที่ 1 มกราคม เช่นเดิม กราฟแท่งสีแดงคือความเปลี่ยนแปลงในปี 2554 และสีน้ำเงินคือค่าเฉลี่ยสิบปี ตัวเลขที่เป็นลบ หมายความว่าเฉพาะในเดือนนั้น ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง

สำหรับคนที่ไม่ถนัดดูกราฟ สามารถดูตัวเลขในตารางข้างล่างได้ (หน่วย ล้านลบมม) ตัวเลขสีม่วงจงใจแสดงให้เห็นเดือนที่ระดับน้ำลดลง

จะเห็นได้ว่า ยกเว้นเดือนกันยายน กราฟแท่งสีแดงสูงกว่าสีน้ำเงินหมด (และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงสุดทุกเดือนในรอบสิบปีที่ผ่านมา) กราฟแท่งและตารางด้านบนแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคม

กราฟที่ 3 คือปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงในปี 2554 ลบกับค่าเฉลี่ย แสดงให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน อะไรคือต้นเหตุที่มาของความผิดปกตินี้กันแน่ สมมติฐานหนึ่งคือสาเหตุทางธรรมชาติ ถ้าเราเอากราฟแสดงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมาเปรียบเทียบดู จะพบว่าปริมาณน้ำไหลเข้า (อันเป็นปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน หรือธรรมชาติล้วนๆ ) ในปี 2554 สูงกว่าแทบทุกปี ตรงตามรายงานของกรมอุตุฯ ว่าปริมาณฝนในปี 2554 สูงกว่าปรกติ

นอกจากนี้ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว (ในกราฟที่ 1) ต้นปี 2554 ปริมาณน้ำหลงเหลือในเขื่อนน้อยเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับช่วงต้นปี มีสัญญาณทางอุตุนิยมวิทยาหลายข้อที่บ่งชี้ว่าปีนี้ฝนจะแล้ง การจงใจกักเก็บน้ำตั้งแต่ต้นปี จึงอาจมาจากสาเหตุนี้ได้ แต่ปริมาณน้ำดังกล่าวปรับอยู่ในระดับเท่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ดังนั้นนี่จึงไม่น่าใช่คำอธิบาย เหตุใดการเพิ่มขึ้นของน้ำในเขื่อนถึงยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม จนถึงเดือนสิงหาคม

ประเด็นหลักๆ ที่ผู้เขียนอยากนำเสนอในบทความนี้คือ

1. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน แม้จะมีบทบาททำให้เกิดวิกฤติอุทกภัยปลายปี แต่เป็นความผิดพลาดที่เข้าใจได้ ภายใต้กรอบคำอธิบายว่า ต้นปี 2554 มีสัญญาณฝนแล้งจริง และปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่เหลือจากปี 2553 น้อยเป็นประวัติการณ์


2. เราไม่สามารถยกปริมาณน้ำในเขื่อนมาเปรียบเทียบอย่างไร้บริบท โดยไม่ดูว่าค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

จากตารางที่ 2 ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554 และกรกฎาคมรวมกันประมาณ 1610 ล้านลบมม อาจจะน้อยกว่าปริมาณน้ำในเดือนสิงหาคม (1940 ล้านลบมม) แต่ต้องไม่ลืมว่า ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ -55 ล้านลบมม) ถ้าเทียบความผิดปกติจากค่าเฉลี่ย ความผิดปกติในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมรวมกันเท่ากับ 1610 ล้านลบมม มากกว่าค่าความผิดปกติในเดือนสิงหาคม (1150 ล้านลบมม)



ลองวิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปว่าการที่ปริมาณการกักเก็บน้ำในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม มากกว่าค่าเฉลี่ย สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุธรรมชาติหรือไม่ 


