ขอบคุณคณะกรรมการสมาคมสายใยครอบครัวและจิตอาสาพัฒนาผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตสังคมที่ให้ ดร. ป๊อป เป็นวิทยากร 13-15 เม.ย. 54 ณ บางกอก กอล์ฟ สปา รีสอร์ท จ. นนทบุรี
ผู้สนใจติดตามรายละเอียดของสมาคมสายใยครอบครัว ได้ที่http://www.thaifamilylink.net/ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานจิตอาสาที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตสังคม และกำลังมีเส้นทางแห่งการเรียนรู้กรอบความคิดสากลที่สำคัญในการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต เพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรแห่งการเรียนรู้และช่วยเหลือสังคมไทยด้านการพัฒนาทักษะชีวิตจิตสังคม
ผมขอสกัดแนวคิดเชิงกว้างถึงเชิงลึกของผู้เข้าสัมมนาในครั้งนี้คือ รู้เรา รู้เขา และรู้จักสร้างสรรค์งานระหว่างเราและเขาเพื่อสังคมไทย
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้พัฒนาทักษะความสามารถในการจัดกลุ่มกิจกรรมแบบพลวัติที่หลากหลายและสอดแทรกแนวคิด "Recovery Model (การฟื้นสภาพ)" ด้วย จึงสรุปเทคนิค/กระบวนการที่ทุกท่านน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในโปรแกรม/โครงการต่างๆ ของสมาคมสายใยฯ
•ต้องไม่มีกฎข้อบังคับ เงื่อนไข จากผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมทำกิจกรรม
•ต้องมีความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมที่มีความหมายต่อผู้คิด ผู้ทำ และ ผู้สังเกตการณ์ภายในกลุ่มโดยพิจารณา Attitude, Values, Feeling, Goals, Skills, และ Roles
•ต้องมีการสื่อสารที่สร้างพลังบวกแก่สมาชิกภายในกลุ่ม โดยเน้น Meaningful Life
•ต้องสังเกต ทบทวนความคิดไปข้างหน้าว่า ทุกกระบวนการของการทำกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ เราได้เรียนรู้อะไรเพื่อทำให้ชีวิตมีพลัง
•คิดย้อนกลับไปในการกระทำกิจกรรมที่ผ่านมาจากขั้นตอนสุดท้ายสู่ขั้นตอนแรก พร้อมปล่อยวาง Clear Mind อย่าใช้ความจำอย่างเดียว แต่ฝึกใช้ความคิดบวกจากภายในจิตใจ
เมื่อผ่านการจัดกลุ่มกิจกรรมแบบพลวัติในเป้าหมาย "ให้รู้จักตัวเราและรู้จักผู้อื่นด้วยความคิดที่ลุ่มลึก" ดร.ป๊อป ก็เปรียบเทียบข้อมูลคะแนนจากแบบสอบถามความรู้เรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคม ก่อนและหลังสัมมนา 2 วัน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงความคิดในเชิงกว้างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -1.13, df = 30, p = 0.27) แต่เมื่อพิจารณาคะแนนรายบุคคล (จากสเกลเห็นด้วยน้อยไปมาก หรือ 0-5 คะแนน) พบว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนา 58.33% มีความคิดเห็นด้วยกับความรู้เรื่อง การฟื้นฟูฯ มากขึ้น และผู้เข้าร่วมสัมมนา 22.22% มีความคิดเห็นด้วยน้อยลง ซึ่งไม่ว่า
จะเห็นด้วยมากขึ้นหรือน้อยลงนั้นไม่มีถูกหรือผิด ถือเป็นเพียงความคิดที่เมื่อเข้าใจ "พลังชีวิตของตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น" ก็น่าจะมีความคิดที่ยืดหยุ่นและไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นด้วยกับความรู้ดังกล่าวมากนัก เพราะความรู้ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงในประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ดังนั้นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 36 ท่าน (ข้อมูลไม่ครบ 5 ท่าน) ก็สามารถค้นหากลุ่มผู้ที่คิดเห็นด้วยน้อยลงไม่เกิน +/-SD (=9.59~10) จำนวน 5 ท่าน มาเป็นผู้พัฒนาโปรแกรม และกลุ่มผู้ที่คิดเห็นด้วยมากขึ้นไม่เกิน +/-SD (=9.59~10) จำนวน 5 ท่าน มาเป็นคณะกรรมการสอบถามรายละเอียดของโปรแกรมและพิจารณาองค์ประกอบเนื้อหาของโปรแกรมว่า มีความสอดคล้องและความต่อเนื่องในกระบวนการเรียนรู้สานพลังชีวิตแบบ Recovery Model หรือไม่อย่างไร (สเกล 0-10 คะแนน ในแต่ละองค์ประกอบ คือ Hope, Secure Base, Self & Coping Strategies (via self-managment/self-help programs), Supportive Relationships, Emplowerment & Inclusion (via Self-determination) ในทุกระดับของผู้รับบริการ [อ่านเพิ่มเติมที่http://en.wikipedia.org/wiki/Recovery_model]
