วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดร.ปริญญา เปิดจุดอ่อนระบบรัฐสภาไทย ปชช. ไม่ได้เลือกนายกฯ เอง

 


ดร.ปริญญา เปิดจุดอ่อนระบบรัฐสภาไทย ปชช. ไม่ได้เลือกนายกฯ เอง


 

อ.นิติศาสตร์ มธ.  เชื่อเลือก "นายกฯ โดยตรง" ทำได้ ภายใต้การมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยต้องกำหนดอำนาจไม่ให้นายกฯ ยุบสภา ขณะที่การบังคับสังกัดพรรคก็ไม่ได้แก้ปัญหา ส.ส.ขายตัว ถาม ดีจริง  ทำไมทั่วโลกยกเลิกไปหมดแล้ว

 

วันที่ 18 มิถุนายน พลเมืองอภิวัฒน์ คนเปลี่ยน ประเทศไทยเปลี่ยน จัดกิจกรรม  20 คมความคิด 20 ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทย โดยมี ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ"รัฐธรรมนูญไทย แก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือ" ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ดร.ปริญญา กล่าวถึงเหตุที่ประชาธิปไตยไทยไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการที่ประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศ ยังขาดความสามารถในการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งระบอบนี้ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศ

"การเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่ 27 มิถุนายน  2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนชาวไทยได้กลายเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด โดยพระมหากษัตริย์ที่เป็นเจ้าของประเทศเดิมมอบให้ เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของประเทศก็ต้องปกครองตัวเอง"

สถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว คนไทยมีความขัดแย้งกันทางการเมือง มีสถานที่สำคัญถูกเผา และมีคนตายไป 91 ศพนั้นดร.ปริญญา กล่าวว่า ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใดก็ตาม ล้วนเป็นคนไทย และคนที่ทำให้ตายก็เป็นคนไทยทั้งสิ้น โดยความล้มเหลวทั้งหมดนี้ของประชาธิปไตยไทย ในเบื้องต้นเกิดจากทั้ง "ระบบ" และ "คน" หากระบบไม่ดี แต่คนมีความสามารถก็เดินหน้าไปได้ แต่หากระบบดี แต่คนมีปัญหาก็อาจไปได้ ทั้งสองอย่างจึงต้องสัมพันธ์กัน

"เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในไทย เราผ่านการนองเลือด 4 ครั้ง รัฐประหาร 12 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ เราเพียงพอหรือยัง จะมีการฆ่ากันอีกเป็นครั้งที่ 5 หรือไม่ ทำไมเราถึงอยู่ร่วมกันไม่ได้ โดยส่วนตัว แม้ผมอยู่ในฐานะนักกฎหมาย แต่คิดว่า"คน" สำคัญกว่า "ระบบ" เพราะต่อให้มีระบบดีแค่ไหน หากคนไม่ใช่ก็ไม่มีประโยชน์ เราจึงจำเป็นต้องมีกฎกติกาบางอย่างที่ต้องอยู่ร่วมกัน"

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องใช้หลักนิติรัฐ หรือการปกครองโดยกฎหมาย เหมือนการแข่งกีฬาที่ไม่ว่าจะมีการขัดแย้งหรือแข่งขัน ก็ต้องอยู่ภายใต้กติกา "ประชาธิปไตย" ไม่ใช่การขอร้องให้นักการเมืองเป็นคนดี หรือให้รัฐบาลไม่คอรัปชั่น แต่คือการวางระบบไม่ให้คอรัปชั่น เพราะคนออก คนใช้และคนตรวจสอบมี 3 ด้าน 3 อำนาจ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ

"ระบบรัฐสภาของประเทศไทย มีจุดอ่อน คือ เราเลือก ส.ส. อย่างเดียว ไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรี และการที่ได้เป็นนายกฯ ย่อมมาจากเสียงข้างมากของสภาฯ จึงไม่เกิดการถ่วงดุลกัน นับเป็นจุดอ่อนของระบบ ที่หากเปรียบเทียบกับระบบประธานาธิบดี ที่ประชาชนสามารถเลือกได้ทั้ง ส.ส. และ ประธานาธิบดี ทั้งนี้การลงมติไม่ไว้วางใจ ก็มีพรรคการเมืองเป็นสะพานเชื่อมให้ 2 อำนาจนี้เป็นอำนาจเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมาก การตรวจสอบถ่วงดุลก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อย ฉะนั้น ยกมือกี่ครั้งก็แพ้" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าว และว่า ปัญหาของรัฐบาลผสม คือ การเกิดระบบโควตา พรรคหลักมีอำนาจต่อรองการได้เก้าอี้ เป็นการแบ่งประโยชน์ แบ่งเค้ก ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลไม่เข้มแข็ง ซึ่งประเทศเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี เคยผ่านปัญหาเหล่านี้มาแล้ว วิธีการแก้ คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ ให้อำนาจถ่วงดุลกันและสร้างระบบให้ดีพอ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง สำหรับบ้านเรามักมีเสียงคัดค้านว่า ทำไม่ได้ ด้วยเพราะมองว่า ไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต่างกับสหรัฐฯ ที่มีระบบประธานาธิบดีเป็นทั้งผู้บริหารประเทศและเป็นประมุขของประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับระบบรัฐสภาไทย นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารอย่างเดียว ไม่ได้เป็นประมุขของประเทศ