ตารางสุดท้ายนี้เปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ระหว่างค่าเฉลี่ยสิบปี และในปี 2554 จะเห็นว่าตลอดทั้งสามเดือน ปริมาณน้ำไหลเข้าตามธรรมชาติมากกว่าค่าเฉลี่ยสองถึงสามเท่า ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าค่าเฉลี่ยรวมกัน 1040 ล้านลบมม ขณะที่ปริมาณการกักเก็บน้ำมากกว่าค่าปรกติอยู่ 1610 ล้านลบมม ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำไหลเข้าที่มากกว่าปรกติในเดือนสิงหาคมเท่ากับ 1650 ล้านลบมม ส่วนปริมาณการกักเก็บที่มากกว่าปรกติคือ 1150



ตัวเลขข้างบนนี้มาจากความแปรปรวนตามธรรมชาติ หรือความจงใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเอาศักยภาพการระบายน้ำในเขื่อนมาขบคิดวิเคราะห์ ซึ่งตัวเลขนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น ถ้าฝนตกปลายเดือน ย่อมมีโอกาสน้อยกว่าที่จะระบายน้ำออกจากเขื่อน (ในบทความhttp://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_06112011_01 มีการกล่าวถึงอัตราการระบายน้ำในเขื่อนอย่างคร่าวๆ ) การวิเคราะห์ดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตของบนความนี้ จึงขอทิ้งตารางที่ 2 และ 3 ไว้ในดุลพินิจของผู้อ่าน


3. ***แต่*** ผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าความผิดปกติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอุทกภัย เรากำลังพูดถึงความผิดปกติระดับ 3000 ล้านลบมม เทียบกับปริมาณน้ำเหนือทั้งหมด 13000 ล้านลบมม ที่ทยอยท่วมทับกรุงเทพ และหลายจังหวัดในภาคกลาง นักการเมืองบางคนออกมาพูดว่า หากเขื่อนพร่องน้ำได้สักครึ่งหนึ่ง เราจะไม่ต้องประสบปัญหานี้ แต่คำพูดนั้นเป็นเพียงการกล่าวหาอย่างละเมอเพ้อพก ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น ความรับผิดชอบของเขื่อนคือการปรับระดับน้ำให้พอดีค่าเฉลี่ย ไม่ใช่เตรียมพร้อมรับอนาคตที่เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น

บทสรุป

ปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพลในปี 2554 มากผิดปกติเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จริง และเป็นความผิดปกติที่เกิดตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคม การกักเก็บน้ำที่มากขึ้นนี้อาจเกิดจากมาตรการจัดการน้ำแล้งช่วงต้นปี 2554 กระนั้นก็ตาม ปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นจนถึงค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน แต่ภายหลังจากนั้น ก็ยังไม่มีการปล่อยน้ำอย่างเพียงพอ การพิจารณาความผิดปรกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ต้องกระทำไปพร้อมกับการพิจารณาบริบทอื่นๆ ได้แก่ การจัดการน้ำในอดีต และสภาพความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศในปี 2554 ข้อสังเกตสุดท้ายคือปริมาณน้ำที่เขื่อนสามารถชะลอได้นั้นอยู่ในหลัก 3000 ล้านลบมม ซึ่งเทียบแล้วเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำท่วมทั้งหมด

หมายเหตุจากทีมแอดมิน :

บทความข้างต้นนี้เป็นรายงานฉบับพิเศษที่เขียนขึ้นโดยหนึ่งในสมาชิกทีมแอดมิน ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลพร้อมเขียนบทวิเคราะห์ไว้น่าสนใจ

บทความนี้มีเป้าหมายพื่อแสดงให้เห็นความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 โดยอ้างอิงจาก "ตัวเลขค่าเฉลี่ย" ตลอดสิบปีที่ผ่านมา (เวลาเราจะบอกว่าสิ่งใดผิดปกติ เราต้องรู้ก่อนว่าระดับ "ปกติ" อยู่ตรงไหน) เพื่อชี้ให้เห็นในเชิงตัวเลขว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น "มาก" หรือ "น้อย" แค่ไหน และเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลา "ยาวนาน" เท่าใด แต่ไม่ได้มีเป้าหมายในการสรุปว่า "อะไร" คือสาเหตุของความผิดปกติ (ธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯลฯ)

สำหรับท่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถเข้าไปได้ที่ Facebook Page : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล หรือส่งอีเมล์มาได้ที่ admin (at) whereisthailand (dot) info

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สับบทบาทสื่อในสายน้ำ:วีนแตก-เหลิงอำนาจ?!