โปรแกรมหนึ่งๆ ควรสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจ ความเคารพให้เกียรติกัน ความสามารถตามศักยภาพ ความหวัง ความมีจิตสำนึกที่มีชีวิตชีวา ความมีโอกาสเลือก และความดีงาม โดยผ่านกระบวนการพัฒนาโปรแกรมจากภาพวงกลมข้างบนและการถอดบนเรียนจากการสัมมนา ได้แก่
1. ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ในลักษณะ Needs Assessment, Focus group, Knowledge sharing/Successful story telling, Modelling (สร้างกรอบความคิดบนฐานความรู้ความเข้าใจเพื่อการปฏิบัติภายในกลุ่มสมาชิก ที่ต่อยอดจากโมเดลหลักใดๆ เช่น Recovey Model, Clubhouse Model, Advocacy Model, Lifeskills Model เป็นต้น ภายใต้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความต้องการและการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของโปรแกรมที่มีอยู่แล้วระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ)
2. วัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างใคร่ครวญภายในสมาชิกสมาคมสายใยฯ ได้ผสมผสาน ผนึกกำลังระหว่างกลุ่มคนที่คิดเห็นสอดคล้องหรือแตกต่างกัน แต่มีความสามารถและความสุขตามศักยภาพในการปรับตัวเองด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครที่ชี้นำใครมากเกินไป แต่ภาวะผู้นำนั้นอยู่ในใจของแต่ละบุคคล
3. มีการจัดการอารมณ์และการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่มีอุปสรรค (ขั้นตอนในการทำกิจกรรมที่ไม่ชัดเจน อุปกรณ์ที่จำกัด เพื่อนร่วมทีมคิดมากกว่าทำ) ทำให้ต้องวางแผนและจัดการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติและยืดหยุ่น มีการประสานงาน มีการเรียนรู้จุดแข็งของสมาชิกแต่ละท่าน มีการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมและประเมินผลได้จากความสำเร็จที่ค่อยๆ คลายอุปสรรคสู่ความท้าทายและความมีชีวิตชีวา
อย่างไรก็ตาม การทำงานจิตอาสาร่วมกับสมาชิกที่มีความคิดแตกต่างกันย่อมมีอุปสรรคจนเกิดความเหนื่อยล้า ดังนั้น "การหยุดพักชั่วครู่เพื่อทบทวนตนเองจากความรู้สึก ความเชื่อ และความคิดที่หลากหลายสู่ทักษะความเป็นผู้นำในจิตใจของตนเองและใส่ใจในผู้อื่นอย่างแท้จริง ก็น่าจะมีเส้นทางใหม่ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียวคือ ความสุขความสำเร็จของผู้อื่นและตนเองภายหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดๆ ตามที่ปรากฎในวงกลมรอบนอกสุดข้างบน"
จากโปรแกรมที่มีอยู่ของสมาคมสายใยฯ จะเห็นความคิดที่ลุ่มลึกทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้สามารถประเมินโปรแกรมต่างๆ ว่าครบองค์ประกอบของ Recovery Model จากมากสุด (โครงการหลักสูตรทักษะชีวิตและโครงการสามประสาน) มาก (โครงการเจ้าสัวฯ) พอใช้ (โครงการศิลปะเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพจิต) และน้อย (โครงการ Clubhouse)
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้พิจารณาข้อดีของโปรแกรมฯ เพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และพิจารณาข้อเสียของโปรแกรมฯ เพื่อหาแนวทางการปรับปรุง ที่สำคัญโปรแกรมอาจมีมากมาย แต่เป้าหมายที่ทำโปรแกรมด้วยความรัก ความเข้าใจ ความสอดคล้องกัน ก็ควรเน้นความมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกท่านให้รู้สึกเป็นเจ้าของบ้านสมาคมสายใยฯ และพัฒนาความสุขตามความเป็นจริงจากค่อยๆ พัฒนาคุณภาพของจิตอาสา คุณภาพของกระบวนการฟื้นฟูฯ (ประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของโปรแกรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการรวมพลังของผู้ที่เกี่ยวข้อง) และคุณภาพของการเตรียมความพร้อมของผู้รับบริการสู่การประกอบอาชีพได้ตามความต้องการที่แท้จริง