"การเลือกนายกฯ โดยตรง ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ ภายใต้การมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประมุข เรียกว่า "ระบบกึ่งรัฐสภา" ซึ่งอิสราเอลเคยทำมาแล้ว เมื่อปี 2548 แต่ล้มเหลวเพราะให้อำนาจนายกฯ เราจึงต้องกำหนดอำนาจไม่ให้นายกฯ ยุบสภาได้ ผมคิดว่าระหว่างให้ประชาชนเลือก กับให้ ส.ส. เลือกนายกฯ ประชาชนไม่มีทางเลือกแย่กว่า ส.ส. อย่างร้ายก็เท่ากัน"

สำหรับการตั้งองค์กรอิสระในบ้านเรา  ดร.ปริญญา กล่าว ว่า อิสระไม่จริง การนำฝ่ายตุลาการศาลมาเป็นกรรมการสรรหาโหวตเลือก ส.ว. เหมือนให้กรรมการตัดสินฟุตบอลมาเลือกตัวผู้เล่นฟุตบอล ต่อให้ตัดสินอย่างเที่ยงธรรม แต่คนดูก็เริ่มไม่เชื่อถือ ดังนั้น กรรมการตัดสิน ไม่ควรมาเลือกตัวผู้เล่นฟุตบอล จะเกิดความเสียหายกับประชาธิปไตยในระยะยาว ซึ่งศาลควรจะกลับไปเป็นผู้ควบคุมให้เล่นตามกติกามากกว่า ส่วนผู้แทนของประชาชนก็จะทำเพื่อประโยชน์ของพรรค ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง ไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็เหมือนกันหมด ดังนั้น วิธีการแก้ คือ ต้องไม่บังคับ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า การบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองเพราะกลัว ส.ส. ขายตัว ที่ผ่านมาก็ยังเห็นมีการซื้อ ขายกันอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบจากก่อนเลือกตั้ง เป็นซื้อหลังเลือกตั้ง จึงเห็นได้ว่า การบังคับสังกัดพรรคไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับทำให้การโหวตยกมือในสภาเป็นไปเพื่อพรรคการเมือง ไมใช่เพื่อปวงชน ซึ่งผิดหลักประชาธิปไตย และหากการบังคับสังกัดพรรค เป็นของดี ถามว่า ทำไมทั่วโลกยกเลิกไปหมดแล้ว การแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องสร้างหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังไม่เป็นจริง ทำให้พรรคการเมืองตกเป็นของหัวหน้าพรรค

กรณีมีการกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลังเลือกตั้งนั้น อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า  เพราะเราไม่เคารพกติกา และไม่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน บุคคลจะใช้สิทธิของตนเองได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น การชุมนุมที่ทุกสีไปยึดนั่นปิดนี่ ต้องคำนึงว่า ประเทศไม่ได้เป็นของเราคนเดียว การที่ประชาธิปไตยเป็นแบบนี้อยู่ที่ตัวเราเองทั้งสิ้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมให้สินบน แม้จะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ ถ้าเราทุกคนไม่เปลี่ยนก็เหมือนเดิม

"ประเทศไทยของเราขณะนี้ อยู่ในจุดที่เป็นทางแยก คือ เป็นทั้งโอกาสและวิกฤติ เราอาจจะทะเลาะกันจนสิ้นชาติ สุดท้ายประเทศไทยก็ไปไม่รอด แต่ถ้าเราตื่นรู้ ช่วยกันแก้ เริ่มจากที่ตัวเราเอง ให้เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เราก็จะเปลี่ยนประเทศไทยได้แน่นอน"

http://www.thaireform.in.th/index.php?option=com_flexicontent&view=items&id=6008:2011-06-19-05-45-11


 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น