การ์ตูนโดย: Gag Las Vegas

12 11 54 ข่าวค่ำDNN คอลัมน์อัพเดท บทบาท สื่อ ในสายย้ำ เมื่อ สื่อกระแสหลัก วีนแตก เหลิงอำนาจ 
http://www.youtube.com/watch?v=fNmJ1dh3dVU&feature=player_embedded


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
13 พฤศจิกายน 2554

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดต เสนอรายงานข่าวคอลัมน์อัพเดตในตอน บทบาทสื่อในสายน้ำ เมื่อสื่อกระแสหลักวีนแตก-เหลิงอำนาจ?! โดยนำมาจากคอลัมน์แมลงวันในไร่ส้ม มติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุด หน้า 78 

ซึ่งรายงานตอนหนึ่งได้กล่าวถึงข้อเขียนเรื่อง"คานอำนาจสื่อ"ของ"ใบตองแห้ง" ในวาระครบรอบ 5 ปีไทยอีนิวส์( หมายเหตุไทยอีนิวส์:ในรายงานของเอเชียอัพเดตที่อ้างจากมติชนสุดสัปดาห์แจ้งว่าในโอกาสไทยอีนิวส์ครบ 4 ปีนั้นคลาดเคลื่อน ความจริงคือครบ 5 ปี)
ถามว่าทำไมสื่อจึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จากกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในสังคมประชาธิปไตย ไปเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ผมคิดว่าสื่อยึดติดในบทบาทและอำนาจของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าสื่อเคยชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ สังคมก็คล้อยตาม สื่อล้มรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ล้มทักษิณไม่ลง ทั้งที่สื่อรวมหัวกันชี้ว่ามันชั่วมันเลว คราวนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนชนบทกลับไม่ฟัง

สื่อไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาการของประชาธิปไตย ที่นโยบายพรรคไทยรักไทยทำให้มวลชนตระหนักว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งเปลี่ยน แปลงชีวิตพวกเขาได้ ไม่ใช่มวลชนไม่เข้าใจว่านักการเมืองทั้งหลายล้วนแสวงหาผลประโยชน์ แต่จะให้เขาเลือกใครระหว่างพรรคที่มีนโยบายสนองปากท้อง เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ กับพรรคที่ดีแต่พูด

แต่สื่อกลับมองว่าชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ ทักษิณจะผูกขาดอำนาจไปอีก 20 ปี ประเทศชาติจะหายนะ สื่อไม่อดทนรอการพัฒนาไปตามลำดับของมวลชน คิดแต่ว่าสังคมจะต้องเดินตามที่พวกตนชี้

พูดอีกอย่างก็พูดได้ว่าสื่อ "เหลิงอำนาจ" เคยตัวกับบทบาทชี้นำสังคม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้เป็นไปตามตำรานิเทศศาสตร์ สื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แยกข่าวจากความคิดเห็นเหมือนสื่อฝรั่ง แต่สื่อไทยสอดแทรกการชี้นำเข้าไปในข่าว ใช้พาดหัวข่าวเป็นที่ประกาศวาทะกรรม แสดงการสนับสนุน ต่อต้าน รัก ชอบ เกลียด ชัง หรือถ้าเป็นสื่อทีวี ก็เรียกว่า "สื่อมีหาง(เสียง)"

แต่ที่ผ่านมามันเป็นการต่อสู้เผด็จการ หรือขับไล่นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นในช่วงที่ประชาธิปไตยยังอ่อนแอ สังคมไทยจึงยอมรับบทบาท (และอิทธิพล) ของสื่อ (รวมทั้งอภิสิทธิ์ของสื่อ) กระนั้นเมื่อประชาธิปไตยเติบโตขึ้น เป็นสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ก็ไม่ยอมรับการชี้นำของสื่ออีกต่อไป