สังเกตว่าโครงการ Clubhouse ค่อนข้างต้องศึกษาความเป็นไปได้ของทรัพยากรบุคคลและกระบวนการบริหารจัดการโดยอาจค้นคว้าจากเครือข่าย International Center for Clubhouse Development (ICCD) เพิ่มเติม แม้ว่าจะนำความรู้ทาง Recovery Model มาประยุกต์สู่การจัดตั้ง Clubhouse แต่การพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่ข้างต้น รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลน่าจะเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในสุขภาวะของสมาคมสายใยฯ ณ ปัจจุบัน
ดร.ป๊อป ขอสรุปหลักสูตรที่สอดคล้องกันอย่างต่อเนื่องในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมด้วย Recovey Model ซึ่งถ้าผู้รับบริการมีระดับความคิดที่บกพร่องมาก ก็มีระบบส่งต่อการบำบัดฟื้นฟูความรู้ความเข้าใจ หรือ Cognitive Rehabilitation กับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกิจกรรมบำบัด หรือสหวิชาชีพอื่นๆ ได้ ดังแผนภาพข้างล่างนี้
โดยสรุป คือ ผู้รับบริการทุกระดับใดๆ หนึ่งท่าน เมื่อเข้ามาที่สมาคมสายใยฯ ก็น่าจะมีการให้คำปรึกษาเบื้องต้นถึงลำดับโปรแกรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสุขภาพจิตสังคมของแต่ละบุคคลและที่มีความเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เช่น เลือกเรียนหลักสูตรทักษะชีวิตเบื้องต้นที่เน้นการจัดการความคิดสู่การดูแลตนเองได้ นาน 1 เดือนๆ ละ 3 วันๆ ละ 3 ชม. จากนั้นก็เลือกเรียนการทบทวนตนเองให้มีความหวัง มีการเยียวยา มีการสร้างพลังชีวิตกับผู้อื่น และมีการสื่อสารกับผู้อื่นในระดับการบำบัดด้วยกิจกรรม (Activities Therapy) นาน 1 เดือน พร้อมๆ กับหลักสูตรทักษะชีวิต แต่จัดคนละวันอีก 5 วันๆ ละ 3 ชม. เมื่อผลการประเมินทักษะชีวิต (ความสามารถในการนำความรู้ไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง) การประเมินกระบวนการคิดของแต่ละบุคคลที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของแต่ละโปรแกรมการบำบัดด้วยกิจกรรม และความคิดเห็นจากสหวิชาชีพทางการแพทย์ ก็เข้าสู่โปรแกรมต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ นาน 1-2 เดือน ทั้งในสิ่งแวดล้อมจำลองและจริง วันละ 6 ชม. เป็นต้น
สิ่งที่สมาชิกสมาคมสายใยฯ ควรดำเนินการต่อไปต่อจากนี้ หลังจากที่ ดร. ป๊อป ได้สังเกตกระบวนการคิดของผู้เข้าสัมมนาในครั้งนี้ คือ
1. ประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของโปรแกรมที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
2. พัฒนากระบวนการเข้าสู่โปรแกรมต่างๆ ให้มีความต่อเนื่องกัน เช่น มีการสร้างความหวัง (Hope) สู่การระดมความคิดให้เกิดพลังชีวิต (Empowerment) เพื่อสร้างสรรค์ผลสัมฤทธิ์ใดๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน (Goal) คือ ความสุขความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่องทางจิตสังคมในการประกอบอาชีพอย่างอิสระ (Independence Employment)
3. อ้างอิงหลักการและกรอบความคิดสากลของ Recovery Model เพื่อให้สมาชิกทุกท่านทบทวนตนเองให้เข้าใจตนเอง ผู้อื่น และการทำงานร่วมกันมากขึ้น
4. ศึกษา วิจัย และพัฒนา รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การบำบัดด้วยกิจกรรม ศูนย์นันทนาการ ศูนย์การเรียนรู้ ในรูปแบบ Clubhouse Model โดยปรึกษาและขยายเครือข่ายวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสุขภาพจิตมากขึ้น
5. ประเมินศักยภาพของทีมงานจิตอาสาเพื่อจัดสรรระดับของการทำงานจิตอาสาแบบประจำ แบบชั่วคราว แบบสนับสนุนหารายได้ แบบสหวิชาชีพทางการแพทย์ แบบประสานงานหน่วยงานอื่นๆ เพื่อฝึกประกอบอาชีพจริงจัง
6. มีกระบวนการทำงานระหว่างโปรแกรมฯ ที่จำเป็น ไม่ซ้ำซ้อนกัน และมีความสำคัญต่ในระยะยาวแก่สมาคมสายใยฯ เช่น งานประชาสัมพันธ์ งานพัฒนาคุณภาพของการให้บริการ งานพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น