สื่อไทยเลย "วีนแตก" หน้ามืดตามัวเพื่อเอาชนะ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เป็นผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง ขาวสะอาด มีเกียรติมีศักดิ์ศรี สมควรที่จะยกไว้ในที่สูงเพื่อชี้นิ้วด่ากราดนักการเมือง

เห็นได้ง่ายๆ จากวิกฤติน้ำท่วมคราวนี้ ที่สื่อแปลงมาเป็นอาวุธโค่นรัฐบาล จนเห็นชัดเจนว่าเป็นการจ้องจับผิด มากกว่าวิจารณ์ตามเนื้อผ้า แม้ข้อวิจารณ์หลายส่วนเป็นจริง (รัฐบาลทำงานห่วยจริงๆ) แต่ก็ขยายปมจนเห็นเจตนา

สงครามสื่อต้องดำเนินต่อไป เพราะความต้องการคงอิทธิพล "อำนาจพิเศษ" ของสื่อกระแสหลัก กลายเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย พลังประชาธิปไตยจะเติบโตได้ต้องทำลายอิทธิพลของสื่อกระแสหลักลง ถ่วงดุล คานอำนาจ ด้วยการสร้างสื่อที่หลากหลาย ทั้งเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม หรือสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นตัวแทนความคิดของประชาชนที่แตกต่าง ดิสเครดิตสื่อกระแสหลักด้วยการเปิดโปงพฤติกรรมอย่างที่ไทยอีนิวส์ทำ

http://thaienews.blogspot.com/2011/11/blog-post_1531.html

http://www.youtube.com/watch?v=en9Dn4Lbuyc&feature=share

12 11 54 ข่าวค่ำDNN คอลัมน์อัพเดท บทบาท สื่อ ในสายย้ำ เมื่อ สื่อกระแสหลัก วีนแตก เหลิงอำนาจ 

http://www.youtube.com/watch?v=fNmJ1dh3dVU&feature=player_embedded


วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"พักพิง-พักใจ" เติมพลังให้กัน

 วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7643 ข่าวสดรายวัน


"พักพิง-พักใจ" เติมพลังให้กัน





หลังจากวิกฤตมวลน้ำก้อนใหญ่ทยอยไหลเข้าท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร เป็นผลทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน เพื่อมาตั้งหลักในพื้นที่ปลอดภัย ก่อนจะวางแผนชีวิตในอนาคตกันต่อไป 

ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้อยใหญ่ตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วน บางแห่งมีปริมาณที่พักไม่เพียงพอกับผู้พักอาศัย เจ้าหน้าที่ต้องเร่งกระจายความช่วยเหลือเพื่อหาที่พักพิงให้ผู้ประสบภัย

ขณะเดียวกัน การอยู่อาศัยภายในศูนย์พักพิง ต้องจัดระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มจิตอาสาที่คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ และบรรเทาความตึงเครียดให้ผู้ประสบภัย

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในทุกช่วงวัน เสียงดนตรีสำหรับผ่อนคลาย มัก ดังขึ้นพร้อมกับเสียงร้องงอแงของเด็กอ่อน ที่เป็นไปตามวัยทั้งจากการ ง่วงนอน หิวนม หรืออื่นๆ ด้วยความเป็นแม่จึงจำเป็นต้องจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยความเกรงอกเกรงใจคนรอบข้าง ส่วนเด็กวัยซนที่โตขึ้นมาหน่อย จะมีก็แค่กระทบกระทั่งกันเองในกลุ่มเพื่อนใหม่วัยเดียวกัน สักครู่ก็กลับมาเล่นด้วยกันใหม่ตามธรรมชาติของเด็กที่โกรธกันได้ไม่นาน

ที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒะ จังหวัดนนทบุรี ด.ญ.ณัฐนิชา นาคจู วัย 5 ขวบ นักเรียนชั้นป.1 ที่อพยพมาจากย่านประตูน้ำพระอินทร์ อ.วังน้อย จ.พระนคร ศรีอยุธยา มาพักพิงพร้อมกับครอบครัว เล่าว่า ได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายคน ได้เล่นกันทั้งวันจนไม่อยากกลับบ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้บ้านจะยังอยู่ที่เดิมอีกหรือเปล่า 

"อาหารที่นี่อร่อยมาก บางอย่างไม่เคยกินที่บ้านมาก่อนเลย" ด.ญ.ณัฐนิชากล่าว 

ด้านนางวิชุดา ปิลาผล ผู้ประสบภัยจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เดินทางมาพร้อมกับด.ญ.กษิรา ลูกสาววัย 2 ขวบ เล่าว่า "มาอยู่ที่ศูนย์พักพิงฯ ได้รับความสะดวกสบายเท่าเทียมกับผู้อื่นทุกคน จะมีก็แต่ปัญหาการแพ้นมวัวของลูก ซึ่งก่อนหน้านี้จะชงนมแพะผงให้ลูกดื่มเป็นประจำ แต่เมื่อน้ำท่วมทำให้หาซื้อยาก และทางศูนย์พักพิงฯ และหน่วยแพทย์สนามก็ไม่มีนมชนิดนี้ ทำให้รู้สึกกังวลมาก ทุกๆ ครั้งที่ลูกหิวนมมักจะเอานมถั่วเหลืองให้ดื่มแทนเสมอ แต่ลูกก็ดื่มได้ไม่มาก" 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ คือการปรับตัวเข้ากับสังคมและอยู่ในขอบเขตของกฎระเบียบของสถานที่นั้นๆ เพราะผู้คนที่มาอยู่อาศัยร่วมกันต่างมีพื้นฐานการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้การดำรงชีวิตในกิจวัตรประจำวันอาจต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่หมด เพื่อง่ายต่อการดูแลของเจ้าหน้าที่ 

นางอิศริยาภรณ์ รังสิคุต อายุ 56 ปี ชาวหมู่บ้านปาริชาต เล่าว่า ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปาริชาตกับสามี ซึ่งรับไม่ได้จริงๆ กับการที่ต้องมาอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพกับคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคน แรกๆ ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ตอนนี้ได้ทำกิจกรรม ได้พูดคุยกับคนอื่นที่ เดือดร้อนเหมือนกันทำให้รู้สึกดีขึ้นมาก เจ้าหน้าที่เองก็มาดูแลแนะนำให้ทำกิจกรรมคลายเครียดอยู่ตลอด จากที่หุงข้าวทำกับข้าวไม่เป็นตอนนี้ทำเป็นหมดแล้ว เพราะได้ช่วยคนที่เป็นแม่ครัว หรือคนที่มาทำอาหารบริจาค คือจะรู้สึกไม่ดีกับการที่มาเป็นผู้พักพิงที่ไม่ทำอะไรเลย นั่งๆ นอนๆ ในขณะที่ผู้พักพิงคนอื่นตื่นแต่เช้ามาช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ 

"เสียใจที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ แต่ไม่เสียใจเลยที่ต้องมาอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในศูนย์พักพิงฯ เพราะนอกจากจะได้มิตรภาพใหม่ๆ แล้ว ยังได้รู้มุมมองของคนในหลายๆ ด้าน ได้แบ่งปันประสบการณ์ของกันและกัน รวมถึงได้ฝึกอาชีพด้วย ครั้งนี้ตั้งใจไว้แล้วว่าเมื่อน้ำลดจะนำอาชีพที่ได้ฝึกไปสร้างรายได้เพิ่มเติม และสอนคนอื่นต่อด้วย

ถ้าไม่ได้มาอยู่ที่นี่ก็จะไม่รู้เลยว่าเรายังโชคดีกว่าคนอื่นอีกมาก คนรวยคนจนเมื่อถึงที่สุดแล้วก็ต้องมาอยู่จุดเดียวกัน ซึ่งไม่ต่างอะไรกันเลย ขอเพียงเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ" นางอิศริยาภรณ์กล่าว


หน้า 25